ใครๆ ก็อยากดูดี โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นที่เริ่มรักสวยรักงาม เริ่มใส่ใจกับรูปลักษณ์ของตัวเอง ถึงขั้นที่วัยรุ่นบางคนสามารถอยู่หน้ากระจกได้เป็นชั่วโมงๆ หรือถ่ายรูปเซลฟี่ได้เป็นร้อยๆ รูป และเมื่อวัยรุ่นเริ่มไม่พอใจในรูปร่างหน้าตาของตัวเอง ความนิยมในการทำศัลยกรรมพลาสติกเพื่อแก้ไขจุดบกพร่อง หรือเสริมความงามก็เริ่มสูงขึ้น แม้ วัยรุ่นกับการศัลยกรรม จะไม่ใช่เรื่องแปลกในยุคปัจจุบัน แต่ก็มีหลายสิ่งที่วัยรุ่นที่อยากทำศัลยกรรมความงามต้องพิจารณา เพราะสิ่งที่ได้อาจไม่คุ้มเสีย
ทำไมวัยรุ่นถึงอยากทำศัลยกรรม
รูปร่างหน้าตาถือเป็นสิ่งที่วัยรุ่นส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ และสามารถส่งผลต่อสภาพร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ได้ด้วย วัยรุ่นอยากทำศัลยกรรมก็เพื่อแก้ไขรูปร่างหน้าตาของตัวเองให้ดูดีขึ้น ซึ่งบางครั้งอาจเป็นผลมาจากการโดนเพื่อนล้อเกี่ยวกับรูปลักษณ์ บ้างอาจเป็นเพราะอยากรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเพื่อน อยากเหมือนคนอื่น ไม่อยากรู้สึกแตกต่าง ยิ่งในปัจจุบันการเข้าถึงสื่อโซเชียลเป็นเรื่องง่ายดาย วัยรุ่นบางคนก็อาจอยากทำศัลยกรรมตามดารานักร้อง หรืออินฟลูเอนเซอร์ที่ตัวเองชอบ หรือวัยรุ่นบางคนก็อาจอยากทำศัลยกรรมเพราะรูปลักษณ์ปัจจุบันนั้นส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น มีหน้าอกใหญ่เกินไป ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว การทำศัลยกรรมไม่เพียงแต่จะทำให้รูปร่างหน้าตาดีขึ้น แต่บางครั้งยังทำให้วัยรุ่นรู้สึกดีกับตัวเอง หรือลดปัญหาสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล ได้ด้วย
วัยรุ่นกับการศัลยกรรม ที่นิยม
การทำศัลยกรรมความงาม หรือศัลยกรรมพลาสติกที่วัยรุ่นนิยมในปัจจุบัน ได้แก่
ศัลยกรรมจมูก
เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของจมูกทั้งที่มีมาแต่กำเนิด หรือเป็นผลจากอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็น จมูกเบี้ยว จมูกเล็กไป จมูกใหญ่ไป ดั้งไม่มี เป็นต้น จมูกเป็นอวัยวะที่เป็นศูนย์กลางของใบหน้า ผู้คนทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่วัยทำงานจึงนิยมศัลยกรรมจมูก หรือเสริมจมูกเพื่อทำให้จมูกดูชัด สวยงาม ได้รูปขึ้น
โดยปกติแล้ว แพทย์จะทำศัลยกรรมจมูกให้ก็ต่อเมื่อจมูกเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว นั่นคือ ช่วงอายุ 15-16 ปีสำหรับผู้หญิง และอายุ 16-17 ปีสำหรับผู้ชาย
ศัลยกรรมใบหู
เพื่อปรับแก้รูปร่าง ขนาด หรือตำแหน่งของใบหู สำหรับวัยรุ่นที่รู้สึกว่าตัวเองหูเล็กหรือหูกางเกินไป แม้จะฟังดูน่ากลัว เพราะหูถือเป็นอวัยวะที่ละเอียดอ่อน แต่การศัลยกรรมใบหูก็ไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการได้ยินแต่อย่างใด โดยการศัลยกรรมใบหูนั้นสามารถทำได้ตั้งแต่อายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไป
ศัลยกรรมทรวงอก
การศัลยกรรมทรวงอกในวัยรุ่นนั้นมีหลายรูปแบบ ทั้งการแก้ไขทรวงอกที่ไม่เท่ากัน การผ่าตัดลดขนาดทรวงอก สำหรับวัยรุ่นหญิงที่มีขนาดหน้าอกใหญ่เกินไปจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงการผ่าตัดเสริมหน้าอก ซึ่งทำได้เมื่ออายุเกิน 18 ปีขึ้นไป การศัลยกรรมทรวงอกไม่ได้เป็นที่นิยมแต่ในหมู่วัยรุ่นเพศหญิงเท่านั้น เพราะวัยรุ่นชายที่มีภาวะเต้านมโตในเพศชาย (Gynecomastia) ก็นิยมเข้ารับการผ่าตัดแก้ไขทรวงอกเช่นกัน
การดูดไขมัน
วัยรุ่นในปัจจุบันนิยมรูปร่างผอมเพรียว แต่บางคนก็ไม่อยากออกกำลังกายหรือ ไม่อยากกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ ซ้ำยังชอบกินแต่อาหารไขมันสูง น้ำตาลสูง ซึ่งส่งผลให้น้ำหนักเกินและมีไขมันส่วนเกินทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณต้นขา หน้าท้อง ก้น จึงเลือกดูดไขมันเพื่อกำจัดไขมันที่ไม่ต้องการออกจากร่างกาย
นอกจากการศัลยกรรมความงามข้างต้นแล้ว วัยรุ่นยังนิยมเข้ารับการรักษาที่ผิวหนังภายนอกแบบไม่ผ่าตัด เช่น การฉีดโบท็อกซ์ การกรอผิว การเลเซอร์รักษาสิว การฉีดวิตามิน การฉีดไขมันบนใบหน้า ซึ่งแม้ความเสี่ยงจะไม่มากเท่าการเสริมความงามที่ต้องผ่าตัด แต่ก็ต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจเข้ารับการรักษาเช่นกัน
สิ่งที่วัยรุ่นควรคำนึง ก่อนคิดทำศัลยกรรม
ก่อนจะตัดสินใจทำศัลยกรรมความงาม หรือศัลยกรรมพลาสติก วัยรุ่นต้องเข้าใจก่อนว่า การศัลยกรรมนั้นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง การสำเร็จในชีวิตไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการเปลี่ยนรูปลักษณ์เพียงอย่างเดียว แต่เราต้องพัฒนาตัวเองทั้งความสามารถและความคิดด้วย วัยรุ่นกับการศัลยกรรมไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ก่อนศัลยกรรม วัยรุ่นควรพิจารณาถึงรายละเอียดต่อไปนี้ด้วย
ความเสี่ยงในการศัลยกรรม
การผ่าตัดทุกประเภทย่อมมีความเสี่ยง ตั้งแต่ความเสี่ยงจากการใช้ยาระงับความรู้สึก เช่น ภาวะเพ้อสับสนหลังผ่าตัด ปอดบวม หัวใจวาย ไปจนถึงความยากลำบากในการดูแลแผลผ่าตัดที่มักเป็นรอยช้ำ และวัยรุ่นอาจดูแลแผลได้ไม่ดีพอ จนเกิดเป็นปัญหาลุกลาม เช่น ติดเชื้อ
อีกทั้งข้อมูลจากการศึกษาวิจัยยังเผยว่า ผู้หญิงที่ทำศัลยกรรมพลาสติกประเภทที่ต้องใส่วัสดุเข้าไปในร่างกาย เช่น เสริมจมูก เสริมหน้าอก อาจเจออาการแทรกซ้อนอย่างน้อย 1 อย่างภายในช่วง 3 ปีแรกหลังศัลยกรรม เช่น การติดเชื้อ อาการเลือดคั่ง อาการน้ำคั่งใต้ผิว เนื้อเยื่อพังผืดหดรั้ง แผลเป็นนูน ซึ่งบางครั้งอาจส่งผลเสียร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
ผลเสียจากการศัลยกรรมตั้งแต่วัยรุ่น
การศัลยกรรมพลาสติกอาจก่อให้เกิดผลเสียดังต่อไปนี้
- แผลจากการผ่าตัดมักต้องใช้เวลานานกว่าจะเลือนหรือจางไป ซึ่งหากเป็นการศัลยกรรมบริเวณใบหน้า ก็ยิ่งทำให้เห็นแผลหรือรอยช้ำเด่นชัด และอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของวัยรุ่นได้ และในบางกรณี รอยแผลเป็นก็อาจไม่เลือนหรือจางลง ซ้ำร้ายอาจเป็นแผลนูนที่เห็นเด่นชัด มีขนาดใหญ่ และมีสีออกแดงๆ เหมือนบวมช้ำอยู่ตลอด
- ในบางครั้ง การศัลยกรรมก็ไม่ได้ให้ผลลัพธ์อย่างที่ปรารถนา และอาจทำให้วัยรุ่นไม่พอใจในรูปร่างหน้าตาของตัวเองยิ่งกว่าเดิม
- การศัลยกรรมพลาสติกส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และบางครั้งราคาที่เห็นอาจยังไม่รวมค่าหัตถการทางการแพทย์ ค่าบริการโรงพยาบาล ค่ายาระงับความรู้สึก ค่าเวชภัณฑ์ ค่านอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล เป็นต้น ซึ่งเมื่อคิดรวมๆ แล้ว อาจทำให้ยอดค่าใช้จ่ายในการทำศัลยกรรมแต่ละครั้งนั้นสูงมาก
- วัยรุ่นเป็นวัยที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโต รูปร่างและหน้าตายังสามารถเปลี่ยนแปลงได้อีก ต่อให้ทำศัลยกรรมไปแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป วัยรุ่นก็อาจรู้สึกไม่พอใจและอยากแก้ไขรูปร่างหน้าตาตัวเองอีก และหากทำบ่อยเข้า อาจกลายเสพติดการศัลยกรรม จนทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่าย หรือเผชิญความเสี่ยงจากการศัลยกรรมไม่รู้จบ
หากลูกวัยรุ่นอยากทำศัลยกรรม พ่อแม่ควรทำอย่างไรดี
หากลูกวัยรุ่นบอกว่าอยากทำศัลยกรรม คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปฏิเสธเสียงแข็งทันที แต่ควรรับฟังเหตุผลของลูกก่อนว่า ที่เขาต้องการทำศัลยกรรมพลาสติกนั้นเป็นเพราะมีความกังวลเรื่องอะไร เมื่อคุณเข้าใจมากขึ้นแล้วว่าลูกต้องการอะไร จึงค่อยดำเนินการขั้นต่อไป เช่น พาลูกไปเข้าพบแพทย์เพื่อปรึกษาถึงความเป็นไปได้ เพื่อให้ลูกรู้ถึงความเสี่ยง ความปลอดภัย และผลลัพธ์ของการศัลยกรรม
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า สมองกลีบหน้าซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับความคิด เหตุผล และการตัดสินใจจะพัฒนาเต็มที่ในช่วงอายุ 20 ต้นๆ ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจอนุญาตให้ลูกวัยรุ่นทำศัลยกรรมพลาสติก หรือศัลยกรรมความงาม คุณพ่อคุณแม่จะต้องแน่ใจก่อนว่า ลูกเข้าใจว่าตัวเองกำลังจะทำอะไร และนั่นเป็นสิ่งที่เขาต้องการจริงๆ และต้องให้เขารู้ว่าด้วยว่า ผลลัพธ์ที่ออกมา อาจไม่เป็นไปตามที่เขาคาดหวังร้อยเปอร์เซ็นต์
การทำศัลยกรรมทุกประเภท โดยเฉพาะศัลยกรรมความงาม หรือศัลยกรรมพลาสติก ควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องเท่านั้น เพื่อความปลอดภัย ก่อนศัลยกรรมจึงควรตรวจสอบให้ดีว่าไม่ใช่หมอเถื่อน คลินิกเถื่อน โดยคุณสามารถตรวจสอบรายชื่อแพทย์ได้ที่เว็บไซต์แพทยสภา (https://www.tmc.or.th/check_md/) และตรวจสอบสถานพยาบาลได้ที่เว็บไซต์สำนักสถานพยาบาลฯ กระทรวงสาธารณสุข (http://privatehospital.hss.moph.go.th)
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmi]