กากน้ำตาล เป็นน้ำเชื่อมข้น ๆ ที่ได้จากการต้มน้ำอ้อยให้งวด และปล่อยให้ตกผลึกเป็นน้ำตาลทราย มีรสหวานปมขม นิยมใช้ในการทำขนมหรือใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ประโยชน์ต่อสุขภาพของกากน้ำตาลอาจมีทั้งการช่วยลดความดันโลหิต ลดความเสี่ยงกระดูกพรุน อย่างไรก็ตาม การรับประทานกากน้ำตาลในปริมาณมากก็อาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพเช่นเดียวกับการรับประทานน้ำตาลทรายตามปกติ จึงควรรับประทานด้วยความระมัดระวัง
[embed-health-tool-bmi]
กากน้ำตาล คืออะไร
กากน้ำตาล (Molasses) หมายถึง น้ำเชื่อมแบบข้น ๆ ที่ใช้เพื่อเติมความหวาน ในอาหาร ขนม หรือเครื่องดื่มต่าง ๆ กากน้ำตาลนี้เป็นผลพลอยได้ที่ได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทราย โดยการต้มน้ำอ้อยจนงวด แล้วปล่อยให้ตกผลึกเป็นน้ำตาลทราย กากน้ำตาลจะเป็นส่วนน้ำเชื่อมข้น ๆ ที่หลงเหลืออยู่จากการตกผลึกนั้น
ประเภทของกากน้ำตาล
กากน้ำตาลนั้นจะมีอยู่หลายประเภท ได้แก่
- กากน้ำตาลอ่อน (Light molasses) เป็นกากน้ำตาลที่ได้จากการเคี่ยวน้ำอ้อยครั้งแรก จะมีสีอ่อนสุด และมีรสหวานที่สุด โดยปกติมักจะใช้ในการอบขนม
- กากน้ำตาลเข้ม (Dark molasses) เป็นกากน้ำตาลจากการเคี่ยวน้ำอ้อยครั้งที่สอง จะมีความข้นมากกว่า และมีความหวานน้อยกว่า สามารถใช้ในการอบขนมได้ แต่มักจะใช้เพื่อแต่งสีและกลิ่นมากกว่า
- กากน้ำตาลดำ (Blackstrap molasses) เป็นกากน้ำตาลที่ได้จากการเคี่ยวน้ำอ้อยในครั้งที่สาม เป็นกากน้ำตาลที่มีความข้นหนืดมากที่สุด และมีสีเข้มที่สุดจนเป็นสีดำ มีรสหวานของน้ำตาลเพียงแค่ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ และมักจะมีรสขมปนมาด้วย ส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้เป็นอาหารสัตว์ หรือใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร
คุณค่าทางโภชนาการของกากน้ำตาล
กากน้ำตาลนั้นแตกต่างจากน้ำตาลทราย เนื่องจากภายในกากน้ำตาลนั้นจะมีวิตามินและแร่ธาตุอยู่ กากน้ำตาลในปริมาณ 1 ช้อนชา หรือประมาณ 20 กรัมให้พลังงาน 58 แคลอรี่ และมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
- แมงกานีส 13 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน
- แมกนีเซียม 12 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน
- คอปเปอร์ 11 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน
- วิตามิน B-6 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน
- ซีลีเนียม 6 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน
- โพแทสเซียม 6 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน
- ธาตุเหล็ก 5 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน
- แคลเซียม 3 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน
ประโยชน์ของกากน้ำตาลต่อสุขภาพ
นอกจากคุณค่าทางโภชนาการแล้ว กากน้ำตาลยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพดังต่อไปนี้
ลดความดันโลหิต
โพแทสเซียมที่สามารถพบได้มากในกากน้ำตาลนั้น สามารถช่วยลดระดับของความดันโลหิตได้ โดยภายในกากน้ำตาล 1 ช้อนชา จะให้โพแทสเซียมประมาณ 293 มก. นอกจากนั้น โพแทสเซียมในกากน้ำตาลยังสามารถดูดซึมได้ง่ายกว่าสารให้ความหวานอื่น ๆ อีกด้วย
ป้องกันโรคเรื้อรัง
กากน้ำตาลมีสารต้านอนุมูลอิสระ จึงอาจช่วยลดโอกาสการเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับสารต้านอนุมูลอิสระที่มีอยู่ในตัวเลือกอื่น ๆ นอกเหนือจากน้ำตาลทราย เผยแพร่ในวารสาร Journal of the American Dietetic Association พ.ศ.2552 ระบุว่า ในสารให้ความหวานต่าง ๆ อาจมีสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์ในการต้านมะเร็งและโรคหัวใจ จึงอาจเหมาะเป็นทางเลือกของผลิตภัณฑ์ให้ความหวานที่ดีกว่าการบริโภคน้ำตาลทรายขาว ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลจากอ้อย กากน้ำตาล ไซรัป น้ำผึ้ง และน้ำตาลจากผลไม้
เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน
กากน้ำตาลนั้นอุดมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหาร ที่สามารถช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง สามารถปกป้องร่างกายจากโรคได้ดียิ่งขึ้น เช่น สังกะสีที่ช่วยเสริมการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว
ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุนนั้นเกิดจากการที่กระดูกขาดแคลเซียม และอ่อนแอไปตามกาลเวลา ภายในกากน้ำตาล 1 ช้อนชา จะมีแคลเซียมอยู่ประมาณ 41 มิลลิกรัม และยังมีวิตามินและแร่ธาตุอื่น ๆ ที่ช่วยเสริมความแข็งแรงให้กระดูกอีกด้วย เช่น ทองแดง เหล็ก
งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของทองแดง เหล็ก และเซเลเนียม (Selenium) ต่อความสมบูรณ์ของกระดูก เผยแพร่ในวารสาร Experimental Biology and Medicine พ.ศ. 2559 ระบุว่า ทองแดง เหล็ก และเซเลเนียม เป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อความแข็งแรงและความสมบูรณ์ของมวลกระดูกอย่างมีนัยสำคัญ
การบริโภคอาหารที่มีแร่ธาตุทองแดง เหล็ก อย่างกากน้ำตาลจึงอาจช่วยเสริมสร้างกระดูกและอาจช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน
กากน้ำตาลแตกต่างจากน้ำตาลทรายหรือไม่
แม้ว่ากากน้ำตาลจะปลอดภัยและมีคุณค่าทางสารอาหารมากกว่าน้ำตาลทรายที่บริโภคกันตามปกติ แต่การรับประทานกากน้ำตาลในปริมาณมาก อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้เช่นกัน และนำไปสู่การเกิดโรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคเบาหวาน โรคอ้วน และโรคหัวใจ นอกจากนี้ ยังอาจส่งผลกระทบต่อระบบการย่อยอาหาร และทำให้เกิดอาการท้องเสียได้
นักโภชนาการส่วนใหญ่นั้น ไม่แนะนำการรับประทานกากน้ำตาลเป็นอาหารเสริม หรือรับประทานเพื่อคุณค่าทางสารอาหาร แต่อาจให้กากน้ำตาลเป็นทางเลือกในการเพิ่มความหวานในการปรุงอาหาร