ทอนซิลอักเสบ เป็นการติดเชื้อที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณช่องคอ ทำให้เกิดอาการคล้ายกับไข้หวัด เช่น เจ็บคอ คอบวม ไข้สูง กลืนลำบาก ปวดหัว ทอนซิลอักเสบเฉียบพลันอาจมีอาการนานประมาณ 3-4 วัน แต่บางคนอาจมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ หรือมีอาการอักเสบเรื้อรัง ทอนซิลอักเสบมักสามารถหายไปได้เองโดยไม่ต้องทำการรักษา แต่การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม อาจช่วยบรรเทาอาการและเร่งให้หายไวขึ้นได้
คำจำกัดความ
ทอนซิลอักเสบ คืออะไร
ทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis) เป็นการอักเสบของต่อมทอนซิล ซึ่งเป็นต่อมน้ำเหลืองบริเวณช่องคอด้านหลังทั้ง 2 ข้าง ทำหน้าที่ดักจับเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้าสู่ทางเดินหายใจ เมื่อเชื้อโรคมีปริมาณมากเกินจนไม่สามารถควบคุมได้ หรือเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ ก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ อักเสบ บวม และอาการเจ็บคอ
ทอนซิลอักเสบ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก คือ
- ทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน มักจะมีอาการประมาณ 3-4 วัน
- ทอนซิลอักเสบแบบเป็น ๆ หาย ๆ หมายถึง อาการทอนซิลอักเสบที่เกิดขึ้นปีละหลายครั้ง โดยอาจมีอาการ รักษาจนหาย แล้วกลับมามีอาการใหม่ วนซ้ำไปเรื่อย ๆ
- ทอนซิลอักเสบเรื้อรัง หมายถึง อาการทอนซิลอักเสบที่มีอาการเรื้อรังยาวนาน
ทอนซิลอักเสบมักพบได้บ่อยในเด็ก แต่ก็สามารถเกิดขึ้นกับวัยรุ่นและผู้ใหญ่ได้เช่นกัน
อาการ
อาการของทอนซิลอักเสบ
อาการของทอนซิลอักเสบ อาจมีดังต่อไปนี้
- เจ็บคอ คออักเสบ บวม แดง
- กลืนลำบาก รู้สึกเจ็บเวลากลืนน้ำลาย
- เสียงแหบ
- ปวดหัว ปวดหู
- เป็นไข้ หนาวสั่น
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- บริเวณต่อมทอนซิลอาจมีคราบสีขาวหรือสีเหลือง
- มีกลิ่นปาก
นอกจากนี้ เด็กอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น
- ไม่ยอมกินอาหาร
- ปวดท้อง
- อาเจียน
- น้ำลายไหลย้อย
- งอแงผิดปกติ
สาเหตุ
สาเหตุของทอนซิลอักเสบ
ทอนซิลอักเสบอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุ ดังต่อไปนี้
- การติดเชื้อไวรัส ทอนซิลอักเสบโดยส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza Virus) ไวรัสเอนเทอโร (Enterovirus) ไวรัสอะดีโน (Adenovirus)
- การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อแบคทีเรียที่มักทำให้เกิดทอนซิลอักเสบ คือ สเตรปโตคอคคัส ไพโอจิเนส (Streptococcus Pyogenes) ที่ทำให้เกิดโรคคออักเสบ แต่ก็อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ ได้เช่นกัน
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของทอนซิลอักเสบ
- อายุ เด็กอายุน้อยมักจะมีโอกาสเกิดทอนซิลอักเสบได้มากกว่า ทารกและเด็กเล็กมักจะเกิดทอนซิลอักเสบจากเชื้อไวรัส ส่วนเด็กที่อายุ 5-15 ปีมักจะเกิดทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้ ผู้สูงอายุก็อาจมีโอกาสเกิดทอนซิลอักเสบสูงเช่นกัน
- การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อาจทำให้ติดเชื้อง่าย เช่น เด็กวัยเรียนที่ต้องเจอกับเด็กคนอื่นเยอะ ๆ อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโรคสูงกว่า และทำให้เกิดทอนซิลอักเสบ
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยทอนซิลอักเสบ
คุณหมอสามารถวินิจฉัยทอนซิลอักเสบได้จากการตรวจดูอาการ โดยเฉพาะในบริเวณช่องปาก หลังช่องคอ และลำคอ รวมถึงตรวจวัดไข้ เพื่อดูว่ามีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น อาการอักเสบ อาการบวม มีไข้สูง หรือไม่ นอกจากนี้ คุณหมอก็อาจทำตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้
- การใช้ไม้ป้ายคอ เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำลายและเนื้อเยื่อในบริเวณช่องคอไปตรวจสอบดูว่ามีเชื้อแบคทีเรียหรือไม่
- การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count หรือ CBC) เพื่อตรวจดูว่าค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดสูงหรือต่ำกว่าปกติหรือไม่ ซึ่งจะสามารถบ่งบอกได้ว่าเป็นการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย
การรักษาทอนซิลอักเสบ
โดยส่วนใหญ่ ทอนซิลอักเสบ โดยเฉพาะทอนซิลอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส มักจะสามารถหายไปได้เองภายในไม่กี่วัน โดยไม่จำเป็นต้องทำการรักษาเพิ่มเติม แต่สำหรับทอนซิลอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย คุณหมออาจสั่งยาปฏิชีวนะให้รับประทานเพื่อช่วยฆ่าเชื้อโรค ควรรับประทานยาให้ครบตามกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันอาการดื้อยา
นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่มีอาการทอนซิลอักเสบเรื้อรัง หรือเป็น ๆ หาย ๆ บ่อยครั้ง เช่น เป็นมากกว่า 7 ครั้งใน 1 ปี คุณหมออาจแนะนำให้ทำการผ่าตัดต่อมทอนซิลออก ควรปรึกษาคุณหมอให้ละเอียดก่อนตัดสินใจผ่าตัดต่อมทอนซิล
การดูแลตัวเองที่บ้าน
โดยส่วนใหญ่ อาการทอนซิลอักเสบสามารถหายได้เอง แต่สามารถดูแลตัวเองเพิ่มเติมเพื่อช่วยบรรเทาอาการและเร่งให้หายไวขึ้นได้ ดังนี้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ดื่มน้ำให้มาก ควรเลือกน้ำเย็น หรือรับประทานของเย็น ๆ เช่น ไอติม น้ำแข็ง อาจช่วยบรรเทาอาการทอนซิลอักเสบได้
- กลั้วคอด้วยน้ำอุ่นผสมเกลือ
- ใช้เครื่องทำความชื้น เพื่อช่วยลดความระคายเคืองของคอ
- ใช้ยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน เพื่อช่วยบรรเทาอาการทอนซิลอักเสบ
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันทอนซิลอักเสบ
สิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันทอนซิลอักเสบได้ คือการรักษาสุขอนามัยให้ดี ดังนี้
- ล้างมือบ่อย ๆ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรค
- หลีกเลี่ยงผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอ เป็นไข้ และผู้ที่เป็นทอนซิลอักเสบ
- ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น แก้วน้ำ ช้อนส้อม แปรงสีฟัน ร่วมกับผู้อื่น