หากคุณสังเกตตนเองแล้วพบว่า เริ่มมีอาการบกพร่องเกี่ยวกับการได้ยิน หรือเริ่มมีการสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างยากลำบากเมื่อใด โปรดรีบเร่งทำการรักษา หรืออาจเข้าขอรับคำปรึกษาเบื้องต้นจากคุณหมอโดยด่วน เพราะคุณอาจกำลังมีความเสี่ยต่อการมีภาวะสูญเสียการได้ยิน หรือโรค หูหนวก (Deafness) ก็เป็นได้
คำจำกัดความ
หูหนวก (Deafness) คืออะไร
หูหนวก (Deafness) คือ โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบการได้ยิน โดยเกิดจากเซลล์ประสาทในส่วนของ คอเคลีย (Cochlear) ที่อยู่ในหูชั้นในเสื่อมสภาพ หรือถูกทำลาย อาจนับได้ว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้เมื่อคุณมีอายุที่มากขึ้น
บางครั้งก็อาจก่อให้เกิดอาการรุนแรงจนถึงขั้นสูญเสียการได้ยิน และอาจจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ในการช่วยฟังเข้ามามีส่วนร่วม หรือไม่ก็ต้องสื่อสารด้วยการอ่านริมฝีปากเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นโรคที่อาจทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของคุณเป็นไปอย่างยากลำบากกว่าเดิมได้เลยทีเดียว
การสูญเสียการได้ยินนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ ดังนี้
- การสูญเสียการได้ยินระดับเบา เป็นการลดความสามารถในการได้ยินเสียงที่ไม่ค่อยรุนแรงมากนัก ซึ่งทุกคนสามารถเริ่มเป็นกันได้ตั้งแต่อายุยังน้อยจนถึงอายุมาก
- การสูญเสียการได้ยินระดับปานกลาง อาจมีอาการเบื้องต้นถึงการเริ่มไม่เข้าใจในคำพูดผู้คน หรือรู้สึกว่าผู้ที่สื่อสารด้วยมีเสียงแผ่วเบาลง ทั้งที่ในความเป็นจริงระดับเสียงยังคงปกติเท่าเดิม
- การสูญเสียการได้ยินระดับรุนแรง เป็นการขาดการได้ยินทั้งหมด โดยไม่อาจสามารถจะได้ยินเสียงใด ๆ ต่อไปได้อีก นอกจากเสียว่าจะมีอุปกรณ์ช่วยฟังมาเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกให้
ซึ่งทางแพทย์จะเป็นคนทำการตรวจ และพิจารณาเองว่าคุณนั้นอยู่ในความเสี่ยงระดับไหน จากนั้นจึงจะเริ่มหาทางการรักษา หรือวิธีแก้ไข เพื่อเพิ่มคุณภาพการใช้ชีวิตของคุณให้กลับมาปกติเหมือนบุคลทั่วไปอีกครั้ง
โรค หูหนวก สามารถพบบ่อยได้เพียงใด
ภาวะของโรคหูหนวก หรืออาการสูญเสียการได้ยิน ส่วนใหญ่แล้วอาจเกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป หรืออยู่ในช่วงวัยผู้สูงอายุ
อาการ
อาการของโรค หูหนวก
สัญญาณเตือน และอาการของการสูญเสียการได้ยินเบื้องต้นที่คุณสามารถเริ่มสังเกตตนเองได้ มีดังนี้
- เริ่มขาดการได้ยินเสียงพูด และเสียงอื่นรอบข้าง
- มีการใช้เวลานานกว่าปกติในทำความเข้าใจสื่อต่าง ๆ ที่ได้ยิน
- บางครั้งอาจมีการขอให้ผู้สื่อสารพูดช้าลง และเสียงดังมากขึ้น
- มีการเพิ่มระดับเสียงของสื่อรอบตัวอยู่สม่ำเสมอ เช่น เสียงจากโทรทัศน์ วิทยุ และโทรศัพท์ เป็นต้น
- รู้สึกเริ่มหงุดหงิด และจำเป็นต้องถอนตัวจากการสนทนา
- มีการได้ยินพยัญชนะที่ออกเสียงคล้ายกันไม่ชัดเจน
ที่สำคัญปัญหาของอาการข้างต้นอาจนำพาให้ผู้ป่วยเกิดอาการตึงเครียดในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้เพิ่มเติม ดังนั้น คนรอบข้างควรหมั่นให้กำลังใจ หรืออาจพาไปปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการรับมือเบื้องต้นได้ เพื่อเป็นการฟื้นฟูสภาพจิตใจให้คนที่เรารักกลับมามีสุขภาพจิตที่ดีอีกครั้ง
สาเหตุ
สาเหตุของการเกิดโรค หูหนวก
นอกจากจะสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้สูงอายุเสียส่วนใหญ่แล้ว แต่บางกรณีนั้นก็อาจพบได้กับบุคคลในทุกช่วงวัยที่มาจากผลข้างเคียงของโรคประจำตัวผู้ป่วย ดังต่อไปนี้
- โรคอีสุกอีใส
- โรคติดเชื้อที่เกิดจากไซโตเมกาโลไวรัส (Cytomegalovirus)
- โรคคางทูม
- อาการอักเสบบริเวณไขสันหลัง
- โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle Cell Disease ; SCD)
- โรคซิฟิลิส (Syphilis)
- โรคไลม์ (Lyme disease)
- โรคเบาหวาน
- โรคมะเร็งบางชนิด
- แก้วหูแตก
- การสะสมของขี้หูจนเกิดการติดเชื้อ
คุณสามารถตรวจเช็กร่างกายตนเองอย่างละเอียดได้ โดยแพทย์ผู้ชี่ยวชาญ เพื่อทำการเร่งรักษาโรคดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้น ก่อนเกิดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่ส่งผลให้คุณเกิดโรคหูหนวก หรือสูญเสียการได้ยินอย่างถาวรเพิ่มได้
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหูหนวก
ปัจจัยเหล่านี้ อาจเป็นการสร้างความเสียหาย หรือนำไปสู่การสูญเสียเซลล์ประสาทในหูชั้นใน จนถึงขึ้นทำให้คุณตกอยู่ในสภาวะโรคหูหนวกได้
- การเสื่อมของโครงสร้างหูชั้นในเกิดขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น
- อยู่กับสภาพแวดล้อมที่ส่งเสียงดังเกิดควรจนทำลายเซลล์ของหูชั้นในของคุณ เช่น ทำงานในโรงงานเครื่องจักร เสียงระเบิด เสียงกระสุนปืน เป็นต้น
- อาจมาจากพันธุกรรมในครอบครัว
- ผลข้างเคียงของยาปฏิชีวนะบางชนิด อย่างยาซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาต้านมาลาเรีย ยาขับปัสสาวะ และยาเคมีบำบัดบางชนิดสามารถทำลายหูชั้นในได้
- อาการเจ็บป่วยจากโรคบางอย่าง
ปกติแล้วระดับเสียงที่ปลอดภัยกับช่องหูของเรามากที่สุด คือเสียงที่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 70 เดซิเบล ยิ่งคุณอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สงบปราศจากเสียงดังอันตรายเท่าไร หูชั้นในของคุณจะยิ่งเสื่อมสภาพได้ช้าลงเท่านั้น ทางที่ดีคุณควรหลีกเลี่ยงการนำตนเองไปอยู่ในสถานที่ที่มีความเสียงดังจึงจะปลอดภัยกับสุขภาพช่องหูของคุณมากที่สุด
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยโรคหูหนวก
โดยทั่วไปแพทย์อาจมีการซักถาม หรือทดสอบถึงอาการเบื้องต้นที่คุณกำลังประสบเกี่ยวกับการได้ยิน คุณควรมีการให้ความร่วมมือ และตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมามิควรมีการปิดบังใด ๆ อีกทั้งยังอาจมีการตรวจดูภายในช่องหูของคุณว่ามีปัญหาการติดเชื้อในหูชั้นกลาง หรือมีความเสียหายของแก้วหูด้านในหรือไม่ เพื่อที่แพทย์จะได้ดำเนินการในการรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับอาการของคุณ
การรักษาโรคหูหนวก
การรักษาอาจใช้วิธีแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละบุคคล โดยอาจมีการแก้ไขปัญหาการสูญเสียการได้ยินได้ ดังนี้
- ขจัดสิ่งอุดตันของขี้หูภายใน
การอุดตันของขี้หูอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คุณมีการสูญเสียการได้ยิน แพทย์จึงจำเป็นที่จะต้องชำระล้าง และนำขี้หูออก โดยใช้เครื่องดูดขนาดเล็กเข้าไปนำสิ่งสกปรกที่อุดตันออกมา
- การผ่าตัด
การสูญเสียการได้ยินบางประเภทอย่างอาการที่เกียวข้องกับแก้วหู หรือกระดูกในช่องหูผิดปกติ จำเป็นที่ต้องได้รับรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อซ่อมแซม และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อที่สามารถนำพาคุณเข้าสู่โรคหูหนวกได้อย่างถาวร
- ใส่อุปกรณ์เครื่องช่วยฟัง
ปัจจุบันนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอย่างมากมาย รวมถึงการคิดค้นเครื่องช่วยฟังนี้ ที่จะคอยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินอีกด้วย ซึ่งเครื่องช่วยฟังมีหลากหลายประเภทแตกต่างกันออกไปตามอาการของผู้ป่วย ที่ประกอบไปด้วยลำโพง ระบบขยายเสียง และไมโครโฟนขนาดเล็กกระทัดรัด เพื่อให้ผู้ป่วยนั้นได้ใส่ลงไปในช่องหูได้อย่างพอดี และได้ยินเสียงได้ชัดเจนขึ้น
- ประสาทหูเทียม
นับว่าเป็นอุปกรณ์ที่ผู้ป่วยนิยมใช้มากเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในโรคหูหนวก หรือผู้ที่สูญเสียการได้ยินในระดับรุนแรง ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวนี้ประกอบไปด้วย ไมโครโฟน ตัวประมวลผลการสื่อสาร และเครื่องส่งสัญญาณ ที่จะแตกต่างกับอุปกรณ์ช่วยฟังอย่างมาก เนื่องจากเป็นการส่งสัญญาณกระแสไฟฟ้าในรูปแบบอิเล็กโทรดเข้าสู่เซลล์คอเคลียในหูชั้นใน และขึ้นสมองโดยตรง ทำให้ผู้ที่สวมใส่ประสาทหูเทียมนั้นได้รับรู้การสื่อสารจากสิ่งแวดรอบ การพูดคุยได้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือการเยียวยาตนเองเพื่อป้องกันและรักษาโรคหูหนวก
หากคุณไม่อยากให้เซลล์ประสาทในหูของคุณเสื่อมสภาพลงได้ไวกว่าเดิม โปรดปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังนี้ ก่อนที่จะสายเกินการแก้ไขจนทำให้คุณสูญเสียการได้ยินอย่างถาวร
- กรณีที่คุณจำเป็นต้องตกอยู่ในสภาพแวดล้อมเสียงดังอย่างการทำงาน ที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้ โปรดสวมอุปกรณ์อุดช่องหูไว้ เพื่อเป็นการช่วยลดระดับเสียงรอบข้างให้เข้าหูคุณ
- โปรดหยุดเพิ่มระดับเสียงโทรทัศน์ วิทยุ หรือสื่อต่าง ๆ ควรปรับให้แต่พอดี แม้คุณจะมีอาการไม่ค่อยได้ยินก็ตาม
- ถึงแม้คุณจะชอบการพักผ่อนโดยการท่องเที่ยวตามคอนเสิร์ต หรือสถานที่จัดเพลงต่าง ๆ ที่ค่อนข้างเสียงดัง แต่ก็ควรหลีกเลี่ยง หรืองดเว้นเสียบ้าง และหาวิธีการพักผ่อนหย่อนใจในรูปแบบอื่น ๆ ทดแทน