backup og meta

การลดน้ำหนัก กับ 5 ความเชื่อผิด ๆ ที่ควรรู้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 10/10/2022

    การลดน้ำหนัก กับ 5 ความเชื่อผิด ๆ ที่ควรรู้

    ในปัจจุบันมีเทคนิคสำหรับ การลดน้ำหนัก มากมาย การเลือกวิธีลดน้ำหนักของแต่ละบุคคลอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับ ความสะดวก ความพึงพอใจ และความเหมาะสม เป็นต้น ทั้งนี้ อาจมีความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการลดน้ำหนักบางประการที่ควรรู้และทำความเข้าใจใหม่ เพื่อให้สามารถลดน้ำหนักได้อย่างเห็นผลจริงและไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

    ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับ การลดน้ำหนัก

    ความเชื่อที่ 1 : อยากลดน้ำหนัก ให้งดคาร์โบไฮเดรต

    หลายคนมีความเชื่อว่า การรับประทานอาหารจำพวกแป้ง หรือคาร์โบไฮเดรต เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อ้วน เนื่องจากคาร์โบไฮเดรตที่รับประทานเข้าไป จะย่อยสลายกลายเป็นน้ำตาลแล้วสะสมอยู่ในร่างกาย ผู้ที่อยากลดความอ้วนหลาย ๆ คน จึงพยายามหลีกเลี่ยงการรับประทานคาร์โบไฮเดรต ไม่ว่าจะเป็นข้าว แป้ง ขนมปัง หรือแม้แต่ผักที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น มันฝรั่ง เผือก มันเทศ อย่างสิ้นเชิง เพราะเชื่อว่าการงดรับประทานแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตจะทำให้สามารถลดความอ้วนได้

    ความจริงแล้ว การงดคาร์โบไฮเดรตอย่างสิ้นเชิงนี้เป็นการกระทำที่อันตรายมาก เนื่องจากอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตจัดเป็นแหล่งพลังงานหลักของร่างกายและเป็นส่วนประกอบหลักของกล้ามเนื้อ การหลีกเลี่ยงคาร์โบไฮเดรตเป็นเวลานาน อาจทำให้ขาดพลังงาน เหนื่อยล้า ไม่มีแรง ส่งผลให้สูญเสียกล้ามเนื้อ และเมื่อกลับไปกินคาร์โบไฮเดรต ก็อาจทำให้น้ำหนักกลับมาพุ่งขึ้นสูงอีกครั้งได้

    ความเชื่อที่ 2 ไขมันคือการตัวสำคัญที่ทำให้อ้วน

    เราอาจจะเคยได้ยินคำแนะนำเกี่ยวกับการลดน้ำหนักว่า ให้งดอาหารที่มีไขมันทั้งหมด เพราะไขมันเป็นสารอาหารที่ให้แคลอรี่สูง ไขมัน 1 กรัม จะให้พลังงานมากถึง 9 แคลอรี่ ในขณะที่โปรตีนและคาร์โบไฮเดรตจะให้พลังานแค่เพียง 4 แคลอรี่เท่านั้น การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง จึงทำให้ร่างกายของเราได้รับแคลอรี่มากกว่าอาหารอื่น ๆ ดังนั้น หลายคนจึงพยายามหลีกเลี่ยงไขมันในอาหารทั้งหมด รวมไปจนถึงเลือกกินนมไขมันต่ำ แทนการกินนมปกติอีกด้วย

    ความจริงแล้ว แม้ว่าไขมันนั้นจะเป็นสารอาหารที่ให้แคลอรี่สูง แต่ไขมัน ไม่ใช่ตัวการที่ทำให้คุณอ้วน ตราบใดที่คุณยังสามารถควบคุมปริมาณของแคลอรี่ที่ได้รับให้อยู่เกณฑ์ที่พอเหมาะ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พบว่า การรับประทานที่มีไขมันสูง แต่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ อาจสามารถช่วยลดน้ำหนักได้ ซึ่งเป็นแนวคิดสำหรับการลดน้ำหนักด้วยอาหารไขมันสูง ที่เรียกว่า คีโตเจนิค (Ketogenic Diet) นั้นเอง

    ความเชื่อที่ 3 การกินอาหารมังสวิรัติและวีแกน ไม่ทำให้อ้วน

    แม้ว่าการรับประทานอาหารมังสวิรัติและวีแกนที่ประกอบไปด้วยผักและผลไม้ปริมาณมากช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ ลดความดันโลหิต และลดน้ำหนักได้จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถกินอาหารมังสวิรัติและวีแกนในปริมาณเท่าไหร่ก็ได้ โดยไม่ต้องควบคุมปริมาณของแคลอรี่ที่ได้รับ

    หากเลือกรับประทานอาหารมังสวิรัติหรืออาหารวีแกนเพื่อลดน้ำหนัก คุณยังจำเป็นต้องจำกัดปริมาณของแคลอรี่ที่ได้รับจากอาหาร และออกกำลังกายเพื่อช่วยเพิ่มการเผาผลาญพลังงานที่สะสมในร่างกายออกไป นอกจากนี้ อาหารมังสวิรัติบางอย่าง อาจจะมีส่วนประกอบของแป้ง น้ำตาล หรือไขมันสูง ที่อาจกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน

    ความเชื่อที่ 4 การกินอาหารเสริมช่วยลดน้ำหนักได้

    อาหารเสริมที่สามารถพบได้ตามท้องตลาด มักจะชอบโฆษณาว่าสามารถช่วยทำให้น้ำหนักลดลงได้ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเพิ่มใยอาหาร ทำให้รู้สึกอิ่ม หรือเป็นยาระบายอ่อน ๆ แต่ในความจริงแล้ว อาหารเสริมส่วนใหญ่นั้น มักจะไม่ได้มีผลในการช่วยลดน้ำหนักแต่อย่างใด เป็นเพียงแค่ตัวเสริมสารอาหารเท่านั้น และตามปกติ ผู้ที่ใช้อาหารเสริมเพื่อลดน้ำหนัก ก็มักจะระมัดระวังในการรับประทานอาหารมากกว่าปกติ ทำให้น้ำหนักลดลง จนทำให้รู้สึกเหมือนว่าเป็นผลมาจากอาหารเสริมนั่นเอง

    ความเชื่อที่ 5 การอดอาหารให้รู้สึกหิวตลอดเวลา สามารถช่วยลดน้ำหนักได้

    บางคนที่ลดน้ำหนัก อาจจะเลือกวิธีการอดอาหาร ทำให้ตัวเองรู้สึกหิวอยู่ตลอดเวลา แต่วิธีการนี้เป็นวิธีการลดน้ำหนักที่ไม่มีต่อสุขภาพ และเสี่ยงต่อการเกิดโยโย่ เอฟเฟค เป็นอย่างมาก การอดอาหารนั้นอาจสามารถช่วยให้คุณลดน้ำหนักได้บ้างเล็กน้อยในช่วงแรก แต่ในระหว่างนั้นคุณก็จะต้องทนทรมานกับความรู้สึกหิว จนทำให้เกิดความหงุดหงิด ไม่มีสมาธิ และไม่มีแรงในการทำงานใด ๆ นอกจากนี้ การอดอาหารจะชะลอการทำงานของระบบการเผาผลาญ และมักส่งผลให้เกิดการกินมากเกินไปได้ในภายหลัง

    ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการลดน้ำหนัก เหล่านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเชื่อผิด ๆ ที่มีอยู่มากมายบนอินเทอร์เน็ต หากคุณผู้อ่านต้องการลดน้ำหนักอย่างมีประสิทธิภาพ อาจเลือกใช้เป็นวิธีการลดปริมาณของอาหารที่รับประทาน แบ่งรับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ วันละหลาย ๆ มื้อ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์แทน การเลือกรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง มีน้ำตาลน้อย และมีแคลอรี่ต่ำ เช่น กะหล่ำปลี หรือผักกาดขาว จะช่วยให้คุณอิ่มได้นานขึ้น รับประทานอาหารได้น้อยลง และทำให้น้ำหนักลดลงมาได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 10/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา