backup og meta

8 นิสัยแย่ๆ ที่คุณไม่ควรทำในช่วงเวลา ก่อนนอน เด็ดขาด

8 นิสัยแย่ๆ ที่คุณไม่ควรทำในช่วงเวลา ก่อนนอน เด็ดขาด

เชื่อว่าหลายๆ คนนั้นอาจจะมีนิสัยแย่ๆ ที่ชอบทำกัน ก่อนนอน แต่รู้หรือไม่ว่า นิสัยแย่ๆ เหล่านี้ อาจจะเป็นตัวการสำคัญที่บั่นทอนสุขภาพของเราได้ เพราะการนอนหลับพักผ่อนนั้นเป็นช่วงเวลาที่ช่วยให้ร่างกายของเรา สามารถซ่อมแซมและเสริมสร้างกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย ช่วยให้สมองได้รวบรวมสิ่งที่เราเรียนรู้ แล้วเก็บเป็นความจำเอาไว้ และช่วยให้ฮอร์โมน การเต้นของหัวใจ ระบบต่างๆในร่างกายได้ทำงานช้าลง

แต่หากเรานอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือนอนหลับอย่างไม่มีคุณภาพ ก็อาจส่งผลให้ระบบต่างๆในร่างกายเกิดความรวนเร อย่างเช่น ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง หรือระบบเผาผลาญทำงานผิดปกติ ฉะนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการซ่อมแซมตัวเองให้กับร่างกาย คุณก็ควรหยุดทำนิสัยแย่ๆ เหล่านี้ในช่วงเวลาก่อนเข้านอน

1. ดูทีวี ก่อนนอน

ช่วงเวลาก่อนนอนมักเป็นช่วงเวลาที่เรามักจะได้ดูทีวีหลังจากเหนื่อยล้ามาทั้งวัน และคนส่วนใหญ่ก็มักจะดูทีวีจนผลอยหลับไปเองนั่นแหละ แต่พอถึงเวลาที่จะขึ้นเตียงนอนจริงๆ ก็กลับตาสว่างจนข่มตาให้หลับได้ยาก ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะการดูทีวีในช่วงเวลาก่อนเข้านอน (หรือที่ร้ายกว่านั้นคือการดูทีวีทั้งคืน) ทำให้แสงสีฟ้าจากจอทีวีรบกวนการทำงานของฮอร์โมนเมลาโทนิน ส่งผลให้เราไม่รู้สึกอยากนอน นอกจากนี้เราควรให้เวลาสมองและจิตใจได้เตรียมตัวพักผ่อนด้วย การดูทีวีในช่วงเวลาก่อนเข้านอน อาจทำให้เราต้องขบคิดอะไรจนนอนไม่หลับก็ได้

2. ใช้มือถือหรือคอมพิวเตอร์

การใช้มือถือหรือคอมพิวเตอร์ก่อนนอนนั้นคล้ายกับการดูทีวีก่อนนอน เพราะทั้งจอมือถือและจอคอมพิวเตอร์ก็ปล่อยแสงสีฟ้าออกมารบกวนการทำงานของฮอร์โมนเมลาโทนินเช่นกัน ซึ่งตอนนี้มีหลายบริษัทได้คิดค้นตัวกั้นแสงสีฟ้าให้กับอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์พวกนี้ได้แล้ว ทำให้เราสามารถนอนหลักพักผ่อนกันอย่างมีคุณภาพมากขึ้น แต่ถ้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของคุณยังไม่มีตัวกั้นแสงสีฟ้าที่ว่านี้ ก็อาจจะต้องใช้วิธีปรับแสงให้มืดลง ก็อาจจะพอจะช่วยได้บ้าง

3. อ่านนิยายสยองขวัญ

ถึงแม้การอ่านหนังสือก่อนนอนนั้น จะช่วยทดแทนการดูทีวีหรือเล่นมือถือให้คุณได้เป็นอย่างดี แต่ต้องพิจารณาดูด้วยนะว่าหนังสือที่อ่านอยู่นั้นเป็นเรื่องอะไร ถ้าเป็นนิยายรักโรแมนติก หรือหนังสือการพัฒนาตนเอง ก็อาจช่วยกล่อมร่างกายและสมองให้พร้อมสำหรับการเข้านอนได้ แต่ถ้าคุณอ่านอะไรที่ชวนให้ตื่นเต้น หรือมีความสยองขวัญสั่นประสาทล่ะก็ ก็อาจทำให้ร่างกายและสมองของเราเกิดความตึงเครียด จนอาจทำให้ต้องนอนตาค้างไปทั้งคืนก็ได้

4. กินอาหารรอบดึก

ผู้คนในยุคนี้มักต้องเจอกับเรื่องวุ่นวายในแต่ละวัน โดยเฉพาะเมื่อมีลูกหรือต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ (หรือทั้งสองอย่าง) พอมารู้ตัวอีกทีก็สามทุ่มเข้าไปแล้ว แต่ยังไม่มีอะไรตกถึงท้องเลย แต่การกินอาหารในช่วงเวลาก่อนเข้านอนนั้น ไม่ได้ส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายเลยนะ เพราะนอกจากจะทำให้เกิดโรคอ้วนตามมาแล้ว ผลการศึกษาวิจัยยังระบุด้วยว่า การกินอาหารกลางดึกบ่อยๆ อาจนำไปสู่อาการกินไม่หยุดได้

นอกจากนี้อาหารที่มีคาเฟอีนหรือน้ำตาลซ่อนอยู่ อย่างเช่น ช็อกโกแลต อาจทำให้คุณรู้สึกตาสว่างไปทั้งคืน ทั้งๆ ที่หลีกเลี่ยงกาแฟรอบดึกแล้วก็ตาม แถมการกินอาหารในช่วงเวลก่อนเข้านอน ยังก่อให้เกิดโรคกรดไหลย้อนซึ่งพบได้บ่อยๆด้วย ซึ่งถ้าจำเป็นต้องกินในเวลานั้นจริงๆ ก็ควรเป็นอะไรที่ย่อยง่าย และควรกินในปริมาณน้อยๆ

5. ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

ขนาดช็อกโกแล็ตที่มีคาเฟอีนและน้ำตาลแอบแฝง ยังทำให้เรานอนตาค้างได้ แล้วนับประสาอะไรกับการดื่มชากาแฟในช่วงเวลาก่อนเข้านอน เพราะเรารู้กันดีกันอยู่แล้วนี่ว่าเครื่องดื่มพวกนี้มีคาเฟอีนแบบไม่ต้องแอบต้องซ่อนกันเลย จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมเราถึงไม่ยอมง่วงกันเมื่อถึงเวลาต้องนอนแล้ว งานวิจัยชิ้นนึงแสดงให้เห็นว่า คาเฟอีนนอกจากจะทำให้หลับได้ยากแล้ว ยังทำให้หลับได้ไม่ลึกด้วย ซึ่งนั่นอาจจะนำไปสู่อาการอ่อนเพลียหลังตื่นนอน และทำให้ต้องเติมคาเฟอีนเข้าสู่ร่างกายหลังตื่นนอนทันที งานวิจัยยังพบอีกด้วยว่าถึงแม้ว่าเราจะดื่มกาแฟในช่วงก่อนเข้านอนถึง 6 ชั่วโมง ฤทธิ์ของคาเฟอีนก็ยังทำให้การนอนหลับในตอนกลางคืนลดลงมากกว่าหนึ่งชั่วโมง ฉะนั้นทางที่ดีหลังสี่โมงเย็นก็ไม่ควรดื่มกาแฟแล้ว

6. ออกกำลังกาย

ถึงแม้ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับจะแนะนำให้ออกกำลังกายทุกวัน เพื่อช่วยให้สามารถนอนหลับได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น แต่การออกกำลังกายในช่วงเวลาก่อนเข้านอนนั้นเป็นอะไรที่ห้ามเด็ดขาด เนื่องจากการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายหลังสารอะดรีนาลีนออกมา แล้วยังทำให้หัวใจเต้นแรงและเร็วขึ้นด้วย ซึ่งนั่นจะไม่ชวนให้เรารู้สึกง่วงนอนขึ้นมาได้เลย แต่ถ้าคุณจำเป็นออกกำลังกายในช่วงดึกๆจริงๆ ผู้เชี่ยวชาญก็แนะให้อาบน้ำเย็น เพื่อให้ร่างกายสามารถลดอุณหภูมิลงในระดับปกติ นอกจากนี้การสูดหายใจเข้าออกลึกๆ ก็ช่วยให้สารอะดรีนาลีนในร่างกายลดลงได้ด้วย

7. ห้องร้อนเกินไป

แน่นอนว่าการปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้อยู่ในราวๆ 25 องศาเซลเซียสนั้น จะช่วยให้เราสามารถประหยัดไฟได้อย่างมหาศาล แถมยังช่วยลดโลกร้อนได้แบบน่าชื่นชมด้วย แต่การลดอุณหภูมิให้เย็นลงอีกนิดนึง น่าจะส่งผลดีต่อการนอนหลับของคุณมากกว่านะ เพราะงานวิจัยชิ้นนึงแสดงให้เห็นว่า การนอนหลับจะมีคุณภาพมากขึ้นในช่วงร่างกายลดความร้อนลง ซึ่งร่างกายจะทำอย่างนั้นไม่ได้ถ้าตั้งอุณหภูมิในห้องไว้สูงเกิน

8. เปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวัน

มีการพิสูจน์กันมาแล้วนะว่าการจัดทำตารางกิจวัตรที่ต้องทำในตอนกลางคืนนั้น มีประโยชน์ต่อผู้คนในทุกเพศและวัย เนื่องจากตารางกิจวัตรพวกนี้จะช่วยส่งสัญญาณให้สมองรับรู้ได้ว่า ถึงเวลาต้องกล่อมร่างกายและจิตใจให้พร้อมสำหรับการนอนหลับแล้ว อย่างเช่น การกระโดดขึ้นเตียงในเวลาเดิมๆทุกวัน นอกจากนี้การอาบน้ำ แปรงฟัน หรือกิจวัตรที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายต่างๆ ก็จะช่วยส่งสัญญาณเตือนได้แบบเดียวกัน แต่ถ้าคุณเปลี่ยนแปลงกิจวัตรพวกนี้ขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็จะทำให้รู้สึกง่วงได้ยากขึ้น

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

things you should never ever do right before bed http://www.thelist.com/40737/things-to-avoid-doing-right-before-bed/ Accessed on June 6, 2018

Do You Have Healthy Sleep Habits?. https://www.webmd.com/sleep-disorders/healthy-sleep-habits. Accessed 27 August 2019.

Better sleep means better health … https://www.health.harvard.edu/staying-healthy/better-sleep-means-better-health-. Accessed 27 August 2019

10 Ways to Reset Your Sleep Cycle. https://www.webmd.com/sleep-disorders/features/reset-sleep-cycle#2. Accessed 27 August 2019.

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Chayawee Limthavornrak


บทความที่เกี่ยวข้อง

กินแล้วนอน อันตรายต่อสุขภาพที่อาจคาดไม่ถึง

ตื่นนอนแล้วเพลีย อาจเกิดมาจากปัจจัยที่คุณคาดไม่ถึงพวกนี้


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา