โรคคอตีบ หรือ คอตีบ (Diphtheria) คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดร้ายแรง และส่งผลต่อเยื่อเมือกในลำคอ และจมูก จัดเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่งที่สามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้ง่ายผ่านทางการไอ จาม สัมผัสโดยตรงกับผู้ติดเชื้อคอตีบ
คำนิยาม
คอตีบ คืออะไร
โรคคอตีบ หรือคอตีบ (Diphtheria) คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดร้ายแรง ส่งผลต่อเยื่อเมือกในลำคอ และจมูก จัดเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่งที่สามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้ง่ายผ่านทางการไอ จาม สัมผัสโดยตรงกับผู้ติดเชื้อคอตีบ หรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วยโรคคอตีบ
โรคคอตีบ หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาเชื้อแบคทีเรียสามารถแพร่กระจายไปยังระบบประสาท ไต และหัวใจ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต อย่างไรก็ตามโรคคอตีบสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน
คอตีบ พบบ่อยแค่ไหน
โรคคอตีบ มักเกิดกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบโดยเฉพาะในเด็ก และผู้ที่อาศัยหรือเดินทางไปยังพื้นที่แออัด หรือพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคคอตีบ
อาการ
อาการของ คอตีบ
อาการโดยทั่วไปของ โรคคอตีบ มีดังนี้
- มีพังผืดสีเทาหนาบริเวณลำคอและต่อมทอนซิล
- เจ็บคอ
- เสียงแหบ
- ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ในลำคอโตและบวม
- หายใจลำบากหรือหายใจเร็ว
- กลืนอาหารลำบาก
- ผิวมีสีม่วงคล้ำ
- พูดไม่ชัด
- มีปัญหาด้านการมองเห็น
- น้ำมูกไหล
- มีไข้สูงและหนาวสั่น
- วิงเวียนศีรษะ
- มีสัญญาณของอาการช็อก เช่น ผิวซีด เหงื่อออก ตัวเย็น หัวใจเต้นเร็ว
- ในกรณีที่มีการติดเชื้อทางผิงหนัง จะเกิดแผลพุพอง แดง ที่ขา เท้า และมือ
อาการของ โรคคอตีบ มักจะแสดงอาการหลังจากที่ได้รับเชื้อผ่านไป 2-5 วัน อย่างไรก็ตาม อาจมีบางอาการที่ไม่ได้ระบุไว้ข้างต้น ดังนั้น หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการ ควรปรึกษาคุณหมอ
ควรพบหมอเมื่อใด
เด็กและผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกัน โรคคอตีบ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการฉีดวัคซีน และถ้าหากสัมผัสได้ว่าคุณหรือลูกของคุณมีอาการของโรคคอตีบ หรือไปสัมผัสกับผู้ป่วยโรคคอตีบ ควรไปพบคุณหมอ
สาเหตุ
สาเหตุของคอตีบ
โรคคอตีบ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Corynebacterium Diphtheriae เมื่อเกิดการติดเชื้อที่จมูกและลำคอ แบคทีเรียจะปล่อยสารพิษและแพร่กระจายเข้าสู่เนื้อเยื่อและเลือด ซึ่งโดยปกติผู้ป่วยคอตีบมักจะได้รับเชื้อมาจาก
- ละอองในอากาศ เมื่อผู้ติดเชื้อโรคคอตีบมีอาการไอหรือจามและไม่ได้มีการปิดปากหรือจมูก เชื้อโรคจะแพร่กระจายผ่านการไอและจามเป็นละอองเล็ก ๆ แพร่เชื้อไปยังผู้อื่นที่อยู่ในรัศมีใกล้ ๆ
- ใช้ของร่วมกัน การใช้ของร่วมกันกับผู้ป่วยโรคคอตีบ มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อมาจากการหยิบจับและใช้สิ่งของร่วมกัน
- การสัมผัสบาดแผลของผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยโรคคอตีบอาจมีบาดแผลที่เป็นผลมาจากการติดเชื้อบริเวณผิวหนัง หากสัมผัสที่บาดแผลโดยตรงจะทำให้ได้รับเชื้อคอตีบ
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงการเกิดคอตีบ
โรคคอตีบ อาจสามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้
- เด็กและผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกัน โรคคอตีบ
- ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แออัด ไม่ถูกสุขลักษณะอนามัย หรือมีการระบาดของโรคคอตีบ
- เดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคคอตีบ
- มีความผิดปกติในระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคเอดส์
อาจมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่าที่ระบุไว้ข้างต้น โปรดปรึกษากับคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยคอตีบ
หากเป็น โรคคอตีบ ในเด็ก คุณหมอสามารถทำการวินิจฉัยจากคราบหรือพังผืดสีเทาที่ต่อมทอนซิลหรือลำคอ อย่างไรก็ตาม คุณหมออาจใช้วิธีการนำตัวอย่างเนื้อเยื่อในลำคอ หรือบาดแผลในลำคอไปเข้ารับการตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคคอตีบ
การรักษาคอตีบ
เนื่องจากโรคคอตีบเป็นภาวะที่ร้ายแรง หากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เมื่อได้รับผลการวินิจฉัยคุณหมอจะเริ่มทำการรักษาทันที โดยอาจใช้วิธีดังต่อไปนี้ในการรักษา โรคคอตีบ
- ยาปฏิชีวนะ คุณหมอจะสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะที่มีสรรพคุณในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น เพนิซิลลิน
- ยาต้านพิษ คุณหมอจะฉีดยาต้านสารพิษที่แบคทีเรียผลิตขึ้น เพื่อช่วยควบคุมไม่ให้โรคคอตีบลุกลาม
- ทำความสะอาดบาดแผล คุณหมอจะแนะนำให้มีการทำความสะอาดบาดแผลอย่างสม่ำเสมอ สำหรับผู้ป่วยโรคคอตีบในกรณีที่มีการติดเชื้อทางผิวหนัง
ขณะทำการรักษา โรคคอตีบ ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษษที่โรงพยาบาล เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายไปติดต่อผู้อื่น
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การเปลี่ยนไล์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่อาจช่วยจัดการกับคอตีบ
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองต่อไปนี้ อาจช่วยป้องกันคอตีบได้
- จัดการสุขอนามัยในบ้านให้ถูกสุขลักษณะอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของแบคทีเรียต่าง ๆ
- ไม่ควรใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะหากผู้นั้นเป็น โรคคอตีบ ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อคอตีบตามไปด้วย
- รับยาปฏิชีวนะและฉีดวัคซีน โรคคอตีบ สามารถป้องกันได้โดยการรับยาปฏิชีวนะและฉีดวัคซีนตั้งแต่ด็ก ๆ และควรได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วนในทุกช่วง ตั้งแต่อายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 15-18 เดือน และ 4-6 ปี โดยวัคซีนจะมีอายุเพียง 10 ปีเท่านั้น ดังนั้น เด็กจะต้องได้รับวัคซีนอีกครั้งเมื่ออายุประมาณ 12 ปี ส่วนวัยผู้ใหญ่ก็สามารถเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบได้เช่นกัน และควรรับการฉีดวัคซีนในทุก ๆ 10 ปี