backup og meta

เปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่ กับ 7 เคล็ดลับง่าย ๆ ที่ทำแล้วดี มีความสุข

เปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่ กับ 7 เคล็ดลับง่าย ๆ ที่ทำแล้วดี มีความสุข

หนึ่งปี (กำลังจะ) ผ่านไป ไวเหมือนโกหก เมื่อมานั่งนึกย้อนคิดทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมาตลอดทั้งปี ซึ่งก็มีทั้งวันที่ดี วันแย่ ๆ หรือวันร้าย ๆ ที่ทำให้ใจหมองอยู่ไม่น้อย และเมื่อปีใหม่กำลังจะมาถึง หลายคนก็อาจจะเริ่มตั้งเป้าหมายใหม่  เปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้น  หรือสร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ บ้าง และแน่นอนว่าความสุขของเราควรจะเริ่มจากตัวเราเองก่อน วันนี้ Hello คุณหมอ มีเคล็ดลับ เปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่ ให้มีความสุขมาฝากค่ะ

7 เคล็ดลับ เปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่ มีอะไรบ้าง

1. นอนหลับให้เพียงพอ

เคยมีคำกล่าวว่า “การตัดสินใจที่ดี มาจากการนอนที่ดี’ เพราะการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอเป็นเสมือนที่ชาร์ตแบตร่างกายประจำวัน ถ้านอนเต็มอิ่มก็จะไม่อ่อนเพลีย หรือง่วงนอนระหว่างวัน มีพลังเต็มเปี่ยมในการออกไปทำกิจกรรมต่าง ๆ มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งรอบตัวมากขึ้น ตัดสินใจสิ่งต่าง ๆ ได้ถี่ถ้วนขึ้น ทั้งยังช่วยให้ระบบภายในร่างกายทำงานได้เป็นปกติ ไม่โหมหนักจนเกิดอันตรายต่อสุขภาพในภายหลังด้วย อย่างไรก็ตาม

แม้จะพูดง่าย แต่เวลาทำนั้นยากเหลือแสน เพราะเรามักจะต้องมีกิจกรรมที่มาคั่นแบ่งเวลานอนของเราออกไปเสมอ ลอง เปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้น ตั้งเป้าหมายใหม่ว่าฉันจะนอนให้มากขึ้น นอนให้เพียงพอ อย่างน้อย ๆ ควรจะนอนหลับให้ได้ 7-8 ชั่วโมงในแต่ละคืน และควรจะเข้านอนแต่หัววัน ไม่นอนดึก หรือละเลยหากไม่จำเป็น

2. ดูแลตัวเองให้มากขึ้น

ปีที่ผ่านมา ทำร้ายตัวเองมากไปหรือเปล่า เครียดไปไหม สุขภาพแย่ลงกว่าปีก่อนหรือไม่ เมื่อถามคำถามนี้กับตัวเองเสร็จแล้ว ก็อาจจะพบว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่มีเหตุปัจจัยที่มากจากผู้อื่นและตัวเราเอง ปัจจัยจากคนอื่นอาจจะเป็นเรื่องที่เหนือการควบคุม เข้ามาโดยที่เราไม่ทันได้เตรียมใจ แต่ปัจจัยจากตัวเองนี่สิ เป็นเรื่องที่เราควรจะควบคุมและจัดการได้

หลายคนอาจปล่อยปละละเลยตัวเอง นอนน้อย ไม่ออกกำลังกาย กินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ทำงานหนักเกินไปจนไม่พักเลย หรืออาจจะใช้จ่ายจนขาดดุล ทำให้เป็นหนี้เป็นสินตามมา เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดทั้งปัญหาสุขภาพกายและใจ บังเกิดความเครียดและความท้อแท้ไม่รู้จบสิ้น

ดังนั้น เราลองมาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตกันใหม่ ใส่ใจตัวเองให้มากขึ้นหน่อย เช่น เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับให้มากขึ้น วางแผนการทำงานให้ลงตัวกว่าปีที่ผ่านมา ไปเสริมสวยบ้าง ทำสีผมใหม่ สปาหน้า สปาผิว หรือจะผ่อนคลายตัวเองให้มากขึ้น ด้วยการไปดูหนัง ฟังเพลง หรือไปเที่ยวบ้างก็เป็นวิธีที่ดีไม่น้อย พยายามให้ความสุขกับตัวเองบ้างเท่าที่จะทำได้ ดูแลตัวเองให้มากขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดความเครียดสะสม จนอาจจะนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงในอนาคต

3. ปล่อยวางจากโซเชียลมีเดียบ้าง

ทุกวันนี้อุปกรณ์ดิจิตอลทั้งหลายทั้งปวงอยู่กับเราแทบจะตลอดเวลา จนเกือบจะกลายเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 ของเราไปแล้ว จะกิน จะนอน เข้าห้องน้ำ แม้แต่ตอนดูซีรีส์ที่ควรจะจดจ่อกับตัวละครในจอโทรทัศน์หรือจอคอมพิวเตอร์ เราก็ยังหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาบ่อย ๆ จนบางทีเราก็แทบไม่รู้ตัวเองเลยว่าได้กลายเป็นคนเสพติดสื่อโซเชียลมีเดียไปแล้ว

ลองเปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้น ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบ โซเชียลมีเดีย ดีท็อกซ์  (Social Media Detox) กันดูบ้าง วางมือจากสมาร์ทโฟน แล้วหากิจกรรมอย่างอื่นทำให้มากขึ้น อาจจะเป็นการอ่านหนังสือ ไปเข้าคอร์สเรียนเต้น เวิร์คช้อปทำกิจกรรมต่าง ๆ จัดสวนหลังบ้าน หรือจะนอนงีบก็ยังได้ ขอแค่ใช้เวลาทำอย่างอื่นให้มากขึ้นบ้าง มีกิจกรรมอื่นที่ไม่ใช่นั่งจมอยู่กับจอสมาร์ทโฟนทั้งวันบ้าง บางทีกิจกรรมออฟไลน์ใกล้ตัว ก็อาจช่วยฟื้นฟูสุขภาพจิตและก่อเกิดไอเดียหรือความรู้สึกดีมากขึ้นกว่าที่คิด และยังช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายสุขภาพจิตมากขึ้นด้วย

4. พัฒนาจุดแข็ง

เราทุกคนล้วนแล้วแต่มีไฟและความปรารถนาอย่างแรงกล้าอยู่ในตัวเอง หรือที่มักจะคุ้นเคยกันกับคำว่า “แพชชั่น (Passion)” ซึ่งแน่นอนว่าคนเราทุกคนมีแพชชั่น มีความถนัด และความสนใจที่แตกต่างกันไป แม้แต่คนที่ไม่รู้สึกว่าตัวเองชอบอะไรเลยในชีวิตนี้ ก็จะต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่ให้ความสนใจมากเป็นพิเศษอยู่ดี หากสามารถค้นหาตัวเองเจอ และมีสิ่งที่ชอบทำเป็นพิเศษ ลองใช้เวลากับสิ่งเหล่านั้นให้มากขึ้นสิ พัฒนาจุดแข็งที่มีอยู่ให้ดีกว่าเดิม

ถ้าหากเป็นสายศิลปะ ชอบวาดภาพ ลองวาดภาพให้มากขึ้น หรือแบ่งปันฝีมือการวาดให้มากกว่าเดิม หรือถ้าหากเล่นดนตรีได้ดี ก็ลองเล่นให้มากขึ้นกว่าเดิม กีตาร์ตัวเก่าที่เก็บเข้ากรุไปนานปี ถึงเวลาปัดฝุ่นเสียที

5. คิดก่อนพูด

แม้จะเป็นคำคมง่าย ๆ ที่แสนจะคมคายและมีความหมายที่ดี แต่ในแง่ของการปฏิบัตินั้น เรามักจะหลงลืมอยู่เสมอว่าก่อนจะพูดอะไรออกไปเราควรที่จะคิด เรียบเรียง และคำนึงถึงที่มาที่ไป ตลอดจนผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากพูดออกไปแล้วให้ดีเสียก่อน เพราะคำพูดแค่เพียงไม่กี่คำ สามารถทำร้ายจิตใจคนฟังได้มากกว่าที่คิด บางครั้งคนพูดไม่คิดอะไร แต่คนฟังได้ยินแล้วเจ็บปวดจนยากจะก้าวผ่าน

หากรู้สึกว่าเรามักจะพูดห้วน ๆ ตะคอก กระแทกแดกดัน หรือมักจะพูดเล่นแล้วจบประโยคด้วยคำว่า “ล้อเล่นน้า” ลองปรับการพูดใหม่ เปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้น และเอาตัวเองออกมาจากข้ออ้างที่ว่า “ก็ฉันเป็นคนแบบนี้ ฉันพูดแบบนี้มาตั้งนานแล้ว” ก็ลองคิดให้มากขึ้นก่อนที่จะพูดอะไรออกไป เพื่อไม่ให้คำพูดของเราทำร้ายคนฟัง และเพื่อไม่ให้คำพูดนั้นย้อนกลับมาทำร้ายเราในภายหลังด้วย และถึงแม้เราจะเป็นคนนิสัยแบบนี้อยู่แล้ว แต่เราเองก็สามารถเป็นคนที่ดีขึ้นได้อีก

6. คำนึงถึงคนอื่นให้มากขึ้น

ไม่ผิดที่เราจะรักตัวเอง และแน่นอนว่าทุกคนควรจะรักตัวเอง อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องห้ามคิดถึงผู้อื่น ไม่ควรลืมว่าทุกการกระทำของเรานั้นไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อตัวเราเอง แต่ยังส่งผลกระทบไปถึงคนอื่นด้วย หากเป็นเรื่องดี ๆ ผู้อื่นย่อมจะได้รับความรู้สึกดี ๆ จากสิ่งที่เราทำด้วย แต่ถ้าสิ่งที่เราทำนั้นเป็นผลในด้านลบ เช่น การตะคอก เหวี่ยงวีน แซงคิว การขับรถแล้วไม่เปิดไฟเลี้ยว การขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า สิ่งเหล่านี้แม้จะทำโดยไม่ได้ตั้งใจให้กระทบกับผู้อื่น แต่การกระทำของเราก็ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ก่อนจะตัดสินใจทำอะไร หรือคิดอะไร ควรคำนึงถึงตัวเองและผู้อื่นให้มากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างบาดแผลในใจผู้อื่น และป้องกันผลกระทบไม่ดีที่อาจจะวกกลับมาหาตัวเราเองด้วย

7. ให้อภัยตัวเองหน่อย

คนเราเวลาทำผิด ทำพลาด แล้วเกิดความผิดหวัง ความเสียใจตามมา หลายคนมักจะโทษตัวเอง ว่าฉันนี่แหละเป็นต้นเหตุของเรื่องนั้น แต่คนเราไม่มีใครถูกไปเสียหมด ไม่มีใครสมหวังไปซะทุกอย่าง ผิดหวังบ้าง พลาดบ้าง ก็เป็นธรรมดาของชีวิต แต่เมื่อเจ็บแล้ว เสียใจแล้ว ก็ต้องปล่อยวาง รู้จักที่จะให้อภัยตัวเองบ้าง เพราะถ้าหากเราให้อภัยใครต่อใครที่ทำผิดกับเราได้ แล้วทำไมเราถึงจะใจร้ายไม่ให้อภัยตัวเองล่ะ การให้อภัยตัวเองไม่ได้หมายความว่าเราเมินเฉยต่อความไม่สมหวัง หรือไม่สนใจต่อความผิดพลาด แต่เป็นการให้กำลังใจตนเองได้ก้าวเดินต่อไป อาจจะใช้เวลานานสักหน่อย แต่ก็ให้เวลาได้ทำหน้าที่ของมันในการเยียวยาความเสียใจของเราให้หายดี

เคล็ดลับเหล่านี้ เป็นวิธีเริ่มต้นปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตแบบง่าย ๆ ที่รู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ถ้าหากปีที่ผ่านมายังไม่มีโอกาสได้ทำ งั้นเรามาลองตั้งเป้าหมายใหม่ เปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้น เริ่มตั้งแต่วันนี้ หรือปีใหม่ที่ใกล้จะถึงนี้ แม้ว่าอาจจะทำไม่ได้ครบทุกข้อ แต่อย่างน้อยจะต้องมีสักหนึ่งข้อที่ทำแล้วมีความสุขขึ้นอย่างแน่นอน

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

How to Become a Better Person. https://www.verywellmind.com/how-to-be-a-better-person-4167628. Accessed on November 25, 2020.

How to Become a Better Person in 12 Steps. https://www.healthline.com/health/how-to-be-a-better-person. Accessed on November 25, 2020.

8 Steps To Becoming A Better Person. https://www.everydayhealth.com/healthy-living/8-steps-becoming-better-person/. Accessed on November 25, 2020.

เวอร์ชันปัจจุบัน

26/11/2020

เขียนโดย Khongrit Somchai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคไวรัสตับอักเสบบี คือโรคอะไร ใครควรได้รับวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี

ย้ายบ้าน ย้ายงานใหม่ มีวิธีปรับตัวอย่างไร เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 26/11/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา