backup og meta

น้ำมันมะพร้าว ประโยชน์ ข้อควรระวัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 27/01/2022

    น้ำมันมะพร้าว ประโยชน์ ข้อควรระวัง

    น้ำมันมะพร้าว คือสารสกัดจากมะพร้าวที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยบำรุงสุขภาพทั้งภายในและภายนอก เช่น บำรุงผิวกาย เส้นผม หนังศีรษะ ช่วยลดน้ำหนัก ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ อย่างไรก็ตาม น้ำมันมะพร้าวอาจมีกรดไขมันอิ่มตัวมากกว่ากรดไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งอาจเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลไม่ดี (LDL) ดังนั้น จึงควรรับประทานน้ำมันมะพร้าวในปริมาณที่เหมาะสม

    คุณค่าทางโภชนาการของน้ำมันมะพร้าว

    น้ำมันมะพร้าว 1 ช้อนโต๊ะ มีสารอาหารดังนี้

  • แคลอรี่ 117 กิโลแคลอรี่
  • ไขมันรวม 14 กรัม ซึ่งเป็นไขมันอิ่มตัว 12 กรัม
  • นอกจากนี้ยังมีสารอาหารอื่น ๆ เช่น กรดลอริก (Lauric acid) กรดไมริสติก (Myristic acid) กรดปาล์มิติก (Palmitic acid) แพลนท์สเตอรอล (Plant sterol) เป็นกรดไขมันอิ่มตัวที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียและไวรัส ลดความเสี่ยงการติดเชื้อที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ แผลพุพอง หลอดลมอักเสบ

    ประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าว

    น้ำมันมะพร้าวอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนประโยชน์ต่อการป้องกันและรักษาโรค ดังนี้

    • ลดน้ำหนัก

    น้ำมันมะพร้าวเป็นกรดไขมันอิ่มตัวสายกลาง (MCT) จากธรรมชาติ ที่มีส่วนช่วยเผาผลาญ ดูดซึมสารอาหารอย่างรวดเร็วนำไปเปลี่ยนเป็นพลังงานให้ร่างกายนำไปใช้ จึงมีโอกาสน้อยที่ไขมันจะถูกสะสมซึ่งอาจนำไปสู่การช่วยลดน้ำหนัก จากการศึกษาหนึ่งของภาควิชาโภชนาการและการควบคุมอาหาร มหาวิทยาลัยสหพันธรัฐริโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Food & Function ปี พ.ศ. 2563 ได้ทำการทดสอบถึงประสิทธิภาพของน้ำมันมะพร้าวที่อาจช่วยในการลดน้ำหนักเผาผลาญไขมันที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน โดยทดสอบในกลุ่มผู้ชายวัยผู้ใหญ่ที่เป็นโรคอ้วน จำนวน 29 คน โดยให้รับประทานน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ 1 ช้อนโต๊ะ/วัน (12 มิลลิกรัม) เป็นเวลา 45 วัน จากนั้นทำการวัดระดับไขมัน น้ำตาลในเลือด พบว่า น้ำมันมะพร้าวอาจช่วยให้ร่างกายเผาผลาญพลังงาน และเพิ่มคอเลสเตอรอลที่ดี (HDL)

    • ป้องกันฟันผุ

    น้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติช่วยต้านการอักเสบและต้านจุลชีพ ซึ่งอาจสามารถช่วยป้องกันฟันผุได้ จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยกันนัวร์ ประเทศอินเดีย ที่ตีพิมพ์ในวารสารสมาคมทันตกรรม ปี พ.ศ. 2559 ได้ทำการทดสอบโดยให้เด็กผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 8-12 ปี จำนวน 25 คน กลั้วปากด้วยน้ำมันมะพร้าวทุกวันหลังจากแปรงฟัน เป็นเวลา 1 เดือน พบว่า น้ำมันมะพร้าวอาจช่วยลดปริมาณของเชื้อแบคทีเรียสเตร็พโตคอคคัส มิวแทนส์ (Streptococcus mutans) ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของฟันผุ ดังนั้น จึงอาจสามารถช่วยลดความเสี่ยงฟันผุได้

    • บำรุงสุขภาพผิวหนัง

    น้ำมันมะพร้าวในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมความงาม สามารถนำมาใช้บำรุงผิว เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว และป้องกันการระคายเคืองจากภาวะผิวแห้ง ผิวหยาบกร้าน จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารแพทย์แผนโบราณและการแพทย์เสริมในปี พ.ศ. 2562 พบว่า น้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติต้านการอักเสบที่เป็นเกราะป้องกันให้ผิวหนัง ช่วยลดการอักเสบจากการติดเชื้อของแบคทีเรียที่อาจก่อให้เกิดโรคผิวหนัง และอาจช่วยป้องกันรังสียูวีในระดับปานกลาง

  • ป้องกันผมเสีย
  • น้ำมันมะพร้าวที่นำมาสกัดในรูปแบบผลิตภัณฑ์บำรุงผม เช่น ทรีตเม้นท์ น้ำมันบำรุงผม แชมพู อาจช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นทำให้ผมมีน้ำหนัก และกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผม จากการศึกษาของฝ่ายวิจัยและพัฒนาของบริษัทแห่งหนึ่งในประเทศอินเดีย ตีพิมพ์ใน Journal of cosmetic science พ.ศ. 2546 พบว่า กรดลอริกในน้ำมันมะพร้าวมีโมเลกุลขนาดเล็กสามารถแทรกซึมเข้าสู่เส้นผม และช่วยลดการสูญเสียโปรตีนในเส้นผม ที่อาจนำไปสู่การเกิดผมเสีย อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้หนังศีรษะ ลดการระคายเคืองและรังแค

    ข้อควรระวังการใช้น้ำมันมะพร้าว

    การรับประทานน้ำมันมะพร้าวในปริมาณมากอาจเพิ่มคอเลสเตอรอลในเลือด เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวมีกรดไขมันอิ่มตัวสูง ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะคอเลสเตอรอลสูง ดังนั้น จึงไม่ควรรับประทานเกิน 1 ช้อนโต๊ะ/วัน และควรรับประทานแค่ 2-3 ครั้ง/สัปดาห์

    สำหรับเด็กและสตรีมีครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร การรับประทานน้ำมันมะพร้าวในรูปแบบอาหารอาจมีความปลอดภัยแต่ควรระมัดระวังการรับประทานน้ำมันมะพร้าวในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ควรขอคำปรึกษาจากคุณหมอก่อนรับประทาน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 27/01/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา