หนึ่งในวิธีการลดน้ำหนักที่เห็นผลคือ การเลือกรับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ ซึ่งหากจะให้ไล่เรียงก็คงจะพูดถึงไม่หมด เพราะมีอาหารดี ๆ ที่เหมาะกับการลดน้ำหนักอยู่มากมาย แต่หากจะให้แนะนำสักอย่างหนึ่งล่ะก็ Hello คุณหมอ ขอนำเสนอ เต้าหู้ อาหารนุ่มลิ้น ที่รสชาติแสนจะจืดชืดนี่แหละ แต่ เต้าหู้ช่วยลดน้ำหนัก ได้อย่างไรนั้น มาติดตามกันเลยค่ะ
[embed-health-tool-bmi]
คุณค่าทางโภชนาการของ เต้าหู้
เต้าหู้ 1 ก้อน ปริมาณ 122 กรัม ให้สารอาหารสำคัญ ดังนี้
- พลังงาน 177 แคลอรี่
- คาร์โบไฮเดรต 5.36 กรัม
- โปรตีน 15.57 กรัม
- แคลเซียม 421 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 3.35 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 282 มิลลิกรัม
- โพแทสเซียม 178 มิลลิกรัม
เนื่องจาก เต้าหู้ ทำมาจากถั่วเหลือง จึงทำให้เต้าหู้มีโปรตีนจากถั่วเหลือง รวมถึงกรดอะมิโน กรดไขมันโอเมก้า 3 ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน กรดไขมันแอลฟาไลโนเลนิก (Alpha-Linolenic acid) และไอโซฟลาโวน (Isoflavone) ที่ล้วนแล้วแต่ก็เป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายทั้งสิ้น
เต้าหู้ช่วยลดน้ำหนัก ได้อย่างไร
มีแคลอรี่ต่ำ
เต้าหู้ ขนาด 3.5 ออนซ์ ให้พลังงานเพียง 78 แคลอรี่ และเต้าหู้ทุกประเภทก็ให้แคลอรี่น้อยกว่าอาหารที่ให้โปรตีนอย่างเนื้อสัตว์อีกด้วย การรับประทานเต้าหู้ จึงมีส่วนช่วยควบคุมแคลอรี่ให้อยู่ในเกณฑ์ตามที่ต้องการในแต่ละวัน ป้องกันแคลอรี่พุ่งเกินพิกัด ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการมีน้ำหนักมาก สำหรับคนที่กำลังลดน้ำหนักหรือควบคุมอาหาร เต้าหู้จึงถือเป็นหนึ่งในเมนูลดน้ำหนักที่ไม่ควรพลาด
ให้โปรตีนสูง
เต้าหู้อุดมไปด้วยโปรตีนในปริมาณสูง ซึ่งการรับประทานอาหารที่ให้โปรตีนสูงจะช่วยทำให้อิ่มได้นานขึ้น ลดความอยากอาหารในมื้อต่อ ๆ ไป ป้องกันความเสี่ยงของแคลอรี่พุ่งเกินพิกัด ดังนั้น หากอยู่ระหว่างการลดน้ำหนัก ในมื้ออาหารมื้อหลัก ควรเพิ่มเต้าหู้ลงไปในมื้ออาหารนั้น ๆ ด้วย เพื่อช่วยให้ร่างกายได้รับโปรตีนอย่างเพียงพอ
โปรตีนในเต้าหู้ ช่วยลดน้ำหนักได้ดีกว่าโปรตีนในเนื้อสัตว์หรือเปล่า
หลายคนอาจจะรู้สึกว่า แม้เนื้อสัตว์จะให้โปรตีนก็จริง แต่ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ที่ติดมัน หรือไม่มีลีนโปรตีนมากพอ ก็เสี่ยงที่จะได้รับไขมันด้วย โปรตีนจากการกินเนื้อสัตว์จึงอาจจะไม่ดีต่อการลดน้ำหนักเท่าไหร่นัก เมื่อเทียบกับโปรตีนจากพืชที่ไม่มีไขมันอยู่เลย ดังนั้น การกิน เต้าหู้ จึงอาจทำให้ได้รับประโยชน์ในการลดน้ำหนักมากกว่าการกินเนื้อสัตว์
อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาในปีค.ศ. 2018 ที่ได้รับการเผยแพร่ลงใน Obesity Science & Practice ได้เผยถึงผลการเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่รับประทานโปรตีนจากถั่วเหลือง อย่าง เต้าหู้ กับผู้ที่รับประทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์ พบว่าท้ายที่สุดแล้วก็แทบไม่มีความแตกต่างในแง่ของการลดน้ำหนักเลย ดังนั้น ไม่ว่าจะโปรตีนในเนื้อสัตว์ หรือโปรตีนจากถั่วเหลือง ต่างก็ดีต่อการลดน้ำหนักพอ ๆ กัน แต่สำหรับเนื้อสัตว์ควรจะเลือกเนื้อไม่ติดมันหรือลีนโปรตีน เพื่อลดความเสี่ยงของการสะสมไขมันเกินพิกัด