backup og meta

สัญญาณควรรู้ คุณอาจกำลังเป็นโรคขาดสารไอโอดีน

สัญญาณควรรู้ คุณอาจกำลังเป็นโรคขาดสารไอโอดีน

ไอโอดีน เป็นสารอาหารที่ดีต่อสมองและดีต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ด้วย ถ้าหากร่างกายขาดสารไอโอดีนก็จะมีผลกระทบต่อสุขภาพ เสี่ยงที่จะเป็น โรคขาดสารไอโอดีน แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าร่างกายเรากำลังขาดสารไอโอดีน วันนี้ Hello คุณหมอ มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ สัญญาณของโรคขาดสารไอโอดีน มาฝากคุณผู้อ่านค่ะ

โรคขาดสารไอโอดีน เป็นอย่างไร

ไอโอดีน (Iodine) เป็นสารอาหารสำหรับร่างกายที่มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างการทำงานของระบบประสาทและสมอง ซึ่งถ้าร่างกายขาดสารไอโอดีนก็จะมีอาการตั้งแต่โรคคอพอก ปัญหาที่เกี่ยวกับไทรอยด์ รวมถึงมีผลต่อพัฒนาการทางการเรียนรู้ด้วย

หากคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ไม่รับประทานไอโอดีนในปริมาณที่เพียงพอทั้งต่อแม่และเด็ก ทารกที่เกิดมาก็เสี่ยงที่จะมีภาวะขาดไอโอดีนตั้งแต่กำเนิด ไปจนถึงมีพัฒนาการที่ช้า หรือเป็นโรคเอ๋อ อาการโดยรวมต่างๆ เหล่านี้อยู่ในหมวดหมู่ของอาการทางสุขภาพที่เรียกว่า โรคขาดสารไอโอดีน

สัญญาณของโรคขาดสารไอโอดีน มีอะไรบ้าง

มีอาการคอบวม

หากร่างกายขาดสารไอโอดีน อาการแรกๆ ที่มักจะเกิดขึ้นก็คือคอมีอาการบวมหรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ โรคคอพอก (Goiter) ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายมีสารไอโอดีนไม่เพียงพอที่จะผลิตไทรอยด์ฮอร์โมน และเมื่อต่อมไทรอยด์ไม่สามารถผลิตไทรอยด์ฮอร์โมนได้เพียงพอ ต่อมไทรอยด์ก็จำเป็นจะต้องทำงานอย่างหนักเพื่อผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ให้ทันต่อความต้องการของร่างกาย จนกระทั่งต่อมไทรอยด์เกิดอาการบวมโตขึ้นจากการทำงานหนัก จึงส่งผลให้บริเวณคอเกิดอาการบวมออกมาในที่สุด

น้ำหนักขึ้นและลงอย่างผิดปกติ

อาการขาดสารไอโอดีนนั้นมีผลโดยตรงต่อต่อมไทรอยด์ และเมื่อต่อมไทรอยด์มีปัญหา ระบบเผาผลาญก็จะเกิดปัญหาตามมาด้วย เนื่องจากฮอร์โมนไทรอยด์ทำหน้าที่ในการควบคุมระบบเผาผลาญ หากฮอร์โมนไทรอยด์อยู่ในระดับต่ำ ระบบเผาผลาญของร่างกายก็จะลดต่ำลงตามไปด้วย ทำให้ปริมาณแคลอรี่ในร่างกายเผาผลาญออกไปไม่หมดและกลายเป็นไขมันที่จะมีผลต่อการขึ้นลงของน้ำหนัก

ผมร่วง

ฮอร์โมนไทรอยด์ทำหน้าที่สำคัญหลายหน้าที่ต่อร่างกายอีกหนึ่งหน้าที่ก็คือการควบคุมการเจริญเติบโตของเส้นขน หากร่างกายมีฮอร์โมนไทรอยด์ในระดับต่ำ และเป็น โรคขาดสารไอโอดีน ก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาผมร่วงและยังส่งผลให้อัตราการงอกใหม่ของเส้นผมน้อยลงด้วยเหมือนกัน

รู้สึกหนาวมากกว่าปกติ

ร่างกายจะมีอาการไวต่อความเย็นมากขึ้นหากมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ลดต่ำลงเนื่องจากการมีสารไอโอดีนในร่างกายไม่เพียงพอ ทั้งนี้เพราะร่างกายเผาผลาญได้น้อยลง เมื่อเผาผลาญได้น้อยลง การผลิตความร้อนในร่างกายที่ได้จากการเผาผลาญก็ลดลงด้วย จึงทำให้เมื่อสัมผัสอากาศเย็นจะรู้สึกหนาวกว่าปกตินั่นเอง

อัตราการเต้นของหัวใจเกิดการเปลี่ยนแปลง

การขาดสารไอโอดีนของร่างกาย จะส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจเป็นไปได้ช้าลง หรือหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย และเป็นลมได้ง่ายขึ้นด้วย

มีปัญหาในเรื่องความจำ

ไอโอดีนเป็นสารอาหารสำคัญที่มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้และความจำ มีผลการวิจัยพบว่าผู้ที่มีระดับของไทรอยด์ฮอร์โมนในปริมาณที่สูง จะมีทักษะในการทำแบบทดสอบ หรือเรียนรู้ได้เร็ว เพราะฮอร์โมนไทรอยด์นั้นมีผลต่อสมองโดยตรง ดังนั้นผู้ที่มีระดับของฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ หรือเป็น โรคขาดสารไอโอดีน ก็จะมีพัฒนาการทางด้านการเรียนหรือความจำที่ช้ากว่า

เสี่ยงที่จะเกิดปัญหาขณะตั้งครรภ์

หากคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์มีสารไอโอดีนในร่างกายไม่เพียงพอก็จะส่งผลต่อเด็กที่อยู่ในครรภ์และต่อตัวของคุณแม่เองด้วย สำหรับเด็กนั้นจะมีผลต่อสมอง และพัฒนาการทางด้านการเรียนรู้ ส่วนคุณแม่นั้นก็จะรู้สึกอ่อนเพลียง่าย รู้สึกหนาวง่าย รวมถึงอาจรุนแรงถึงขั้นเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของเด็กในครรภ์ด้วย

ประจำเดือนมามากผิดปกติ

สำหรับผู้หญิงหากร่างกายมีภาวะของ โรคขาดสารไอโอดีน ก็อาจมีผลทำให้ประจำเดือนนั้นมีมากกว่าปกติ และเนื่องจากไอโอดีนมีความสัมพันธ์กับต่อมไทรอยด์ ถ้าหากขาดไอโอดีนก็จะทำให้ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ เมื่อระดับของฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ ก็จะเกิดการรบกวนฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมการมีประจำเดือน ดังนั้นเมื่อมีประจำเดือนก็อาจจะพบว่ามีประจำเดือนมากผิดปกติ

รู้สึกอ่อนเพลียง่าย

ฮอรโมนไทรอยด์เองก็ทำหน้าที่ในการสร้างพลังงานให้แก่ร่างกาย แต่ถ้าไทรอยด์ฮอร์โมนมีระดับต่ำลง พลังงานของร่างกายก็มีแนวโน้มจะลดลงด้วย ผู้ที่เป็น โรคขาดสารไอโอดีน จึงมักจะรู้สึกอ่อนเพลียง่ายขึ้นนั่นเอง

ผิวแห้งเป็นขุย

ไอโอดีนก็มีผลต่อเซลล์ผิวด้วย หากร่างกายขาดสารไอโอดีนเซลล์ผิวเกิดใหม่น้อยลง ฮอร์โมนไทรอยด์ที่ลดต่ำลงก็จะไปทำให้เหงื่อลดน้อยลง ความชุ่มชื้นของผิวก็จะลดลง จึงทำให้เกิดอาการผิวแห้งเป็นขุย

วิธีป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน

วิธีป้องกัน โรคขาดสารไอโอดีน อย่างง่ายที่สุดนั่นก็คือการเลือกรับประทานอาหารที่ให้สารไอโอดีน เช่น สาหร่ายทะเล มันฝรั่ง ผลิตภัณฑ์จากนม อาหารทะเล ปลาต่างๆ หรือที่ง่ายที่สุดก็คือเกลือเสริมไอโอดีน

นอกเหนือจากนี้ อาจจำเป็นต้องมีการรับประทานไอโอดีนในรูปแบบของอาหารเสริม ซึ่งโดยมากแล้วไม่ถือว่ามีความจำเป็น แต่ผู้ที่อาจจำเป็นจะต้องเพิ่มสารไอโอดีนด้วยวิธีนี้มีแนวโน้มที่จะเป็นกลุ่มของคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันไม่ให้ตนเองและทารกขาดสารไอโอดีน อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาคุณหมอ เภสัชกร และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนรับประทานอาหารเสริมไอโอดีนเสมอ

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Iodine Deficiency. https://www.thyroid.org/iodine-deficiency/. Accessed on June 23, 2020.

Are You Getting Enough Iodine?. https://www.webmd.com/vitamins-and-supplements/ss/slideshow-get-enough-iodine. Accessed on June 23, 2020.

10 Signs and Symptoms of Iodine Deficiency. https://www.healthline.com/nutrition/iodine-deficiency-symptoms#section1. Accessed on June 23, 2020.

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/06/2020

เขียนโดย Khongrit Somchai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattrakamol Chotevichean


บทความที่เกี่ยวข้อง

ต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism)

อาหารเพิ่มไอโอดีน สารอาหารสำคัญที่อย่ามองข้าม


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 24/06/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา