backup og meta

ไข้เหลือง ภัยเงียบจากยุงตัวร้าย เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 17/01/2023

    ไข้เหลือง ภัยเงียบจากยุงตัวร้าย เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

    เมื่อพูดถึงอันตรายจากยุงลายก็เชื่อว่าผู้คนทั่วไปส่วนใหญ่อาจนึกถึง โรคไข้เลือดออก หรือ ไข้ซิกา เป็นอันดับต้น ๆ แต่ยุงลายอาจเป็นพาหะของโรค ไข้เหลือง ด้วยเช่นกัน โดยจัดว่าเป็นโรคที่อยู่ในกลุ่มไข้เลือดออกอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งมีความรุนแรงและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 50 ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

    ไข้เหลือง โรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะ

    ไข้เหลือง (Yellow Fever) มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งจะทำให้เกิดอาการตัวเหลืองและตาเหลืองเหมือนกับโรคดีซ่าน ปวดศีรษะ และมีไข้สูง โดยมักจะพบมากในประเทศแถบทวีปอเมริกาใต้ ทวีปแอฟริกา และทะเลแคริบเบียน แม้ว่าจะไม่ค่อยพบโรคนี้ในทวีปเอเชียก็ตาม แต่ผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยงก็ต้องระมัดระวังและป้องกันโรคด้วยการฉีดวัคซีนก่อนเดินทาง

    อย่างไรก็ตาม ไข้เหลืองเกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในตระกูลเฟลวิไวรัส  (Flavivirus) ที่มียุงลายเป็นพาหะนำเชื้อจากผู้ป่วยโรคไข้เหลืองนำไปสู่คนปกติเหมือนกับโรคไข้เลือดออก แต่คำว่า หลือง มีที่มาจากอาการไข้ที่ร่วมกับอาการตัวเหลืองหรือภาวะดีซ่าน ซึ่งสามารถพบได้ในผู้ป่วยโรคนี้

    อาการเบื้องต้นของไข้เหลือง

    เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดไข้เหลืองจะมีระยะฟักตัวของโรคประมาณ 3-6 วัน โดยอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ระยะ ดังนี้

  • ระยะแรก มีอาการปวดศีรษะ มีไข้สูง หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดกล้ามเนื้อรวมทั้งปวดหลังและปวดเอว ชีพจรเต้นช้าผิดปกติ แต่ประมาณ 3-4 วัน มักจะเริ่มมีอาการดีขึ้น
  • ระยะที่สอง 15% ของผู้ป่วยโรคนี้เมื่อเข้าสู่ระยะที่สอง ในช่วงภายใน 24 ชั่วโมง จะสังเกตเห็นว่ามีอาการไข้กลับ อาเจียน ปวดท้อง จากที่มีอาการตัวเหลืองเล็กน้อยก็จะเหลืองมากขึ้น มีเลือดออกจากตา จมูก ปาก และกระเพาะอาหาร อาจทำให้มีอาการอาเจียนและถ่ายเป็นเลือด บางรายปัสสาวะไม่ออก ข้อควรระวัง คือ ผู้ป่วยจำนวนครึ่งหนึ่งของระยะนี้เสียชีวิตภายใน 10-15 วัน อันเนื่องมาจากภาวะไตวายและตับวาย
  • วิธีการรักษา

    เนื่องจากปัจจุบันนี้ยังไม่มีวิธีรักษาโรคไข้เหลืองโดยเฉพาะ แต่จะเป็นการรักษาประคับประคองไปตามอาการที่เกิดขึ้นขณะนั้น เช่น การให้สารน้ำเพื่อทดแทนภาวะขาดน้ำ ให้ยาลดไข้ ในผู้ป่วยบางรายอาจจะต้องให้ออกซิเจน ถ่ายเลือด และฟอกไต

    สำหรับวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับโรคไข้เหลือง คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลืองก่อนที่จะเดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยงต่อโรคนี้ หากไม่ได้ฉีดวัคซีนแล้วกลับมาพบว่า มีไข้ อาเจียน มีจุดเลือดตามตัว และตัวเหลือง ควรรีบไปพบคุณหมอทันทีพร้อมกับแจ้งคุณหมอว่าได้เดินทางไปยังประเทศที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมาด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 17/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา