นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Phytotherapy Research เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 ศึกษาเรื่อง การยับยั้งการอักเสบและการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดของสารสกัดเมทานอลของเห็ดสกุลนางรม พบว่า สารสกัดจากเห็ดสกุลนางรม รวมถึงเห็ดนางรมหลวงหรือเห็ดออรินจิสามารถเยียวยาการอักเสบเฉียบพลันและการอักเสบเรื้อรังได้ เมื่อรับประทานในปริมาณ 500 และ 1000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จึงอาจกล่าวได้ว่า เห็ดออรินจิมีศักยภาพในการรักษาโรคความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น ภาวะหลอดเลือดอุดตัน ได้
อาจมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ
เห็ดออรินจิประกอบไปด้วยสารกลุ่มเบต้ากลูแคนส์ (Beta-glucans) ที่พบได้ทั่วไปในสิ่งมีชีวิตตระกูลเห็ด รา ยีสต์ เบต้ากลูแคนส์ช่วยเคลื่อนย้ายเม็ดเลือดขาวให้ไปยังบริเวณที่เกิดการอักเสบและส่งเสริมการทำงานของสารต้านจุลชีพ เห็ดออรินจิจึงมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ โดยกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองต่ออาการอักเสบของเซลล์ภายในร่างกาย
จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrition เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 ศึกษาเรื่อง ฤทธิ์ต้านการอักเสบของเห็ดสกุลนางรม รวมถึงเห็ดออรินจิที่เกิดขึ้นจากความสามารถในการยับยั้งการส่งสัญญาณของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบและการเกิดมะเร็งอย่าง NF-κB และ AP-1 พบว่า สารประกอบของเห็ดออรินจิ เช่น เมทานอล สเตียรอยด์ กรดฟีนอลิก ไทโรซีน (Tyrosine) วิตามินบี 2 มีฤทธิ์ในการยับยั้งอาการอักเสบได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงอาจสรุปได้ว่า เห็ดสกุลนางรม รวมถึงเห็ดออรินจิเป็นอาหารที่มีประโยชน์ในการยับยั้งอาการอักเสบของเซลล์ในร่างกาย
อาจช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันได้
เห็ดออรินจิ มีส่วนประกอบของสารพอลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharides) ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้นกัน โดยสารชนิดนี้จะทำงานร่วมกับเม็ดเลือดขาวแมกโครฟาจ (Macrophage) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ภูมิคุ้มกัน (Dendritic cells) ซึ่งมีหน้าที่ทำลายเซลล์แปลกปลอมที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย และเพิ่มประสิทธิภาพในการต้านเชื้อโรคได้
จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ศึกษาเรื่องความรู้และมุมมองต่อสารพอลิแซ็กคาไรด์ในเห็ดสกุลนางรม พบว่า สารพอลิแซ็กคาไรด์ที่พบในเห็ดสกุลนางรม มีส่วนช่วยลดความเสียหายจากการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันที่เกิดจากอนุมูลอิสระได้ ทั้งยังช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านการอักเสบ ควบคุมความสมดุลของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร จึงอาจสรุปได้ว่า การรับประทานเห็ดออรินจิหรือเห็ดนางรมหลวง ซึ่งเป็นเห็ดสกุลนางรมชนิดหนึ่ง อาจมีส่วนช่วยให้ระบบร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันได้
ข้อควรระวังในการบริโภค เห็ดออรินจิ
เห็ดออรินจิอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ แต่หากรับประทานมากเกินไป หรือรับประทานผิดวิธี ก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือผลเสียต่อสุขภาพได้ ดังนี้
- เห็ดมีทั้งชนิดที่กินได้และเป็นพิษ และบางครั้งอาจมีลักษณะคล้ายคลึงกันมากจนอาจทำให้เข้าใจผิดได้ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพจากการบริโภคเห็ดพิษ ควรเลือกซื้อเห็ดจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ และหลีกเลี่ยงการบริโภคเห็ดที่ไม่คุ้นเคย
- หากรับประทานเห็ดออรินจิหรือเห็ดอื่น ๆ แล้วมีอาการแพ้ เช่น วิงเวียนศีรษะ อาเจียน ท้องเสีย ควรหยุดรับประทานทันทีแล้วรีบไปพบคุณหมอ และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดชนิดนั้น ๆ อีกในอนาคต
- เห็ดออรินจิมีส่วนประกอบของสารอราบิทอล (Arabitol) ในปริมาณเล็กน้อย สารชนิดนี้เป็นน้ำตาลแอลกอฮอล์ที่อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน จึงควรบริโภคอย่างระวัง และหยุดบริโภคทันทีหากพบอาการดังกล่าว
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย