
หลายคนคงอาจได้ยินข้อมูลที่เผยแพร่กันทั่วไปว่า ระดับคอเลสเตอรอลสูงนั้น อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ บทความนี้จะนำคุณมาทำความเข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่าง คอเลสเตอรอลกับโรคหัวใจ ว่าคอเลสเตอรอลส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจอย่างไร รวมทั้งข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ควรรู้เกี่ยวกับคอเลสเตอรอลกับโรคหัวใจ
คอเลสเตอรอลคืออะไร
คอเลสเตอรอลเป็นสารคล้ายไขมัน ที่ช่วยให้ร่างกายสร้างเซลล์และฮอร์โมนใหม่ๆ รวมถึงช่วยสร้างปลอกประสาท ส่วนใหญ่แล้ว คอเลสเตอรอลในร่างกายถูกสร้างจากตับ อย่างไรก็ตาม การกินอาหารอย่างเช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์อื่นๆ ก็อาจทำให้มี คอเลสเตอรอลสูง เกินไปได้เช่นกัน
คอเลสเตอรอลจะเดินทางผ่านกระแสเลือดในสารลิโพโปรตีนความหนาแน่นต่ำ (LDL) หรือที่รู้จักกันในชื่อของไขมันเลว ซึ่งมีความสามารถในการเกาะผนังหลอดเลือด นำมาสู่อาการหลอดเลือดอุดตัน และยังพบได้ในสารลิโพโปรตีนความหนาแน่นสูง (HDL) ซึ่งถูกยกให้เป็นไขมันดี เพราะมีความสามารถในการกำจัดคอเลสเตอรอลออกจากเลือด
ถ้าร่างกายมีระดับคอเลสเตอรอลสูงเกินไป ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจสูงมากขึ้น
คอเลสเตอรอลกับโรคหัวใจ เกี่ยวข้องกันอย่างไร
เมื่อมีคอเลสเตอรอลอยู่ในเลือดเยอะเกินไป จำนวนของคอเลสเตอรอลในผนังหลอดเลือดก็จะเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจชนิดหนึ่งที่ชื่อว่าโรคหลอดเลือดแดงแข็ง หลอดเลือดจะแคบลง ทำให้การไหลเวียนเลือดช้าลง และบางครั้งก็เกิดการอุดกั้นจนเลือดไม่อาจไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ
เนื่องจากเลือดมีหน้าที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงหัวใจ การที่หัวใจได้รับเลือดและออกซิเจนไม่เพียงพอ จึงเป็นสาเหตุของการเจ็บหน้าอก หรือหนักกว่านั้นก็อาจถึงขั้นหัวใจวายเมื่อหลอดเลือดอุดตันจนหัวใจเกิดภาวะขาดเลือด ดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จึงเห็นได้ชัดเจนว่าสาเหตุของหลอดเลือดอุดตันนั้น มีไขมันเลว LDL เป็นตัวการใหญ่
ไตรกลีเซอไรด์ก็เป็นไขมันอีกหนึ่งชนิดในกระแสเลือด ที่เชื่อกันว่าเมื่อมีเยอะมากเกินไป ก็อาจทำให้เป็นโรคหัวใจได้เช่นกัน
อาหารชนิดไหนบ้างที่มีคอเลสเตอรอล
ไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัว
ไขมันทรานส์สามารถเพิ่มให้จำนวนไขมันเลว LDL สูงมากขึ้น และทำให้ไขมันดี HDL ลดน้อยลง เพราะฉะนั้น นอกจากไขมันทรานส์จะไม่มีคุณค่าทางอาหารแล้ว กลับยังเพิ่มโอกาสที่ทำให้เป็นโรคหัวใจได้มากขึ้นอีกด้วย
ไขมันทรานส์ถูกพบได้ในอาหารแปรรูปหลายชนิด เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงไขมันทรานส์ จึงควรงดทานอาหารที่ระบุว่ามี PHOs ซึ่งหมายถึงน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ไขมันทรานส์ปริมาณสูง หรืออาหารที่มีป้ายแปะว่ามีไขมันทรานส์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพบไขมันเลว LDL ได้ในไขมันอิ่มตัว ซึ่งควรรับประทานแต่เพียงน้อย ตัวอย่างอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว มีดังต่อไปนี้
- ขนมหวาน
- ขนมพาย
- ของทอด
- เนื้อแดง
- เนื้อสัตว์ที่ผ่านการแปรรูป
- เนื้อติดมัน
- น้ำมันปาล์มและน้ำมันมะพร้าว
- ผลิตภัณฑ์ที่มีไขมันนมทุกชนิด
การรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงมากเกินไป รวมทั้งการรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ดและอาหารแปรรูป จะทำให้เกิดโรคอ้วน และน้ำหนักตัวเกินพอดี ซึ่งช่วยเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ และโรคแทรกซ้อนชนิดอื่นๆ
อาการของคอเรสเตอรอลสูงเป็นอย่างไร
โดยปกติแล้วผู้ป่วยจะไม่รู้ตัวเมื่อมีคอเลสเตอรอลสูง หลายคนจึงไม่ทราบว่าตนเองมีคอเลสเตอรอลสูงผิดปกติ ดังนั้นสิ่งสำคัญก็คือ ต้องรู้จำนวนของคอเลสเตอรอลในร่างกายตัวเองเสียก่อน เพื่อจะได้หาหนทางลดระดับคอเลสเตอรอลได้อย่างทันท่วงที
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด