อาจช่วยปรับปรุงระดับคอเลสเตอรอล
กระเทียมอาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลรวมและไขมันชนิดไม่ดี (LDL) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจ จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในสารวาร Nutrition Reviews พ.ศ. 2556 ศึกษาเกี่ยวกับผลของกระเทียมต่อไขมันในเลือด โดยไขมันในเลือดสูงมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการเกิดโรคหัวใจ พบว่า ผู้ที่มีอายุ 50 ปี และมีระดับคอเลสเตอรอล 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หลังรับประทานกระเทียมเป็นเวลา 2 เดือน มีระดับของคอเลสเตอรอลทั้งหมดในเลือดลดลง 8% ซึ่งสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ 38%
นอกจากนั้น กระเทียมอาจมีประสิทธิภาพในการลดคอเลสเตอรอลรวมได้ประมาณ 6 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และอาจช่วยลดคอเลสเตอรอลไลโปโปรตีนความหนาแน่นต่ำได้ประมาณ 6 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จึงอาจกล่าวได้ว่า กระเทียมอาจมีส่วนช่วยลดคอเลสเตอรอลและเป็นสมุนไพรที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีคอเลสเตอรอลสูง
อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง
สารประกอบออร์กาโนซัลเฟอร์ (Organosulfur) ที่พบในกระเทียม อาจมีประสิทธิภาพในการทำลายเซลล์เนื้องอกไกลโอบลาสโตมา (Glioblastomas) ซึ่งเป็นเนื้องอกในสมองชนิดร้ายแรง โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Cancer พ.ศ. 2550 ศึกษาเกี่ยวกับสารประกอบออร์กาโนซัลเฟอร์ที่ได้มาจากกระเทียม พบว่า สารประกอบออร์กาโนซัลเฟอร์ที่ได้มาจากกระเทียม 3 ชนิด คือ ไดอัลลิล ซัลไฟด์ (Diallyl Sulfide) ไดอัลลิล ไดซัลไฟด์ (Diallyl Disulfide) ไดอัลลิล ไตรซัลไฟด์ (Diallyl Trisulfide) อาจมีส่วนช่วยป้องกันการก่อมะเร็ง นอกจากนั้น สารประกอบในกระเทียมยังทำให้เซลล์เนื้องอกไกลโอบลาสโตมามีวงจรชีวิตสั้นลงและอาจมีส่วนทำให้เซลล์ตายลงอย่างช้า ๆ
อาจช่วยปรับปรุงสุขภาพกระดูก
ผู้หญิงที่รับประทานผักซึ่งอุดมไปด้วยสารอัลลิซินมีความเสี่ยงต่ำในการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม จากการวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Dietary Supplements พ.ศ. 2555 ศึกษาเกี่ยวกับผลของกระเทียมอัดเม็ดต่อไซโตไคน์ (Cytokines) ที่ก่อให้เกิดการอักเสบในสตรีวัยหมดประจำเดือนที่เป็นโรคกระดูกพรุนจำนวน 44 ราย พบว่า ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่เป็นโรคกระดูกพรุนแล้วรับประทานกระเทียมรูปแบบอัดเม็ด 2 เม็ดทุกวัน เป็นเวลา 1 เดือน มีค่าเฉลี่ยของสารไซโตไคน์ลดลงประมาณ 47% อย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนั้น งานวิจัยอีกหนึ่งชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสาร BMC Musculoskeletal Disorders พ.ศ. 2553 ศึกษาเกี่ยวกับกระเทียมในอาหารและโรคข้อเข่าเสื่อมในฝาแฝดเพศหญิงช่วงอายุ 46-77 ปี พบว่า การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยผัก ผลไม้ และสมุไพร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หัวหอม กระเทียม หอมแดง ซึ่งมีสารอัลลิซิน อาจช่วยป้องกันโรคข้อสะโพกเสื่อมได้
ข้อควรระวังสำหรับการบริโภคกระเทียม
แม้กระเทียมจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ก็มีข้อควรระวังในการบริโภค ดังนี้
- ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร
- รับประทานยาชนิดอื่นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นยาตามใบสั่งคุณหมอ ยาที่ซื้อได้เอง ยาต้านไวรัสเอชไอวี ยาคุมกำเนิด ยาปฏิชีวนะ เช่น อโซไนอาซิด (Isoniazid)
- มีอาการแพ้สารในกระเทียม แพ้ยาชนิดอื่น หรือแพ้สมุนไพรชนิดอื่น
- มีอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น แพ้อาหาร สีผสมอาหาร สารกันบูด เนื้อสัตว์
- มีอาการเจ็บป่วย มีโรคประจำตัว หรือมีภาวะสุขภาพที่กำลังรักษาอยู่อื่น ๆ เช่น ความผิดปกติของเลือด ปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารหรือการย่อยอาหาร ความดันโลหิตต่ำ
นอกจากนี้ หากบริโภคกระเทียมมากเกินไปอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง ดังนี้
- มีกลิ่นปาก กลิ่นตัว
- ท้องร่วง
- ปากไหม้
- ระคายเคืองหลอดอาหาร
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เหงื่อออกมากกว่าปกติ
- วิงเวียนศีรษะ
- มีเลือดออก
- อาการโรคหอบหืดกำเริบ
- ผิวหนังผิดปกติ เช่น ผิวหนังไหม้
อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงที่กล่าวมาข้างต้น อาจไม่ได้เกิดกับทุกคน หากมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียงควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกร
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย