backup og meta

หลอดเลือดหัวใจ กับปัญหาเกี่ยวกับหัวใจที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์พีรธัช โรจนพันธุ์ · โรคหัวใจ · สถาบันโรคทรวงอก


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 01/09/2022

    หลอดเลือดหัวใจ กับปัญหาเกี่ยวกับหัวใจที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

    หลอดเลือดหัวใจ และปัญหาที่เกี่ยวกับหัวใจในผู้สูงอายุ อาจพบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และภาวะหัวใจล้มเหลวได้มากขึ้น รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจอื่น ๆ เนื่องจากสุขภาพร่างกายโดยรวมและประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ หลอดเลือดหัวใจและอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายอ่อนแอลงตามอายุ

    ปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจและหัวใจในผู้สูงอายุ

    ปัญหาเกี่ยวกับ หลอดเลือดหัวใจ และหัวใจที่อาจพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ มีดังนี้

  • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เกิดจากการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือดเพิ่มขึ้นทำให้หลอดเลือดตีบตัน ส่งผลให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างเพียงพอ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่อาจทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่น ๆ เช่น หัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคหัวใจวาย สาเหตุหลักมาจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ซึ่งเป็นภาวะที่หลอดเลือดหลักที่มีหน้าที่ลำเลียงเลือดไปเลี้ยงหัวใจอุดตัน เนื่องจากคอเลสเตอรอลที่สะสมมากในหลอดเลือดทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนได้
  • โรคหลอดเลือดสมอง อาจมีสาเหตุมาจากโรคหลอดเลือดสมองตีบ ลิ่มเลือดอุดตัน หลอดเลือดหรือเส้นเลือดแตก หรือเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะจนเกิดลิ่มเลือดจากหัวใจหลุดไปอุดตันเส้นเลือดสมอง ทำให้เลือดไหลเวียนไปยังสมองไม่เพียงพอ และส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่อสมองจนทำให้เกิดภาวะอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้
  • โรคภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) เกิดจากความดันโลหิตที่สูงขึ้น อายุที่เพิ่มขึ้นและปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น คอเลสเตอรอลสูง โรคอ้วน โรคเบาหวาน การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ที่อาจทำให้เกิดการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือดเป็นเวลานาน ทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัวและแคบลง ซึ่งจะขัดขวางการไหลเวียนของเลือดทำให้เลือดไหลเวียนไปยังกล้ามเนื้อหัวใจลดลง เมื่อเวลาผ่านไปกล้ามเนื้อหัวใจจะอ่อนแรงลงจนส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวขึ้น
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจที่เกิดขึ้นตามอายุ ทำให้หัวใจเต้นเร็วหรือช้าผิดปกติ หรือบางคนอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ นอกจากนี้ อาจเกิดจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่แข็งขึ้นจนอาจขัดขวางการไหลเวียนของเลือด และทำให้ของเหลวสะสมอยู่ในปอดหรือร่างกายมากขึ้น จนอาจทำให้มีอาการบวมที่ขา ข้อเท้า และหน้าท้อง ซึ่งเป็นอาการของภาวะหัวใจล้มเหลวตามมาได้
  • ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว เป็นปัญหาที่ทำให้จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เนื่องจากขนาดของห้องหัวใจขยายใหญ่ขึ้น ส่งผลให้การเก็บเลือดในห้องหัวใจลดลงและสูบฉีดเลือดช้าลง ทำให้เกิดลิ่มเลือดขึ้นในห้องหัวใจ ซึ่งสามารถหลุดไปอุดตันเส้นเลือดสมองหรือเส้นเลือดส่วนปลายทำให้เกิดอาการขาดเลือดที่อวัยวะนั้นๆตามมาได้ นอกจากนั้น หัวใจจะขยายขนาดมากขึ้นจนทำให้มีลิ้นหัวใจรั่วตามมาได้ ปัจจัยเสี่ยงเช่น อายุที่เพิ่มขึ้น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานที่เป็นมานาน รวมถึงโรคบางอย่างเช่น ไทรอยด์เป็นพิษ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดหัวใจห้องบนเต้นสั่นพริ้วได้
  • ความดันโลหิตสูง และเท้าบวม โดยปกติโซเดียมมีหน้าที่ในการควบคุมความสมดุลของของเหลว แต่หากร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไป หรือมากกว่า 1.5 กรัม/วัน จะทำให้ร่างกายกักเก็บน้ำไว้ใต้ผิวหนังจนทำให้เกิดอาการบวมน้ำ และสามารถทำให้เกิดความดันโลหิตสูงขึ้นได้เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่ออายุเพิ่มขึ้นร่างกายจะไวต่อโซเดียมมากขึ้น ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีความดันโลหิตสูงและอาจมีอาการเท้าบวมได้ง่าย
  • การทำงานของเซลล์ตัวรับบารอรีเซพเตอร์ (Baroreceptors) ลดลง เป็นกลุ่มเซลล์ที่มีหน้าที่รักษาความดันโลหิตให้คงที่ เมื่ออายุเพิ่มขึ้นอาจทำให้การทำงานของเซลล์ตัวรับลดลง จึงอาจทำให้ผู้สูงอายุมีความดันโลหิตต่ำ และเมื่อผู้สูงอายุเปลี่ยนอิริยาบถจากท่านอนหรือนั่งมาเป็นยืน อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะหรือวูบหมดสติเนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
  • สัญญาณของโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้สูงอายุ

    สัญญาณระยะเริ่มแรกของโรคหัวใจในผู้สูงอายุมักไม่มีอาการที่สามารถสังเกตได้ แต่ผู้สูงอายุบางคนอาจมีอาการที่เป็นสัญญาณเตือน ดังนี้

  • เจ็บปวด ชา รู้สึกเสียวซ่าที่ไหล่ แขน คอ กราม หรือหลัง
  • หายใจไม่ออกหรือหายใจถี่เมื่อออกกำลังกาย พักผ่อน หรือขณะนอนราบ
  • เจ็บหน้าอกในระหว่างทำกิจกรรม และอาการอาจดีขึ้นเมื่อหยุดทำกิจกรรม
  • มึนหัว เวียนหัว สับสน มึนงง ปวดหัว
  • เหงื่อออกมากจนผิวเย็น
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เมื่อยล้า และอ่อนแรง
  • อาการบวมที่ข้อเท้า เท้า ขา ท้อง หรือคอ
  • หัวใจเต้นผิดปกติ อาจเต้นช้าเกินไป เร็วเกินไป หรือเต้นผิดจังหวะ ซึ่งเป็นอาการที่อาจพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ
  • ผู้สูงอายุและผู้ดูแลจึงควรสังเกตสัญญาณเตือนของปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด หากพบว่ามีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นควรรีบเข้าคุณหมอเพื่อทำการวินิจฉัยทันที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์พีรธัช โรจนพันธุ์

    โรคหัวใจ · สถาบันโรคทรวงอก


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 01/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา