backup og meta

หัวใจวาย (Heart attack)

หัวใจวาย (Heart attack)

หัวใจวาย (Heart Attack) หรือ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial Infarction) เป็นโรคร้ายแรงประเภทหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเมื่อกระแสเลือดที่ไปยังหัวใจมีการอุดกั้น

คำจำกัดความ

หัวใจวาย คืออะไร

หัวใจวาย (Heart Attack) หรือ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial Infarction) เป็นโรคร้ายแรงประเภทหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเมื่อกระแสเลือดที่ไปยังหัวใจมีการอุดกั้น ซึ่งมักเกิดได้มากที่สุดจากการก่อตัวของไขมัน คอเลสเตอรอล และสารอื่น ๆ ซึ่งก่อตัวเป็นแผ่นอุดกั้นในหลอดเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงหัวใจ กระแสเลือดที่ถูกขัดขวาง อาจทำให้เกิดการทำลาย หรือความเสียหายที่กล้ามเนื้อหัวใจได้ หัวใจวายสามารถเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ในการโทรไปยังหมายเลขฉุกเฉิน หรือขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉิน หากกำลังสงสัยว่าตัวเองมีภาวะหัวใจวาย

หัวใจวาย พบได้บ่อยเพียงใด

ตามข้อมูลจาก Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ประเทศสหรัฐฯ ในทุก ๆ ปีจะมีชาวอเมริกันจำนวน 735,000 คนที่เกิด ภาวะหัวใจวาย ในจำนวนผู้ป่วยดังกล่าวนี้ ผู้ป่วยจำนวน 525,000 รายเป็นหัวใจวายครั้งแรก และผู้ป่วยจำนวน 210,000 รายเป็นผู้ที่เคยเป็นหัวใจวายมาก่อนแล้ว

ในประเทศไทย ภาวะหัวใจวาย เป็นสาเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้ผู้ที่อายุมากกว่า 65 ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย

อย่างไรตาม หัวใจวายอาจจัดการได้โดยลดความเสี่ยง โปรดปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการของหัวใจวาย

อาการของหัวใจวาย

สิ่งบ่งชี้และอาการที่พบได้ทั่วไปบางประการของหัวใจวายอาจมีดังนี้

  • แรงกด อาการแน่น อาการปวด  ความรู้สึกบีบคั้น หรือปวดในหน้าอก แขน ที่อาจลุกลามไปยังคอ ขากรรไกร หรือหลัง
  • คลื่นไส้ อาหารไม่ย่อย แสบร้อนกลางอก หรือปวดในช่องท้อง
  • หายใจลำบาก
  • ตื่นตระหนก
  • อ่อนเพลีย
  • เวียนศีรษะ หรือเวียนศีรษะเฉียบพลัน

เป็นที่สังเกตว่า ไม่ใช่ผู้ป่วยหัวใจวายทั้งหมดจะมีอาการเดียวกัน หรือมีระดับความรุนแรงของอาการเหมือนกัน ผู้ป่วยบางรายมีอาการปวดเพียงเล็กน้อย แต่ผู้ป่วยรายอื่นมีอาการปวดที่รุนแรงกว่า ผู้ป่วยบางรายไม่มีอาการ ในขณะที่ในผู้ป่วยรายอื่น อาจมีอาการเริ่มแรกเป็นอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) อย่างไรก็ดี ยิ่งผู้ป่วยมีสิ่งบ่งชี้และอาการมากเท่าไรก็ยิ่งมีความเป็นไปได้ที่อาจเกิดหัวใจวายมากขึ้นเท่านั้น

หัวใจวายบางประเภทเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน แต่ผู้ป่วยหลายรายอาจมีสิ่งบ่งชี้ และอาการเตือนล่วงหน้าหลายชั่วโมง หลายวัน หรือหลายสัปดาห์ อาการเตือนแรกสุด อาจเป็นอาการเจ็บหน้าอกที่กลับมาเป็นซ้ำ ๆ ซึ่งถูกกระตุ้นโดยการออกกำลังกาย และบรรเทาได้ด้วยการพักผ่อน

หัวใจวายอาจแตกต่างจากภาวะที่หัวใจของคุณหยุดทำงานอย่างกะทันหัน เช่น หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้าขัดขวางการสูบฉีดโลหิตของหัวใจ และทำให้เลือดหยุดไหลไปยังส่วนที่เหลือของร่างกาย ภาวะหัวใจวาย สามารถทำให้เกิดอาการหัวใจหยุดเต้น แต่ไม่ได้เป็นเพียงสาเหตุประการเดียวเท่านั้น

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

ให้ไปพบหมอทันที ผู้ป่วยบางรายรอนานเกินไป เนื่องจากไม่ทราบว่ามีสิ่งบ่งชี้และอาการที่สำคัญ ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • โทรขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉิน หากสงสัยว่ากำลังมีภาวะหัวใจวาย ห้ามรอช้า ให้โทรไปยังสายฉุกเฉิน หากไม่สามารถเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ให้ขอร้องให้คนรอบข้างให้ขับรถไปส่งยังโรงพยาบาลใกล้เคียง
  • ขับรถไปยังโรงพยาบาลด้วยตัวเองในกรณีที่ไม่มีทางเลือกอื่นเท่านั้น เนื่องจากอาการหัวใจวายอาจแย่ลง การขับรถด้วยตัวเองจะทำให้ตัวเองและผู้อื่นมีความเสี่ยงได้
  • ใช้ยาไนโตรกลีเซอริน (Nitroglycerin) หากคุณหมอสั่ง ในขณะที่รอความช่วยเหลือฉุกเฉิน
  • ใช้ยาแอสไพริน (Aspirin) หากคุณหมอแนะนำ เนื่องจาก อาจช่วยลดอันตรายที่เกิดขึ้นกับหัวใจได้ โดยช่วยให้เลือดไม่ให้แข็งตัว

ยาแอสไพรินอาจเกิดปฏิกิริยากับยาชนิดอื่น ๆ ได้ อย่างไรตาม ห้ามใช้ยาแอสไพรินหากคุณหมอหรือบุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉินไม่ได้สั่ง ห้ามประวิงเวลาเรียกรถพยาบาล เพื่อกินยาแอสไพรินก่อน ให้โทรขอความช่วยเหลือฉุกเฉินก่อน

สาเหตุ

สาเหตุของหัวใจวาย

หัวใจวายอาจเกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดหัวใจหนึ่งเส้นหรือมากกว่า มีการอุดตันเมื่อเวลาผ่านไป หลอดเลือดหัวใจตีบลงจากการสะสมของสารต่าง ๆ เช่น คอเลสเตอรอล หรือภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) อาการดังกล่าวเรียกว่า โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease) อาจเป็นสาเหตุของหัวใจวายเป็นส่วนใหญ่

ในระหว่างที่เกิด ภาวะหัวใจวาย หนึ่งในแผ่นพลัคอุดกั้นเหล่านี้สามารถสลายตัว และปล่อยคอเลสเตอรอลและสารอื่น ๆ เข้าไปในกระแสเลือด ลิ่มเลือดก่อตัวขึ้นในบริเวณที่แผ่นพลัคสลายตัว หากลิ่มเลือดมีขนาดใหญ่มากพอ จะสามารถปิดกั้นกระแสเลือดทั้งหมดที่ผ่านหลอดเลือดหัวใจ

นอกเหนือจากโรคหลอดเลือดหัวใจแล้ว สาเหตุอีกประการหนึ่งของภาวะหัวใจวาย คือ การกระตุกของหลอดเลือดหัวใจที่ปิดกั้นกระแสเลือดไปยังกล้ามเนื้อหัวใจ การสูบบุหรี่ และการใช้สารเสพติด เช่น โคเคน อาจเป็นสาเหตุของอาการกระตุกที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้

ภาวะหัวใจวาย ยังสามารถเกิดขึ้นจากการฉีกขาดของหลอดเลือดหัวใจ (Spontaneous Coronary Artery Dissection) ได้อีกด้วย

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของหัวใจวาย

มีความเสี่ยงหลายประการที่อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย โดยความเสี่ยงต่าง ๆ อาจมีดังนี้

  • อายุ

ผู้ชายอายุ 45 ปีหรือมากกว่า และผู้หญิงอายุ 55 ปีหรือมากกว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นหัวใจวาย มากกว่าผู้หญิงหรือผู้ชายที่อายุน้อยกว่า

  • การสูบบุหรี่

การสูบบุหรี่ และการได้รับควันบุหรี่มือสองในระยะยาว อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะหัวใจวาย

  • ความดันโลหิตสูง

เมื่อเวลาผ่านไป ความดันโลหิตสูงอาจทำลายหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงหัวใจ โดยการเร่งการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง

  • ระดับคอเลสเตอรอลหรือไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง

คอเลสเตอรอลไลโพโปรตีนความหนาแน่นต่ำ (Low-Density Lipoprotein หรือ LDL) หรือคอเลสเตอรอลไม่ดีซึ่งอยู่ในระดับสูง มีแนวโน้มที่จะอุดกั้นหลอดเลือด ไตรกลีเซอไรด์ซึ่งเป็นไขมันในเลือดประเภทหนึ่ง ที่สัมพันธ์กับอาหารที่รับประทาน ถ้ามีไตรกลีเซอไรด์สูง ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหัวใจวายได้เช่นกัน

  • เบาหวาน

อินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่หลั่งมาจากตับอ่อน ทำให้ร่างกายใช้กลูโคสซึ่งเป็นน้ำตาลรูปแบบหนึ่งได้ การเป็นเบาหวาน ร่างกายจะไม่สามารถสังเคราะห์อินซูลินได้อย่างเพียงพอ หรือไม่ตอบสนองต่ออินซูลินได้อย่างเหมาะสม ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เบาหวานโดยเฉพาะประเภทที่ควบคุมไม่ได้ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิด ภาวะหัวใจวาย

  • ประวัติครอบครัว

หากคุณพ่อคุณแม่ หรือคนในครอบครัวเคยมีประวัติการเกิดภาวะหัวใจวายก่อนที่จะอายุ 55 สำหรับผู้ชาย และอายุ 65 สำหรับผู้หญิง ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจวายได้

  • ขาดการออกกำลังกาย

ไลฟ์สไตล์ที่ไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงและเกิดโรคอ้วน ผู้ที่ออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอมีความแข็งแรงของหลอดเลือดหัวใจที่มากกว่า ซึ่งลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจวายโดยรวม

  • โรคอ้วน

โรคอ้วนสัมพันธ์กับระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ระดับกลีเซอไรด์สูง ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน

  • ความเครียด

ร่างกายอาจตอบสนองต่อความเครียดในวิธีที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหัวใจวาย

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอมิได้ใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ให้ปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยภาวะหัวใจวาย

หากอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินของภาวะหัวใจวาย คุณหมออาจให้ผู้ป่วยอธิบายอาการที่เกิดขึ้น พร้อมกับตรวจความดันโลหิต ชีพจร และอุณหภูมิร่างกาย นอกจากนี้ คุณหมออาจติดเครื่องตรวจหัวใจ เพื่อตรวจหัวใจทันทีว่ากำลังเกิดภาวะหัวใจวายอยู่หรือไม่

การตรวจร่างกายจะช่วยตรวจสอบว่า สิ่งบ่งชี้และอาการต่าง ๆ เช่น อาการเจ็บหน้าอก บอกถึง ภาวะหัวใจวาย หรือภาวะอื่น ๆ หรือไม่ การตรวจร่างกายดังกล่าว ได้แก่

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram หรือ ECG)

การตรวจประเภทแรกเพื่อวินิจฉัย ภาวะหัวใจวาย จะบันทึกกิจกรรมไฟฟ้าของหัวใจ ผ่านขั้วไฟฟ้าที่ติดอยู่กับผิวหนัง คลื่นไฟฟ้าหัวใจจะบันทึกบนกระดาษหรือแสดงออกมาที่หน้าจอ เนื่องจาก กล้ามเนื้อหัวใจที่เสียหายทำให้คลื่นไฟฟ้าไม่เป็นไปตามปกติ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอาจแสดงให้เห็นว่า หัวใจวายได้เกิดขึ้นแล้ว หรืออยู่ในระหว่างการเกิด

  • การตรวจเลือด

เอนไซม์การทำงานของหัวใจบางประเภท จะรั่วเข้าไปปนกับเลือดอย่างช้า ๆ ถ้าหัวใจเสียหายจากภาวะหัวใจวาย แพทย์ฉุกเฉินจะนำตัวอย่างเลือดไปตรวจหาเอนไซม์การทำงานของหัวใจดังกล่าว

หากเคยเป็นหรือกำลังเกิดภาวะหัวใจวาย คุณหมอจะทำการรักษาทันที ซึ่งคุณหมออาจให้เข้ารับการตรวจเพิ่มเติมดังนี้

  • เอกซเรย์อก

ภาพเอกซเรย์อกทำให้คุณหมอตรวจขนาดของหัวใจและและหลอดเลือดและตรวจหาของเหลวในปอดได้

  • การตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiogram)

ในระหว่างการตรวจประเภทนี้ คลื่นเสียงที่ส่งตรงไปยังหัวใจจากอุปกรณ์คล้ายแท่งไม้ (เครื่องแปลงความถี่) ที่ติดตั้งที่หน้าอกของคุณสะท้อนจากหัวใจและมีการประมวลผลทางไฟฟ้าเพื่อสร้างภาพเคลื่อนไหวของหัวใจ

  • การใช้สายสวนหลอดเลือด (Angiogram)

น้ำสีจะถูกฉีดเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจ ผ่านหลอดยาวขนาดเล็ก (สายสวน) ที่สอดผ่านเส้นเลือด มักเป็นที่ขาหรือขาหนีบ ไปยังหลอดเลือดหัวใจ น้ำสีทำให้หลอดเลือดสามารถมองเห็นได้บนเครื่องเอกซเรย์ ทำให้เห็นบริเวณที่หลอดเลือดตีบตัน

  • การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Cardiac computerized tomography หรือ CT) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging หรือ MRI)

วิธีการตรวจเหล่านี้สามารถใช้วินิจฉัยอาการเกี่ยวกับหัวใจ ซึ่งรวมทั้งขอบเขตความเสียหายจากภาวะหัวใจวาย

การรักษาภาวะหัวใจวาย

มีการพิสูจน์ว่า วิธีการหลักในการป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อหัวใจ คือ การฟื้นฟูกระแสเลือดอย่างรวดเร็ว

การใช้ยา

ยาที่ใช้รักษาภาวะหัวใจวายอาจมีดังนี้

  • แอสไพริน

แอสไพรินลดการแข็งตัวของเลือด จึงช่วยรักษาระดับกระแสเลือดที่ไหลผ่านหลอดเลือดที่อุดตันลงได้

  • ยาละลายลิ่มเลือด

ยาดังกล่าว หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ยาสลายลิ่มเลือด (Clotbusters) ช่วยละลายลิ่มเลือดที่ขัดขวางกระแสเลือดที่ไปยังหัวใจของคุณ

  • ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet Agents)

ยาต้านเกล็ดเลือดครอบคลุมถึงยาชนิดต่าง ๆ เช่น ยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) อย่างเช่น พลาวิกซ์ (Plavix) และอื่น ๆ ซึ่งเรียกว่า ยายับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด

  • ยาละลายลิ่มเลือดชนิดอื่นๆ

ผู้ป่วยอาจได้รับยาอื่น ๆ เช่น ยาเฮพาริน (Heparin) เพื่อทำให้เลือดเหนียวน้อยลง และมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดได้น้อยลง

  • ยาแก้ปวด

ผู้ป่วยอาจได้รับยาแก้ปวด เช่น มอร์ฟีน เพื่อบรรเทาอาการปวด

  • ไนโตรกลีเซอริน (Nitroglycerin)

ยาประเภทนี้ซึ่งใช้รักษาอาการเจ็บหน้าอก (Angina) สามารถช่วยให้กระแสเลือดไหลเวียนไปยังหัวใจได้เป็นอย่างดี โดยการขยายหลอดเลือด

  • ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta Blockers)

ยาชนิดนี้ช่วยคลายกล้ามเนื้อหัวใจ ชะลอการเต้นของหัวใจ และลดความดันโลหิต ซึ่งทำให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้น

  • การผ่าตัดและการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ

นอกเหนือจากการใช้ยาแล้ว ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีหนึ่งดังต่อไปนี้เพื่อรักษาภาวะหัวใจวาย

  • การขยายหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angioplasty And Stenting)

คุณหมออาจสอดหลอดยาวขนาดเล็ก (สายสวน) ผ่านเส้นเลือด มักเป็นที่ขาหรือขาอ่อนไปยังหลอดเลือดหัวใจที่ตีบตัน หากคุณเป็นหัวใจวาย จะมีการดำเนินการขั้นตอนนี้ทันที หลังจากการใช้สายสวนหัวใจ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใช้ตรวจหาบริเวณที่มีการตีบตันของเส้นเลือด

  • การผ่าตัดทำบายพาสหัวใจ (Coronary Artery Bypass Surgery)

สำหรับผู้ป่วยบางรายนั้น คุณหมออาจทำการผ่าตัดทำบายพาสหัวใจแบบฉุกเฉิน เมื่อเกิด ภาวะหัวใจวาย หากเป็นไปได้ คุณหมออาจแนะนำการผ่าตัดทำบายพาสหัวใจ หลังจากที่หัวใจได้มีการฟื้นตัวจากภาวะหัวใจวาย เป็นเวลา 3-7 วัน

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่ช่วยรับมือกับ ภาวะหัวใจวาย

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองดังต่อไปนี้จะช่วยให้คุณรับมือกับหัวใจวายได้

การปฏิบัติตามเคล็ดลับที่มีประโยชน์เหล่านี้ อาจช่วยให้ห่างไกลจากภาวะหัวใจวาย ได้

  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • ควบคุมความดันโลหิตและระดับคอเลสเตอรอล
  • ตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • รักษาน้ำหนักร่างกายที่เหมาะสม
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อหัวใจ
  • จัดการเบาหวาน
  • ควบคุมความเครียด
  • จำกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์ เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Heart attack.  http://www.webmd.com/heart-disease/heart-disease-heart-attacks  . Accessed December 27, 2016.

Heart attack.  http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/heart-attack/basics/definition/con-20019520 . Accessed December 27, 2016.

Heart attack. http://www.healthline.com/health/heart-attack/ . Accessed December 27, 2016.

เวอร์ชันปัจจุบัน

09/05/2022

เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์สุรพงษ์ หล่อสมฤดี

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

7 ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ ที่คุณไม่ควรมองข้าม

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน สาเหตุ อาการและการรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์สุรพงษ์ หล่อสมฤดี

แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป · คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 09/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา