backup og meta

รวมเคล็ดลับ ลดน้ำหนักในที่ทำงาน สำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกาย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 29/05/2020

    รวมเคล็ดลับ ลดน้ำหนักในที่ทำงาน สำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกาย

    สำหรับคนวัยทำงาน การจะต้องแบ่งเวลาทั้งเวลาในการทำงาน และเวลาในการใช้ชีวิต อาจจะเป็นเรื่องที่ลำบาก และจัดการยากได้ บางคนอาจจะไม่มีเวลาที่จะออกกำลังกาย จนปล่อยให้สุขภาพทรุดโทรม น้ำหนักขึ้น และนำไปสู่การเกิดโรคร้ายในที่สุด บทความนี้จะมาแนะนำ เคล็ดลับในการ ลดน้ำหนักในที่ทำงาน สำหรับคนวัยทำงาน ที่ไม่ค่อยจะมีเวลาออกกำลังกายกันค่ะ

    เคล็ดลับการ ลดน้ำหนักในที่ทำงาน ที่ควรรู้

    เปลี่ยนจากขนมขบเคี้ยวมาเป็นโปรตีน

    ปกติแล้วขนมขบเคี้ยวที่เราจะมีติดโต๊ะทำงาน มักจะเป็นพวกขนมหรือของกินเล่นต่าง ๆ เช่น มันฝรั่งทอด ช็อกโกแลต หรือขนมหวานต่าง ๆ ซึ่งขนมขบเคี้ยวเหล่านี้จะเต็มไปด้วย โซเดียม ไขมัน และน้ำตาล ซึ่งเป็นตัวการร้ายที่ส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มกันทั้งสิ้น ดังนั้นคุณจึงควรเปลี่ยนจากการกินขนมขบเคี้ยวเหล่านั้น มาเป็นของทานเล่นที่อุดมไปด้วยโปรตีน เช่น ถั่ว ธัญพืช เมล็ดต่าง ๆ หรือแม้แต่ไข่ต้ม

    อาหารทานเล่นเหล่านี้ นอกจากจะอุดมไปด้วยโปรตีนที่ใช้เวลาในการย่อยนานกว่าคาร์โบไฮเดรต ทำให้เราอิ่มได้นานแล้ว ยังมีน้ำตาล ไขมัน และเกลือน้อยกว่าขนมขบเคี้ยวอื่น ๆ อีกด้วย

    ดื่มกาแฟดำ

    คนในวัยทำงานส่วนใหญ่มักจะต้องดื่มกาแฟทุกเช้า เพื่อช่วยให้ตื่นตัวและกระฉับกระเฉง แต่แทนที่จะดื่มกาแฟเย็นส่วนใหญ่ที่นิยมกันนั้นมักจะเป็นกาแฟนมที่ใส่ทั้งนมข้น น้ำตาล หรือครีมเทียม ที่มีคอเลสเตอรอลสูง เมื่อดื่มไปนาน ๆ เข้า อาจจะส่งผลให้กลายเป็นโรคอ้วนได้ ดังนั้นเราจึงควรหันมาเลือกดื่มกาแฟดำที่ไม่ใส่นมหรือครีมเทียม เพราะกาแฟดำนั้นจะมีแคลอรี่น้อยกว่านั่นเอง

    นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่พบว่า การดื่มกาแฟดำ สามารถช่วยในการลดน้ำหนักได้อีกด้วย เนื่องจากคาเฟอีนที่อยู่ในกาแฟนั้น สามารถเพิ่มการเผาผลาญพลังงานได้มากขึ้นอีก 3-11% และเพิ่มการเผาผลาญไขมันได้อีก 10-29% ขอเพียงแค่เราไม่เติมน้ำตาลหรือส่วนผสมที่มีแคลอรี่สูง การดื่มกาแฟดำก็จะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการลดน้ำหนักในที่ทำงาน

    เปลี่ยนจากลิฟต์มาเป็นบันได

    สำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเวลาในการออกกำลังกาย เราสามารถหาโอกาสในการขยับร่างกาย เพิ่มการเผาผลาญพลังงานในที่ทำงานได้ง่าย ๆ เพียงแค่การเปลี่ยนจากขึ้นลงด้วยลิฟต์ มาเป็นการเดินขึ้นลงบันไดแทน การเดินขึ้นบันได 1 นาที สามารถช่วยเผาผลาญพลังงานไปได้ประมาณ 10 กิโลแคลอรี่

    นอกจากนี้ การเดินขึ้นบันไดยังช่วยให้กล้ามเนื้อส่วนล่างของร่างกาย เช่น สะโพก ต้นขา และน่อง แข็งแรงและกระชับมากขึ้น แถมยังทำให้หัวใจได้สูบฉีดเลือด ทำให้สุขภาพของหัวใจแข็งแรงขึ้นอีกด้วย

    ดื่มน้ำเปล่าให้มากๆ

    การดื่มน้ำมากประมาณวันละ 2.7 ลิตร สามารถช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงานของร่างกายได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยในเรื่องของระบบการย่อยอาหารและระบบขับถ่าย ช่วยป้องกันอาการท้องผูก และช่วยรักษาความสมดุลของระดับอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) ในร่างกาย มีส่วนช่วยในการลดน้ำหนัก อีกทั้งการดื่มน้ำมาก ๆ นั้นยังทำให้เรารู้สึกอิ่ม และลดปริมาณของขนมที่เรากินในระหว่างวันได้อีกด้วย

    แต่อย่างไรก็ตาม การดื่มน้ำมากกว่า 3-4 ลิตรในช่วงเวลาติด ๆ กัน อาจทำให้เกิดภาวะน้ำเป็นพิษ ซึ่งมีอาการคือ ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ตัวบวม ง่วงนอน หรือหมดสติ และอาจถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น เราจึงควรค่อย ๆ จิบน้ำไปเรื่อย ๆ ตลอดวัน อย่าดื่มน้ำมาก ๆ ในคราวเดียว

    พกข้าวกล่องมาเอง

    การทำอาหารหรือพกข้าวกล่องมากินเองในที่ทำงาน จะทำให้เราสามารถกำหนดแคลอรี่ที่ได้รับจากอาหารง่ายกว่าการออกไปกินข้าวข้างนอก เพราะเราสามารถเลือกวัตถุดิบ เครื่องปรุง และวิธีการการประกอบอาหารได้ด้วยตัวเอง ทำให้เรารู้ว่าในมื้อนั้นเราได้รับพลังงานทั้งหมดกี่แคลอรี่ มีไขมันมากน้อยแค่ไหน และใส่น้ำตาลหรือเกลือเยอะเกินไปหรือเปล่า

    เพื่อผลลัพธ์ในการลดน้ำหนักในที่ทำงานที่ดีที่สุด เราควรเลือกเมนูอาหารคลีนที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ มีไขมันน้อย และพยายามปรุงให้น้อยที่สุด เช่น เลือกใช้ข้าวกล้องแทนข้าวขาว เลือกกินเนื้อปลาแทนเนื้อสัตว์อื่น ๆ และพยายามเลือกใช้วิธีการต้มหรือการนึ่ง แทนการทอด เพื่อลดปริมาณของแคลอรี่ที่เราจะได้รับ

    เคล็ดลับในการลดน้ำหนักที่ทำงานเหล่านี้ ถือเป็นแนวทางที่อาจมีประโยชน์สำหรับผู้ที่ตารางเวลาแน่นจนไม่มีเวลาในการออกกำลังกายอย่างจริงจัง คุณเองก็สามารถเลือกวิธีที่สะดวกในการนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 29/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา