ความแก่ชราเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เมื่อเราแก่ตัวลง สุขภาพก็ย่อมเสื่อมไปตามวัย และสุขภาพที่เสื่อมถอยลงเรื่อยๆ นี้ ก็ส่งผลต่อการดำรงชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุไม่น้อยเลยทีเดียว ยิ่งหากผู้สูงอายุคนไหนไม่ค่อยใส่ใจสุขภาพ หรือไม่มีลูกหลานช่วยดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ ก็จะยิ่งทำให้สุขภาพแย่ลงรวดเร็วขึ้นไปอีก ฉะนั้น หากผู้สูงอายุ อยากมีชีวิตอยู่ได้ยาวนานขึ้น และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติ ก็ต้องดูแลสุขภาพให้ดี ด้วยเคล็ดลับใน การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ง่ายๆ ที่ Hello คุณหมอ นำมาฝาก
เมื่อสูงวัย สุขภาพจะเปลี่ยนแปลงยังไงบ้าง
ปัญหาสุขภาพที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ต้องประสบนั้นมีมากมาย เช่น การสูญเสียการได้ยิน ภาวะสายตาผิดปกติ ต้อกระจก ปวดเมื่อยทั่วร่างกายโดยเฉพาะบริเวณหลัง โรคข้อเสื่อม โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease หรือ COPD) โรคเบาหวาน โรคซึมเศร้า ภาวะสมองเสื่อม และปัญหาสุขภาพหลายๆ อย่างก็มักเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันด้วย
นอกจากนี้ เมื่ออายุมากขึ้น ก็ยังมีภาวะสุขภาพซ้ำซ้อน ที่มักเกิดกับกลุ่มผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เรียกว่า กลุ่มโรคเฉพาะในผู้สูงอายุ หรือกลุ่มอาการผู้สูงอายุ (geriatric syndrome) เช่น ภาวะหกล้มซ้ำซ้อน ภาวะแผลกดทับ ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ภาวะสูญเสียความสามารถในการเดิน ภาวะเพ้อคลั่ง ภาวะทุพโภชนาการ ความบกพร่องทางสติปัญญา การเกิดผลข้างเคียงเนื่องจากการใช้ยา ทั้งตัวผู้สูงอายุเองและลูกหลาน ผู้ดูแล จึงต้องใส่ใจในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุให้ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพแข็งแรง มีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพน้อยลง
เคล็ดลับง่ายๆ ใน การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ
เลิกบุหรี่
บุหรี่เป็นตัวการของปัญหาสุขภาพนานัปการ โดยเฉพาะโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะหัวใจล้มเหลว รวมไปถึงภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) ที่นำไปสู่การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Erectile Dysfunction) หรือการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศที่ผู้ชายส่วนใหญ่กลัวกันนักหนา และไม่ใช่แค่นั้น บุหรี่ยังทำลายความยืดหยุ่นของผิว ยิ่งสูบหน้ายิ่งเหี่ยว ริ้วรอยถามหา เรียกได้ว่ามีแต่เสียกับเสีย ฉะนั้น หากอยากแก่สูงอายุแบบสุขภาพดี สิ่งแรกที่ควรทำให้ได้เลยก็คือ เลิกบุหรี่ให้เด็ดขาด
กินดีมีประโยชน์
ผู้สูงอายุควรกินอาหารให้หลากหลาย ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน ระบบภูมิคุ้มกันจะได้ทำงานได้อย่างเป็นปกติ โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ไร้ไขมัน ผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด เพราะนอกจากจะอุดมไปด้วยไฟเบอร์ ช่วยเพิ่มกากใย ป้องกันท้องผูกและปัญหาเกี่ยวกับลำไส้แล้ว ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยไม่ให้เซลล์ถูกทำลาย ร่างกายจะได้แข็งแรงอยู่เสมอ และควรลดหรืองดการบริโภคอาหารหวาน อาหารมัน เพราะจะไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบในร่างกาย และทำให้ระบบภูมิคุ้มกันมีปัญหา
นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังควรได้รับแคลเซียมให้เพียงพอ จะได้ป้องกันโรคกระดูกพรุน และช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก และควรดื่มน้ำให้มากๆ ด้วย เพื่อป้องกันปัญหาในการขับถ่าย ทั้งยังทำให้รู้สึกกระชุ่มกระชวย ตื่นตัว และป้องกันภาวะขาดน้ำที่มักเกิดในผู้สูงอายุ
ออกกำลังกายเป็นประจำ
การออกกำลังกาย จะช่วยให้สุขภาพแข็งแรง มีพลังงาน กระชุ่มกระชวย ช่วยกระตุ้นความจำและระบบภูมิคุ้มกัน ทั้งยังป้องกันโรคซึมเศร้าได้ด้วย ผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายหนักหน่วงอะไร เพียงแค่ออกกำลังกายเบาๆ เช่น ปั่นจักรยาน เดิน ว่ายน้ำ แอโรคบิกแบบแรงกระแทกต่ำ เล่นโยคะ หรือแม้แต่การทำสวน ให้ได้วันละ 20-30 นาที หรือสัปดาห์ละ 150 นาที ก็ส่งผลดีต่อร่างกายทั้งสิ้น
ใส่ใจเรื่องน้ำหนักตัว
เมื่อแก่ตัวขึ้น คนเรามักเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ทำให้เสี่ยงน้ำหนักเกิน ซึ่งอาจส่งผลให้เป็นโรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวานได้ง่ายขึ้น แต่หากกินน้อย หรือรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ก็อาจส่งผลให้มีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์จนเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนได้เช่นกัน ผู้สูงอายุจึงควรรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกฑณ์สุขภาพดี หากไม่แน่ใจว่าดัชนีมวลกายเท่าใดถึงจะเหมาะสม คุณก็สามารถปรึกษาแพทย์ได้
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
โรคนอนไม่หลับและตื่นกลางดึกบ่อยๆ เป็นปัญหาในการนอนหลับที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และสามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงกว่าได้ หากผู้สูงอายุอยากนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ก็เริ่มได้ง่ายๆ ด้วยการปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการนอน เช่น นอนในห้องที่มืดสนิท เย็นสบาย อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไร้เสียงรบกวน อย่ากินอาหารมื้อหนัก หรือดื่มเครื่องดื่มมากเกินไป จะได้ไม่มีปัญหาอยากขับถ่ายกลางดึก หรือแน่นท้องจนนอนไม่หลับ
ล้างมือบ่อยๆ
การล้างมือถือเป็นวิธีรักษาสุขภาพเบื้องต้นที่ควรทำให้ติดเป็นนิสัย ผู้สูงอายุและคนรอบข้างจึงควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ โดยถูมือและนิ้วอย่างน้อย 20 วินาที ให้สะอาดหมดจด โดยเฉพาะหลังใช้ห้องน้ำ และก่อน-หลัง รับประทานอาหาร และหลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า จมูก ปาก เพื่อลดความเสี่ยงที่เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกาย และควรพกผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ เช่น เจลล้างมือ ติดตัวเสมอ จะได้ทำความสะอาดมือได้ทุกเวลาที่ต้องการ
รู้จักจัดการความเครียด
ความเครียดสะสมหรือความเครียดเรื้อรัง จะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียดอย่างคอร์ติโซลมากขึ้น ระดับคอร์ติซอลที่สูงขึ้นจะไปขัดขวางการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันด้วย ผู้สูงอายุจึงควรนอนหลับให้เพียงพอ ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ มองโลกในแง่ดี และมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง จะได้ช่วยผ่อนคลายความเครียด ไม่เกิดความเครียดสะสม
กินอาหารเสริมหากจำเป็น
อาหารเสริมบางประเภทก็สามารถช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันได้ แต่ก่อนที่จะให้ผู้สูงอายุกินอาหารเสริม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง โดยเฉพาะหากผู้สูงอายุอยู่ระหว่างใช้ยารักษาโรคตามแพทย์สั่ง เพราะอาหารเสริมอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้หากกินมากเกินไป โดยอาหารเสริมที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ เช่น แคลเซียม วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 วิตามินดี
ตรวจร่างกายเป็นประจำ
ผู้สูงอายุควรเข้ารับการตรวจร่างกายเป็นประจำ ตามรายการการตรวจเช็ก และระยะเวลาที่เหมาะสมกับช่วงวัยของตัวเอง การตรวจร่างกายจะช่วยให้ผู้สูงอายุและผู้ดูแลทราบได้ว่า การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในช่วงที่ผ่านมานั้นถูกต้องหรือเหมาะสมหรือยัง ต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้างหรือไม่ และหากมีปัญหาสุขภาพ ก็จะได้รู้ตั้งแต่เนิ่นๆ และได้เข้ารับการรักษาทัน
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmi]