backup og meta

บรรเทาอาการปวดเข่า ด้วยเคล็ดลับดีๆ จากนักกายภาพบำบัด

บรรเทาอาการปวดเข่า ด้วยเคล็ดลับดีๆ จากนักกายภาพบำบัด

อาการปวดเข่ามักไม่จำเป็นต้องผ่าตัด และอาการสามารถดีขึ้นได้ ด้วยการทำกิจกรรรมทางกาย หรือการออกกำลังกายที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี การออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว อาจไม่ได้ทำให้หัวเข่าของคุณมีสุขภาพดีเสมอไป และนี่คือ วิธี บรรเทาอาการปวดเข่า ที่นักกายภาพบำบัดแนะนำว่าได้ผลจริง

วิธี บรรเทาอาการปวดเข่า ฉบับนักกายภาพบำบัด

1. ห้ามพักผ่อนมากเกินไป

คุณอาจรู้สึกว่าอาการปวดเข่าของคุณดีขึ้น เมื่อได้นอนพักผ่อน ไม่ต้องขยับร่างกายหรือทำกิจกรรมใดๆ เลย แต่ความจริงแล้ว การพักผ่อนมากเกินไป อาจทำให้กล้ามเนื้อของคุณอ่อนแอลงได้ เมื่อกล้ามเนื้ออ่อนแรงจะทำให้มีแรงกดทับที่หัวเข่ามากขึ้น จนอาการปวดรุนแรงขึ้นได้ หากอยากบรรเทาอาการปวดเข่า แทนที่จะเอาแต่นอนพัก คุณควรออกกำลังกายในรูปแบบที่เหมาะสมเป็นประจำ หากไม่มั่นใจว่า การออกกำลังกายประเภทใดที่เหมาะสมสำหรับหัวเข่าของคุณ ควรปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด

2. เลือกออกกำลังกายให้เหมาะสม

ตามที่กล่าวไว้ การออกกำลังกายที่เหมาะสำหรับบรรเทาอาการปวดเข่า ได้แก่ การออกกำลังเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง การออกกำลังกายเพื่อสร้างความยืดหยุ่น การออกกำลังกายแบบแรงกระแทกต่ำ เช่น การเดิน การว่ายน้ำ ที่จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก ช่วยให้หัวเข่ายืดหยุ่นได้ดี สามารถเคลื่อนไหวได้นานขึ้น การออกกำลังกายเป็นประจำ นอกจากจะช่วยบรรเทาอาการปวดเข่าได้แล้ว ยังช่วยป้องกันการบาดเจ็บ และอาการผิดปกติอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับหัวเข่า ขา และเท้า ได้อีกด้วย อย่างไรก็ดี หากคุณปวดเข่าควรงดออกกำลังกายด้วยการวิ่ง เพราะอาจทำให้เกิดแรงกดทับและแรงกระแทกที่หัวเข่ามากขึ้น

3. เลือกรองเท้าให้เหมาะสม

รองเท้าที่ดี จะช่วยรองรับแรงกระแทก และป้องกันอาการบาดเจ็บระหว่างทำกิจกรรมต่างๆ ได้ โดยเฉพาะการเล่นกีฬา คุณควรเลือกประเภทของรองเท้าที่เหมาะสมกับแต่ละกิจกรรมที่ต้องการ เช่น หากเดินไกลหรือเดินบ่อยๆ ควรสวมรองเท้าสำหรับเดิน เล่นแบดมินตันก็ควรสวมรองเท้าสำหรับเล่นแบดมินตันโดยเฉพาะ เพราะรองเท้าแบดมินตันจะช่วยรองรับแรงกระแทกจากการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วหรือการกระโดด ทั้งยังช่วยป้องกันการบาดเจ็บที่ข้อเท้าและหัวเข่าได้ด้วย หรือหากคุณเป็นโรคข้อเสื่อม อาจจำเป็นต้องเลือกพื้นรองเท้าชนิดพิเศษ ที่สวมใส่สบาย รองรับแรงกระแทกได้ดี

4. ใส่ใจร่างกายของคุณ

การออกกำลังกายที่ดีไม่ควรทำให้เกิดอาการเจ็บปวด คุณอาจมีอาการเจ็บปวดที่หัวเข่าหรือบริเวณอื่นบ้างเล็กน้อยในระยะแรก ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้เมื่อกล้ามเนื้อของคุณต้องทำงานหนักกว่าเคย แต่หากออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมใดๆ แล้วคุณรู้สึกปวดมากเกินไป และอาการปวดแย่ลงเรื่อยๆ ควรไปพบคุณหมอหรือนักกายภาพบำบัดทันที ไม่ควรฝืนออกกำลังกายต่อ หรือหักโหมเกินไป เพราะอาจเป็นสัญญาณว่า หัวเข่าของคุณกำลังมีปัญหา หรือการออกกำลังกายที่ทำอยู่ไม่เหมาะสมกับคุณ

5. เข้ารับการรักษาหากจำเป็น

หากคุณมีอาการปวดเข่า และทำวิธีข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือยิ่งแย่ลง ควรรีบไปพบคุณหมอ เพื่อให้คุณหมอตรวจวินิจฉัยอาการอย่างจริงจัง หรือหากใครกำลังเข้ารับการกายภาพบำบัดเพื่อบรรเทาอาการปวดเข่าอยู่ แล้วพบอาการบ่งชี้ที่ผิดปกติ หรืออาการแย่ลง ก็ควรรีบแจ้งให้นักกายภาพบำบัดทราบทันที อย่ารีรอ นักกายภาพบำบัดจะได้ปรับการทำกายภาพบำบัดให้เหมาะสมกับอาการปวดเข่าของคุณได้ เพื่อให้การรักษาได้ผลดีที่สุด

หากคุณปฏิบัติตามคำแนะนำดีๆ เหล่านี้จากนักกายภาพบำบัด คุณก็มั่นใจได้เลยว่า อาการปวดเข่าของคุณ ย่อมดีขึ้นได้อย่างแน่นอน สิ่งสำคัญที่ต้องจำเอาไว้ก็คือ แม้ปวดเข่าก็ควรออกกำลังกายเป็นประจำ แต่ให้เลือกแบบแรงกระแทกต่ำ และช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

 

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

11 Knee Pain Dos and Don’ts. http://www.webmd.com/osteoarthritis/knee-pain-dos-and-donts#1. Accessed March 22, 2017.

Exercise Can Help Knee Pain if You Stick With It. http://www.webmd.com/osteoarthritis/news/20121105/exercise-help-knee-pain#1. Accessed March 22, 2017.

Sore Muscles? Don’t Stop Exercising. http://www.webmd.com/fitness-exercise/features/sore-muscles-dont-stop-exercising#1. Accessed March 22, 2017.

Knee pain. https://medlineplus.gov/ency/article/003187.htm. Accessed March 22, 2017.

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

วัณโรคกระดูก โรคที่พบบ่อยในคนไทย วิธีป้องกันทำได้อย่างไร

บรรเทาอาการปวดข้อ วิธีง่ายๆ ที่ทำได้ด้วยตัวเอง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา