backup og meta

ขนมปังโฮลวีท ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

ขนมปังโฮลวีท ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

ขนมปังโฮลวีท เป็นขนมปังที่ทำจากแป้งข้าวสาลีเต็มเมล็ดหรือข้าวสาลีที่ยังไม่ขัดสี ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพกว่าขนมปังขัดขาว หากเลือกรับประทานถูกชนิดและรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม

[embed-health-tool-bmr]

คุณค่าทางโภชนาการของ ขนมปังโฮลวีท

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture หรือ USDA) ระบุว่า ขนมปังโฮลวีท 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 254 กิโลแคลอรี่ รวมถึงสารอาหารต่าง ๆ ดังนี้

  • คาร์โบไฮเดรต 43.1 กรัม
  • โปรตีน 12.3 กรัม
  • ไขมัน 3.55 กรัม
  • โซเดียม 450 มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม 250 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 212 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 163 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 76.6 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 55 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 39 มิลลิกรัม
  • โคลีน (Choline) 27.2 มิลลิกรัม
  • ซีลีเนียม (Selenium) 25.8 ไมโครกรัม

นอกจากนี้ ขนมปังโฮลวีท ยังประกอบด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น แมงกานีส เหล็ก ทองแดง สังกะสี กับวิตามินต่าง ๆ เช่น วิตามินเอ วิตามินอี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 5 วิตามินบี 6 วิตามินบี 9 อย่างไรก็ตาม ปริมาณวิตามินและแร่ธาตุในขนมปังขึ้นอยู่กับผู้ผลิต ว่าได้เสริมวิตามินและแร่ธาตุเข้าไปในระหว่างการผลิตมากน้อยเพียงใด

ประโยชน์ของขนมปังโฮลวีทต่อสุขภาพ

ขนมปังโฮลวีทอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของขนมปังโฮลวีท ดังนี้

1. อาจช่วยควบคุมน้ำหนัก

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Plant Foods for Human Nutrition ปี พ.ศ. 2561 ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการบริโภคอาหารและขนมปังที่ทำจากข้าวสาลีไม่ขัดสีต่อระดับไขมันในช่องท้อง โดยนักวิจัยแบ่งผู้เข้าร่วมการทดลองชาวญี่ปุ่นจำนวน 50 ราย ซึ่งมีค่าดัชนีมวลกายเท่ากับหรือมากกว่า 23 ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้บริโภคอาหารและขนมปังที่ทำจากข้าวสาลีไม่ขัดสี ส่วนอีกกลุ่มให้บริโภคอาหารและขนมปังที่ทำจากข้าวสาลีขัดสี เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์เท่า ๆ กัน เมื่อครบระยะเวลาทดลอง พบว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองกลุ่มที่บริโภคอาหารและขนมปังที่ทำจากข้าวสาลีไม่ขัดสี มีระดับไขมันในช่องท้องลดลงประมาณ 4 ตารางเซนติเมตร ขณะที่อีกกลุ่มไม่พบการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมันในช่องท้อง แต่พบว่ามีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

2. อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสาร BMJ ปี พ.ศ. 2559 ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคธัญพืชเต็มเมล็ดและความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง รวมถึงสาเหตุการเสียชีวิตอื่น ๆ โดยนักวิจัยศึกษางานวิจัยจำนวน 45 ชิ้น ผลสรุปว่า การบริโภคธัญพืชเต็มเมล็ด รวมถึงขนมปังหรือซีเรียลที่ทำจากธัญพืชเต็มเมล็ด อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

3. อาจช่วยป้องกันมะเร็งบางชนิดได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร BMJ ปี พ.ศ. 2554 ศึกษาเรื่องใยอาหาร ธัญพืชเต็มเมล็ด และความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยนักวิจัยได้ศึกษางานวิจัยจำนวน 25 ชิ้น พบข้อสรุปว่า การบริโภคใยอาหารในปริมาณมาก โดยเฉพาะจากธัญพืชเต็มเมล็ด อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ โดยการบริโภคธัญพืชเต็มเมล็ดในปริมาณ 90 กรัม/วัน อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ราว ๆ 20 เปอร์เซ็นต์ และหากเพิ่มปริมาณอาจยิ่งลดความเสี่ยงได้มากขึ้น

ข้อควรระวังในการบริโภค ขนมปังโฮลวีท

ผู้ที่แพ้ข้าวสาลีควรหลีกเลี่ยงการบริโภคขนมปังโฮลวีท เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ หากต้องการบริโภคขนมปังธัญพืช ควรเลือกบริโภคขนมปังที่ทำจากข้าวโอ๊ตแทน

นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวน ยังไม่ควรบริโภคขนมปังโฮลวีท เพราะคาร์โบไฮเดรตบางชนิดในข้าวสาลี อาจเป็นสาเหตุให้อาการกำเริบได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Bread, whole-wheat, commercially prepared. https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/335240/nutrients. Accessed August 4, 2022

Effects of Whole Grain Wheat Bread on Visceral Fat Obesity in Japanese Subjects: A Randomized Double-Blind Study. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/29671172/. Accessed August 4, 2022

Whole grain and refined grain consumption and the risk of type 2 diabetes: a systematic review and dose-response meta-analysis of cohort studies. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/24158434/. Accessed August 4, 2022

Whole grain consumption and risk of cardiovascular disease, cancer, and all cause and cause specific mortality: systematic review and dose-response meta-analysis of prospective studies. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/27301975/. Accessed August 4, 2022

Dietary fibre, whole grains, and risk of colorectal cancer: systematic review and dose-response meta-analysis of prospective studies. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3213242/. Accessed August 4, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/09/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

สูตรขนมปังขิง

เลือกขนมปัง อย่างไร ให้ดีต่อสุขภาพ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 30/09/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา