backup og meta

รู้หรือไม่ ทำไมถึงไม่ควรดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง มากกว่าวันละ 2 ขวด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    รู้หรือไม่ ทำไมถึงไม่ควรดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง มากกว่าวันละ 2 ขวด

    เครื่องดื่มชูกำลัง ห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวด เป็นคำเตือนสำคัญที่ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อไหน ๆ ต่างก็ออกคำเตือนนี้มาจนเราทุกคนล้วนคุ้นหูกันทั้งสิ้น แต่เราเคยสงสัยกันหรือไม่ว่า เกิดอะไรขึ้นถ้าเราดื่มเครื่องดื่มชูกำลังเกินวันละ 2 ขวด? มีอันตรายอะไรที่ทำให้ผู้ผลิตถึงกับต้องออกมาเตือนไม่ให้เรา ดื่มเครื่องดื่มชูกำลังมากเกินไป มาหาคำตอบร่วมกันกับ Hello คุณหมอ

    เครื่องดื่มชูกำลังคืออะไร

    เครื่องดื่มชูกำลัง (Energy drinks) หมายถึงเครื่องดื่มที่ดื่มเพื่อช่วยเพิ่มพลังงานและประสิทธิภาพในการทำงานของสมอง หลายคนมักจะดื่มเครื่องดื่มชูกำลังเพื่อช่วยให้ตื่น และสามารถทำงานต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะกับผู้ที่ต้องทำงานเป็นกะ หรือผู้ที่อ่านหนังสือสอบจนดึกดื่น

    เครื่องดื่มชูกำลังแทบจะทุกยี่ห้อนั้นจะมีส่วนผสมของคาเฟอีน (Caffeine)เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง ช่วยให้สมองเกิดความตื่นตัว และทำให้มีสมาธิมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบอื่น ๆ ที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละยี่ห้อ แต่ส่วนผสมของเครื่องดื่มชูกำลังหลัก ๆ มักจะมีดังต่อไปนี้

    • น้ำตาล มักจะเป็นแหล่งของสารอาหารหลักในเครื่องดื่มชูกำลัง แต่ก็มีบางยี่ห้อที่ไม่ใช้น้ำตาล แต่จะเป็นสารให้ความหวานแทน
    • วิตามินบี เป็นวิตามินสำคัญที่จะช่วยแปลงสารอาหารที่คุณรับประทานเข้าไปให้กลายเป็นพลังงานให้ร่างกายนำไปใช้
    • กรดอะมิโน เช่น แอลคาร์นิทีน (L-carnitine) หรือทอรีน (taurine)
    • สารสกัดจากสมุนไพร เช่น โสม เพื่อช่วยในการทำงานของสมอง

    ดื่มเครื่องดื่มชูกำลังมากเกินไป อันตรายอย่างไร

    หนึ่งในปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้การดื่มเครื่องดื่มชูกำลังมากเกินไปเป็นอันตรายนั้น เนื่องมาจากคาเฟอีนที่อยู่มากในเครื่องดื่มชูกำลัง ไม่ว่าจะยี่ห้อไหนก็ตาม

    เครื่องดื่มชูกำลังส่วนใหญ่แล้ว มักจะมีคาเฟอีนอยู่ที่ประมาณ 80 มก. ต่อขวด หรือก็คือในปริมาณที่เท่ากับกาแฟ 1 แก้ว แต่ก็มีบางยี่ห้อที่มีคาเฟอีนมากถึง 200 มก. ต่อชวด ในขณะที่ปริมาณของคาเฟอีนที่ผู้ใหญ่ไม่ควรรับประทานเกินในแต่ละวันคือ 400 มก. ต่อวัน นอกจากนี้ภายในเครื่องดื่มชูกำลังนั้นยังอาจมีส่วนผสมของสารสกัดจากสมุนไพร เช่น กัวรานา (Guarana) ที่เป็นแหล่งของคาเฟอีนจากธรรมชาติ และให้คาเฟอีนมากถึง 40 มก. ต่อกรัม การดื่มเครื่องดื่มชูกำลังมากกว่าปริมาณที่แนะนำ หรือก็คือมากกว่าวันละ 2 ขวด อาจทำให้ร่างกายของเราได้รับคาเฟอีนมากเกินไป จนเกิดภาวะพิษคาเฟอีน หรือคาเฟอีนเกินขนาดได้

    อาการที่อาจจะเกิดขึ้นหากได้รับคาเฟอีนเกินขนาด เช่น

    • วิงเวียน
    • คลื่นไส้
    • ท้องเสีย
    • กระหายน้ำ
    • ปวดหัว
    • นอนไม่หลับ
    • เป็นไข้
    • หงุดหงิด

    อาการเหล่านี้เป็นอาการในระดับเบาที่ไม่เป็นอันตรายมาก และสามารถหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไป แต่ในบางครั้งการได้รับคาเฟอีนมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดอาการที่เป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น

    • หายใจลำบาก
    • อาเจียน
    • มองเห็นภาพหลอน
    • สับสน
    • เจ็บหน้าอก
    • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
    • ใจสั่น
    • กล้ามเนื้อกระตุก
    • ชัก

    นอกจากนี้ ภายในเครื่องดื่มชูกำลังนั้นยังมีน้ำตาลในปริมาณมาก การดื่มมากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน ดังนั้นเราจึงควรรับฟังคำแนะนำของผู้ผลิต และไม่ดื่มเครื่องดื่มชูกำลังนี้มากเกินไปกว่าวันละ 2 ขวด

    เครื่องดื่มชูกำลังแบบไร้น้ำตาล ดีกว่าจริงหรือเปล่า

    เครื่องดื่มชูกำลังแบบไร้น้ำตาลนั้นจะมีปริมาณของน้ำตาลและแคลอรี่น้อยกว่าปกติ แต่ยังคงมีปริมาณของคาเฟอีนเท่าเดิม ดังนั้นการดื่มเครื่องดื่มชูกำลังแบบไร้น้ำตาล จึงยังอาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงเดียวกัน เช่น ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว และความดันโลหิตเพิ่มสูง

    นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาลอย่าง แอสปาร์แตม (aspartame) ที่ใส่มาเพื่อทำให้เครื่องดื่มชูกำลังนี้เป็นแบบไร้น้ำตาล ก็ยังสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานได้เสมือนกับการกินน้ำตาลตามปกติ ดังนั้นการดื่มเครื่องดื่มชูกำลังแบบไร้น้ำตาลจึงไม่ได้มีผลดีไปกว่าการดื่มเครื่องดื่มชูกำลังแบบปกติแต่อย่างใด

    เด็กและวัยรุ่น สามารถดื่มเครื่องดื่มชูกำลังได้หรือไม่

    หน่วยงานกุมารเวชแห่งสหรัฐอเมริกา (The American Academy of Pediatrics หรือ AAP) ให้คำแนะนำว่า เด็กและวัยรุ่นไม่ควรดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง เนื่องจากการดื่มเครื่องดื่มประเภทนี้ อาจจะทำให้เด็กเกิดการเสพติด และส่งผลกระทบทางด้านลบต่อพัฒนาการของหัวใจและสมอง

    ผู้เชี่ยวชาญยังกล่าวอีกว่า ปริมาณของคาเฟอีนที่แนะนำสำหรับวัยรุ่นนั้นคือ ไม่ควรเกินวันละ 100 มก. และเด็กไม่ควรเกินวันละ 2.5 มก. ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ดังนั้น การดื่มเครื่องดื่มชูกำลังที่มีปริมาณของคาเฟอีนเฉลี่ยอยู่ที่ 80-120 มก. ต่อขวด จึงอาจมีความเสี่ยงให้เด็กได้รับปริมาณของคาเฟอีนเกินขนาดได้

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา