backup og meta

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคโควิด-19 และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเข้าใจผิดเหล่านี้

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคโควิด-19 และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเข้าใจผิดเหล่านี้

ปัจจุบันข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ โรคโควิด-19 มีอยู่มากมาย ทั้งข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง และข้อมูลที่ไม่มีการรับรองความน่าเชื่อถือ หลายครั้ง่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดและสร้างความตื่นตระหนกให้แก่ผู้คนในสังคม วันนี้ Hello คุณหมอ มีสาระข้อมูลที่เกี่ยวกับ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคโควิด-19 และข้อเท็จจริงของความเข้าใจผิดนั้นมาฝากคุณผู้อ่านทุกท่านค่ะ

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคโควิด-19 มีอะไรบ้าง?

  • การตากแดด หรืออยู่ในบริเวณที่มีอุณหภูมิสูง จะช่วยป้องกันโควิด-19 ได้

ความจริงแล้ว: การตากแดด หรืออยู่ในที่ที่อุณหภูมิสูง ไม่ได้มีส่วนช่วยป้องกันโควิด-19แต่อย่างใด เพราะแม้แต่ประเทศที่อยู่ในเขตร้อนและมีอุณหภูมิสูงตลอดทั้งปี ก็ยังมีการรายงานตัวเลขของผู้ติดเชื้ออย่างสม่ำเสมอ วิธีป้องกันเชื้อโควิด-19ที่แท้จริง คือ การสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางกายภาพ การล้างมืออย่างสม่ำเสมอด้วยน้ำสะอาดและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ และงดสัมผัสใบหน้า ปาก จมูก เพื่อป้องกันการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง

  • โรคโควิด-19 เป็นแล้วต้องเป็นไปตลอดชีวิต

ความจริงแล้ว: โรคโควิด-19 หากเป็นแล้วสามารถรักษาให้หายได้ ข้อสำคัญคือต้องสังเกตอาการให้ไว และติดต่อกับสถานพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเร็วที่สุด การติดโรคโควิด-19 ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเป็นแล้วจะต้องเป็นไปตลอดชีวิต

  • การกลั้นหายใจ 10 วินาที หรือมากกว่านั้น โดยไม่มีอาการไอ จาม หรืออาการใด ๆ ขณะกลั้นหายใจ แปลว่าปลอดภัยและไม่มีการติดเชื้อของโรคโควิด-19

ความจริงแล้ว: ไม่จริง เพราะการกลั้นหายใจไม่ใช่กระบวนการตรวจหาเชื้อของโรคโควิด-19 กระบวนการตรวจหาเชื้อที่แท้จริงจะต้องทำการตรวจผ่านแล็บ ไม่สามารถที่จะตรวจหาเชื้อด้วยวิธีการกลั้นหายใจหรือวัดระดับการหายใจหลังการออกกำลังกายได้

  • ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำจะช่วยป้องกัน โรคโควิด-19 ได้

ความจริงแล้ว: การดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้มีส่วนช่วยในการป้องกันโรคโควิด-19แต่อย่างใด แต่กลับจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของอาการทางสุขภาพอื่น ๆ มากกว่า เช่น โรคตับ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน เป็นต้น

  • โรคโควิด-19 จะติดต่อเฉพาะพื้นที่ที่มีสภาพอากาศร้อนหรือร้อนชื้นเท่านั้น

ความจริงแล้ว: จากการรายงานสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 พบว่า โรคโควิด-19 สามารถระบาดได้ในทุกเขตสภาพอากาศและภูมิประเทศ โดยเฉพาะหากพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่เสี่ยงหรือมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูง ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสมากขึ้นเท่านั้น

  • การอยู่ในพื้นที่อุณหภูมิต่ำ หรืออากาศเย็น จะช่วยฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้

ความจริงแล้ว: ไม่มีหลักฐานใดที่ตอบรับกับความเชื่อที่ว่าการอยู่ในที่ที่มีสภาพอากาศเย็นจะช่วยป้องกันโรคโควิด-18ได้ การสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางกายภาพ ล้างมืออย่างสม่ำเสมอด้วยน้ำสะอาดและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ และงดสัมผัสใบหน้า ปาก จมูก เพื่อป้องกันการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เหล่านี้ต่างหากที่มีส่วนช่วยป้องกันการติดเชื้อ

  • การอาบน้ำอุ่นช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้

ความจริงแล้ว: การอาบหรือการแช่น้ำอุ่นหรือน้ำร้อน ไม่สามารถช่วยป้องกันโรคโควิด-19ได้ วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกัน โรคโควิด-19 คือ การสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางกายภาพ ล้างมืออย่างสม่ำเสมอด้วยน้ำสะอาดและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ และงดสัมผัสใบหน้า ปาก จมูก เพื่อป้องกันการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง 

  • เชื้อโควิด-19 สามารถติดต่อผ่านยุงได้

ความจริงแล้ว: ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าเชื้อโควิด-19สามารถติดต่อผ่านการถูกยุงกัด แต่ข้อมูลที่เชื่อถือได้และมีการรับรองอย่างแท้จริงคือ โรคโควิด-19 ติดต่อกันผ่านสารคัดหลั่งอย่าง น้ำมูกหรือน้ำลาย ผ่านการไอ จาม หรือสัมผัสกับวัตถุที่มีสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ

  • เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ช่วยสแกนหาผู้ที่ติดเชื้อได้ทั้งหมด

ความจริงแล้ว: เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย มีส่วนช่วยสแกนหาผู้ที่ติดเชื้อได้จริง แต่ไม่ทั้งหมด เพราะสามารถสแกนได้เฉพาะผู้ที่มีเชื้อและมีอาการแสดงออกมาด้วยการมีไข้สูงและมีอุณหภูมิในร่างกายสูงกว่าปกติเท่านั้น แต่…ยังคงมีอีกหลายคนที่ติดเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการผ่านการมีไข้สูง เนื่องจากอาการจะแสดงออกภายใน 10-14 วัน หรือบางคนติดเชื้อแต่ไม่มีอาการใดๆ แสดงออกเลย

ดังนั้น เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิจึงช่วยในการสแกนหาผู้ที่ติดเชื้อได้แค่เพียงบางส่วนเท่านั้น อีกข้อหนึ่งก็คือ ผู้ที่มีอุณหภูมิสูงบางคนก็ไม่ได้มีไข้ หรือติดเชื้อของโรคโควิด-19 แต่อาจเกิดจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว หรือการเดินตากแดดมาหลายนาที

  • ฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์หรือคลอรีนใส่ร่างกาย จะช่วยป้องกันโรคโควิด-19 ได้

ความจริงแล้ว: ไม่จริง การฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์หรือคลอรีนใส่ร่างกาย นอกจากจะไม่ได้ช่วยป้องกันโรคโควิด-19แล้ว ยังเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายกับตนเองด้วย เพราะแอลกอฮอล์ที่ใช้สำหรับวัตถุหรือพื้นผิว ไม่ควรที่จะนำมาฉีดใส่เสื้อผ้าหรือร่างกาย เนื่องจากอาจเกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อ เช่น หู ตา จมูก ปาก หรือผิวที่บอบบางได้

  • วัคซีนป้องกันโรคปอดบวมช่วยรักษาโรคโควิด-19 ได้

ความจริงแล้ว: ไม่จริง วัคซีนที่ใช้ในการป้องกันและรักษาโรคปอดบวมไม่สามารถช่วยป้องกันโรคโควิด-19ได้ และปัจจุบันยังไม่มีการรับรองว่ามีวัคซีนสำหรับรักษาโรคโควิด-19โดยเฉพาะ ซึ่งในขณะนี้แพทย์และนักวิจัยทั่วโลกกำลังใช้ความพยายามในการคิดค้นและผลิตวัคซีนสำหรับใช้ในการรักษา โรคโควิด-19

  • การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ช่วยป้องกัน โรคโควิด-19 ได้

ความจริงแล้ว: ไม่มีหลักฐานใดที่แสดงให้เห็นว่า การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือจะช่วยในการป้องกันโรคโควิด-19 มีเพียงข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าการใช้น้ำเกลือล้างจมูกมีส่วนช่วยให้อาการหวัดหายเร็วขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือไม่ได้มีส่วนช่วยในการปกป้องการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจแต่อย่างใด 

  • กระเทียมช่วยป้องกันโรคโควิด-19 ได้

ความจริงแล้ว: กระเทียมเป็นผักที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย อุดมไปทั้งสารอาหารและคุณประโยชน์ แต่ยังไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า การกินกระเทียมจะช่วยป้องกัน โรคโควิด-19 ได้

  • โรคโควิด-19 ติดต่อแค่คนที่อายุน้อยกับผู้สูงอายุ

ความจริงแล้ว: คนทุกเพศ และทุกช่วงอายุ สามารถติดเชื้อโควิด-19ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายไม่แข็งแรง ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะติดโรคโควิด-19

  • มียาที่สามารถรักษาโรคโควิด-19ได้แล้ว

ความจริงแล้ว: ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีการผลิตหรือค้นพบยาที่ใช้ในการรักษาโรคโควิด-19โดยเฉพาะ ยังอยู่ระหว่างการค้นคว้าและการวิจัย ด้วยเหตุนี้สถานพยาบาลจึงมีการดูแล รักษา และประคับประคองอาการให้ดีขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งไม่พบเชื้อไวรัสในร่างกายแล้วจึงจะปล่อยให้กลับบ้านได้

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในปัจจุบันถูกเขียนขึ้นและแชร์ออกไปอย่างรวดเร็ว ผู้รับข้อมูลควรรับข้อมูลที่หลากหลาย เพื่อใช้ในการพิจารณาเปรียบเทียบข่าวสารเหล่านั้น และควรรับข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ มากกว่าข้อมูลที่ถูกส่งต่อโดยไม่มีการรับรองที่น่าเชื่อถือเพียงพอ ข้อสำคัญต้องไม่ลืมที่จะดูแลรักษาสุขภาพของตนเองเพื่อป้องกัน โรคโควิด-19 ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางกายภาพ การงดออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น หมั่นล้างมืออย่างสม่ำเสมอด้วยน้ำสะอาดและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ และงดสัมผัสใบหน้า ปาก จมูก เพื่อป้องกันการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง 

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Coronavirus disease (COVID-19) advice for the public: Myth busters. https://www.who.int/emergencies/diseases/novel-coronavirus-2019/advice-for-public/myth-busters. Accessed on April 15, 2020.

5 Common COVID-19 Myths, Busted. https://health.clevelandclinic.org/5-common-covid-19-myths-busted/. Accessed on April 15, 2020.

Don’t Let These 5 Myths About COVID-19 Interfere with Your Safety

Myths. https://www.healthline.com/health-news/5-covid-19-myths. Accessed on April 15, 2020.

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย Khongrit Somchai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Sukollaban Khamfan


บทความที่เกี่ยวข้อง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา