backup og meta

กรดไขมันอิ่มตัว คืออะไร ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพ

กรดไขมันอิ่มตัว คืออะไร ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพ

กรดไขมันอิ่มตัว เป็นไขมันประเภทหนึ่งที่มีลักษณะเป็นของแข็งเมื่ออยู่ในอุณหภูมิห้อง พบได้ในอาหารตามธรรมชาติทั่วไปจากสัตว์และพืชบางชนิด รวมทั้งในอาหารแปรรูปหลายชนิด เช่น ไขมันจากเนื้อสัตว์ หนังสัตว์ นม ไข่ เนย ชีส ครีมเทียม น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว ซึ่งการรับประทานอาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูงอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง คอเลสเตอรอลสูง ดังนั้น การเลือกชนิดของอาหารและควบคุมปริมาณการรับประทานจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับกรดไขมันอิ่มตัวได้

กรดไขมันอิ่มตัว คืออะไร

กรดไขมันอิ่มตัว คือ ประเภทของไขมันหลักที่มักจะเป็นของแข็งเมื่ออยู่ในอุณหภูมิห้อง ประกอบด้วยคาร์บอน (Carbon) ไฮโดรเจน (Hydrogen) และโมเลกุลออกซิเจน (Oxygen) พบมากในแหล่งอาหารจากสัตว์และอาหารแปรรูปหลายชนิด เช่น ไขมันจากเนื้อหมู เนื้อวัว หนังไก่ ผลิตภัณฑ์จากนม ชีส เนย ครีมเทียม และอาจพบได้ในอาหารจากพืชบางชนิด เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม กะทิ เนย โกโก้

ชนิดของกรดไขมันอิ่มตัว

ชนิดของกรดไขมันอิ่มตัวที่พบบ่อยและพบมากที่สุดในอาหาร อาจมีดังนี้

  • กรดสเตียริก (Stearic Acid) เป็นกรดไขมันอิ่มตัวที่มีลักษณะเป็นของแข็งสีขาวคล้ายขี้ผึ้ง มีกลิ่นเล็กน้อยและลอยน้ำได้ โดยอาจพบได้ในอาหารทั่วไปทั้งพืชและสัตว์ โดยเฉพาะเนย โกโก้ และเชียบัตเตอร์
  • กรดปาลมิติก (Palmitic Acid) เป็นกรดไขมันอิ่มตัวที่พบได้มากในร่างกายของมนุษย์ และพบในอาหารทั่วไปทั้งพืชและสัตว์ เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันในเมล็ดปาล์ม เนย ชีส นม เนื้อสัตว์
  • กรดไมริสติก (Myristic Acid) เป็นกรดไขมันอิ่มตัวที่พบได้ในอาหารทั่วไปทั้งพืชและสัตว์ โดยเฉพาะในเนย ลูกจันทน์เทศ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม และนมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
  • กรดลอริก (Lauric Acid) เป็นกรดไขมันอิ่มตัวที่มีลักษณะเป็นของแข็งสีขาว โดยสามารถเป็นของแข็งได้ในอุณหภูมิห้องปกติแต่ละลายได้ง่ายในน้ำเดือด ซึ่งอาจพบได้ในอาหารทั่วไป โดยเฉพาะอาหารจากพืชหลายชนิด เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม น้ำกะทิ
  • กรดคาปริก (Capric Acid) เป็นกรดไขมันอิ่มตัวที่พบได้ในพืชและสัตว์ เช่น เนย น้ำมันมะพร้าว น้ำมันในเมล็ดปาล์ม
  • กรดคาไพรลิก (Caprylic Acid) เป็นกรดไขมันอิ่มตัวที่พบได้ในพืชและสัตว์ เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว นมแม่ นมสัตว์
  • กรดคาโพรอิก (Caproic Acid) เป็นกรดไขมันอิ่มตัวที่พบได้ในพืชและสัตว์ เช่น เนยแข็ง น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม เนื้อสัตว์

กรดไขมันอิ่มตัว ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพ

กรดไขมันอิ่มตัวเป็นไขมันหลักประเภทหนึ่งที่อาจส่งผลให้ระดับไขมันไม่ดี (LDL) ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น เมื่อรับประทานอาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูงในปริมาณมาก เช่น ไขมันจากเนื้อวัว เนื้อหมู หนังไก่ น้ำมันหมู เนย ชีส ครีมเทียม ไอศกรีม นม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม น้ำมันในเมล็ดปาล์ม อาหารทอด อาหารแปรรูปต่าง ๆ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง คอเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง

อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวยังเป็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Healthcare (Basel) เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 ศึกษาเกี่ยวกับกรดไขมันอิ่มตัวและโรคหัวใจและหลอดเลือด พบว่า กรดไขมันอิ่มตัวสามารถพบได้ในอาหารตามธรรมชาติทั่วไปทั้งจากพืชและสัตว์ เช่น นม เนย เนื้อสัตว์ น้ำมันพืชบางชนิด ซึ่งกรดไขมันอิ่มตัวในอาหารแต่ละชนิดอาจมีปริมาณไม่เท่ากัน โดยเมื่อเปรียบเทียบการรับประทานอาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวจากนมหรือชีสอาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดต่ำกว่าการรับประทานกรดไขมันอิ่มตัวที่ได้จากเนื้อสัตว์หรือไขมันจากสัตว์

ดังนั้น การเลือกรับประทานอาหารและควบคุมการรับประทานที่มีไขมันในปริมาณที่พอดีจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการได้รับกรดไขมันอิ่มตัวสูงเกินไปได้ โดยปริมาณของไขมันทั้งหมดที่ร่างกายต้องการ คือ ประมาณ 20-35% หรือควรน้อยกว่า 70 กรัม/วัน ส่วนไขมันอิ่มตัวไม่ควรเกิน 20 กรัม/วัน

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Lauric acid. https://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/compound/Lauric-acid. Accessed July 3, 2022

Lauric acid. https://www.acs.org/content/acs/en/molecule-of-the-week/archive/l/lauric-acid-myristic-acid.html. Accessed July 3, 2022

Myristic acid. https://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/compound/Myristic-acid. Accessed July 3, 2022

Palmitic acid. https://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/compound/Palmitic-acid. Accessed July 3, 2022

Stearic acid. https://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/compound/Stearic-acid. Accessed July 3, 2022

CAPRIC ACID. https://drugs.ncats.io/drug/4G9EDB6V73. Accessed July 3, 2022

Hexanoic acid. https://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/compound/Hexanoic-acid. Accessed July 3, 2022

Caprylic Acid – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-1465/caprylic-acid. Accessed July 3, 2022

Saturated Fatty Acids and Cardiovascular Disease: Replacements for Saturated Fat to Reduce Cardiovascular Risk. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5492032/. Accessed July 3, 2022

Types of Fat. https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/what-should-you-eat/fats-and-cholesterol/types-of-fat/. Accessed July 3, 2022

Saturated Fat. https://www.heart.org/en/healthy-living/healthy-eating/eat-smart/fats/saturated-fats. Accessed July 3, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

18/01/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ประโยชน์ของไขมัน และชนิดที่ควรกิน

ลดหน้าท้อง กำจัดไขมัน เพื่อสุขภาพที่ดี


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 18/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา