2. อาจช่วยชะลอความชรา
ถั่งเช่า มีสารต้านอนุมูลอิสระ ที่อาจมีส่วนช่วยชะลอความแก่ชรา รวมทั้งป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย รวมทั้งอาจช่วยปรับปรุงความจำ
ในรายงานการวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของสารสกัดถั่งเช่าต่อการชะลอวัย ที่เผยแพร่ในวารสาร Phytotherapy Research ปี พ.ศ. 2552 ซึ่งทดลองในสัตว์ทดลอง พบว่า สารสกัดจากถั่งเช่า อาจช่วยพัฒนาระบบการทำงานของสมองและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเอนไซม์ซูเปอร์ออกไซด์ดิสมิวเทส (Superoxide Dismutase) ซึ่งมีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระในร่างกายของสัตว์ทดลองที่มีอายุมากและมีความจำบกพร่องนอกจากนี้ ถังเช่ายังช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบสืบพันธุ์ ในสัตว์ทดลองที่ทำหมันแล้ว งานวิจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ถั่งเช่าอาจมีสรรพคุณช่วยชะลอวัย
นอกจากนี้ การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับ ประโยชน์ของถั่งเช่าต่อการยืดอายุขัย ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร The FASEB Journal ปี พ.ศ. 2554 ยังพบว่า ผลิตภัณฑ์จากถั่งเช่าอาจมีส่วนช่วยยืดอายุขัยของสัตว์ทดลองที่มีอายุมากที่สุดได้นานขึ้น 152 วัน จึงสรุปว่า ถั่งเช่าอาจมีสรรพคุณชะลอวัย
ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของถั่งเช่าในการชะลอความชรา
3. อาจช่วยป้องกันโรคมะเร็ง
การบริโภคถั่งเช่า อาจช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้ เนื่องจากมีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น โพลิฟีนอล ฟลาโวนอยด์ ซึ่งมีคุณสมบัติออกฤทธิ์ต้านมะเร็ง
งานวิจัยหนึ่งที่ศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างถั่งเช่าในการมีส่วนช่วยลดโอกาสเติบโตของเซลล์มะเร็งปอด ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Molecules ปี พ.ศ. 2558 โดยทดลองใช้สารสกัดถั่งเช่ากับเซลล์มะเร็งในห้องทดลองเพื่อรักษาเซลล์มะเร็ง พบว่า สารสกัดจากถั่งเช่ามีตัวยาที่อาจช่วยลดการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งปอด และทำลายเซลล์มะเร็งได้
อย่างไรก็ตาม สรรพคุณต้านมะเร็งของถังเช่าควรมีการศึกษาและทดลองเพิ่มเติม เพื่อหาหลักฐานและเหตุผลสนับสนุนผลการวิจัยดังกล่าวต่อไป
4. อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
สารสกัดถั่งเช่า อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ที่สูงจนเป็นผลเสียต่อร่างกายในผู้ป่วยเบาหวานได้ด้วยกระตุ้นให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลเพิ่มขึ้น ผ่านการทำงานของเอนไซม์ไพรูเวต ไคเนส (Pyruvate Kinase) อ้างอิงจากผลการศึกษาเรื่องคุณสมบัติของสารสกัดถั่งเช่า ที่ตีพิมพ์ในวารสาร BioMed Research International ปี พ.ศ. 2557 พบว่าสารสกัดถั่งเช่าอาจมีสารประกอบที่ต่อต้านอนมูลอิสระซึ่งมีส่วนช่วยรักษาภาวะแทรกซ้อนในเบาหวาน
ขณะเดียวกัน งานวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ของสารสกัดถั่งเช่าต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Life Sciences พ.ศ. 2547 โดยทดลองฉีดสารสกัดถั่งเช่าในสัตว์ทดลอง พบว่า ดอกเห็ดถั่งเช่า อาจมีส่วนช่วยบรรเทาภาวะน้ำตาลในเลือดสูง รวมถึงอาการกระหายน้ำและน้ำหนักลดอย่างผิดปกติ เนื่องจากโรคเบาหวาน งานวิจัยดังกล่าวจึงสรุปว่า ถั่งเช่าอาจเป็นอาหารที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพชนิดหนึ่งที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของถั่งเช่าในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
5. อาจช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด
ถั่งเช่า มีสารคอร์ไดเซปีนที่อาจมีสรรพคุณช่วยป้องกันภาวะไขมันในเลือดสูงในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
ในรายงานฉบับหนึ่งเกี่ยวกับสารคอร์ไดเซปีนซึ่งช่วยป้องกันไขมันในเลือดซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Pharmacological Sciences พ.ศ. 2553 โดยทดลองให้สัตว์ทดลองกินอาหารไขมันสูง และสารสกัดถั่งเช่าพบว่า ถั่งเช่า อาจมีส่วนช่วยลดระดับไขมันต่าง ๆ ได้ในสัตว์ทดลองที่กินอาหารไขมันสูงทุกวัน
ไขมันต่าง ๆ ในที่นี้ ได้แก่ คอเลสเตอรอล ไขมันความหนาแน่นต่ำหรือไขมันเลว (Low-density Lipoprotein Cholesterol) และไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)
ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของถั่งเช่าในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด
ข้อควรระวังในการบริโภคถั่งเช่า
ถั่งเช่า ควรบริโภควันละ 3-6 กรัม โดยผลข้างเคียงเนื่องจากบริโภคถั่งเช่า อาจทำให้เกิดอาการท้องร่วง ท้องผูก หรือไม่สบายท้องได้ในระดับที่ไม่รุนแรง
ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร ไม่ควรบริโภคถั่งเช่า เนื่องจากปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าสามารถบริโภคถั่งเช่าได้อย่างปลอดภัย
นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อของตนเอง (Autoimmune Diseases) ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคถั่งเช่า เพราะถั่งเช่าอาจกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และทำให้อาการของโรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อของตนเองรุนแรงยิ่งกว่าเดิม
นอกจากนั้น ถั่งเช่าอาจไม่เหมาะต่อการบริโภคช่วงใกล้ผ่าตัด เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงเลือดออกผิดปกติระหว่างผ่าตัด ดังนั้น ก่อนผ่าตัด ควรหยุดรับประทานถั่งเช่าและสมุนไพรอื่น ๆ เป็นเวลา 2 สัปดาห์
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย