backup og meta

ภาวะระบายลมหายใจเกิน (Hyperventilation)

ภาวะระบายลมหายใจเกิน (Hyperventilation)

ภาวะระบายลมหายใจเกิน เกิดขึ้นเมื่อคุณเริ่มหายใจเร็วมาก โดยหายใจออกมากกว่าหายใจเข้า ก่อให้เกิดภาวะคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกายลดลงอย่างรวดเร็ว

คำจำกัดความ

ภาวะระบายลมหายใจเกิน คือ

ภาวะระบายลมหายใจเกิน (Hyperventilation) หรือ โรคหายใจเกิน เกิดขึ้น เมื่อคุณเริ่มหายใจเร็วมาก การหายใจที่ดีต่อสุขภาพคือภาวะสมดุลระหว่างการสูดออกซิเจนเข้า และระบายคาร์บอนไดออกไซด์ออก ภาวะสมดุลนี้สูญเสียไป เมื่อคุณระบายลมหายใจเกิน โดยการหายใจออกมากกว่าหายใจเข้า ก่อให้เกิดภาวะคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกายลดลงอย่างรวดเร็ว

ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกายที่ลดต่ำ ก่อให้เกิดการตีบตันของหลอดเลือดที่ลำเลียงเลือดไปยังสมอง การลดลงของเลือดที่ไปเลี้ยงสมองนี้ส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น เวียนศีรษะ และมีอาการปวดเสียวที่นิ้วมือ ภาวะระบายลมหายใจเกินที่รุนแรงสามารถก่อให้เกิดอาการหมดสติได้

ภาวะระบายลมหายใจเกิน พบได้บ่อยเพียงใด

โดยปกติแล้ว ภาวะระบายลมหายใจเกินจะค่อนข้างพบได้น้อย โดยอาจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวเมื่อมีอาการตื่นตระหนกต่อความกลัว อาการตึงเครียด หรือความกลัว

นอกจากนี้ โรคหายใจเกิน ยังอาจเป็นผลมาจากสภาวะทางอารมณ์ เช่น อาการซึมเศร้า ความกังวล ความโกรธ หากเกิดขึ้นบ่อย ๆ ก็อาจจะเรียกว่า กลุ่มอาการหอบจากอารมณ์ (Hyperventilation Syndrome)

อาการ

อาการของ ภาวะระบายลมหายใจเกิน

โรคหายใจเกิน อาจทำให้เกิดอาการรุนแรงได้ และอาจมีอาการได้นาน 20-30 นาที คุณควรเข้ารับการรักษาในทันทีหากเกิดอาการดังต่อไปนี้

  • หายใจถี่และหายใจลึก
  • อาการปวด
  • อาการไข้
  • มีเลือดออก
  • รู้สึกกังวล ประหม่า หรือตึงเครียด
  • หาวบ่อย
  • หัวใจเต้นแรงและเร็ว
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัว เวียนศีรษะ หรือรู้สึกหมุน
  • มีอาการชาหรือปวดที่มือ เท้า หรือรอบปาก
  • มีอาการตึง แน่น มีแรงกด รู้สึกกดเจ็บ หรือปวดที่หน้าอก
  • อาการของภาวะระบายลมหายใจเกินแย่ลง แม้ว่าจะลองทำการเยียวยาด้วยตัวเองที่บ้านแล้ว

นอกจากนี้ ผู้ป่วย โรคหายใจเกิน ยังอาจมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย

  • มีก๊าซในกระเพาะ ท้องอืด หรือเรอ
  • กระตุก
  • เหงื่อออก
  • การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป เช่น มองเห็นไม่ชัด มองเห็นชัดเฉพาะกลางภาพ
  • ปัญหาเกี่ยวกับสมาธิหรือความจำ
  • หมดสติ

อาจมีบางอาการที่ไม่ได้ระบุไว้ข้างต้น หากมีข้อกังวลเกี่ยวกับอาการใดๆ โปรดปรึกษาแพทย์

ควรพบหมอเมื่อใด

หากคุณมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการใด ๆ ตามที่ระบุข้างต้น หรือมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์ ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดให้ปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของภาวะระบายลมหายใจเกิน

โรคหายใจเกิน อาจเกิดขึ้นจากสาเหตุหลากหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นผลมาจากความกังวล ความตื่นตระหนก ความประหม่า หรือความตึงเครียด ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะมาในรูปแบบของอาการแพนิค

นอกจากนี้ โรคหายใจเกิน ยังอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่น ๆ ได้แก่

  • การตกเลือด
  • การใช้สารกระตุ้น
  • การใช้ยาเกินขนาด
  • อาการปวดที่รุนแรง
  • การตั้งครรภ์
  • การติดเชื้อที่ปอด
  • โรคปอด เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคหอบหืด
  • อาการเกี่ยวกับหัวใจ เช่น หัวใจวาย (heart attack)
  • ภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน (Diabetic ketoacidosis)
  • อาการบาดเจ็บที่ศีรษะ
  • การเดินทางไปยังที่ซึ่งมีความสูงเกินกว่า 6,000 ฟุต

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของภาวะระบายลมหายใจเกิน

คุณอาจมีความเสี่ยงในการเกิด โรคหายใจเกิน หากคุณมีปัจจัยดังต่อไปนี้

  • เป็นโรคแพนิค หรือโรคโฟเบีย
  • คนในครอบครัวเคยมีอาการของภาวะระบายลมหายใจเกิน แพนิค หรือโฟเบีย
  • ความเครียดสูง
  • การใช้ยาบางชนิด
  • การบาดเจ็บ

โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอมิได้ใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ให้ปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยภาวะระบายลมหายใจเกิน

แพทย์จะทำการตรวจเช็กร่างกาย โดยเฉพาะการหายใจและการไหลเวียนของเลือด หากแพทย์ตรวจไม่พบสิ่งที่เป็นอันตราย แพทย์ก็อาจจะทำการซักประวัติสุขภาพ และทำการตรวจร่างกายโดยละเอียดต่อไป

แพทย์อาจให้ทำคุณการทดสอบบางอย่างเพื่อสาเหตุในการเกิด โรคหายใจเกิน ซึ่งอาจมีการทดสอบดังนี้

  • การตรวจเลือด
  • การตรวจเอ็กซเรย์หน้าอก
  • การตรวจการหายใจ/การสูบฉีดโลหิตของหัวใจ
  • การตรวจหน้าอกด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG, EKG)

หากแพทย์สงสัยว่า ผู้ป่วยอาจมีอาการที่รุนแรง แพทย์ก็อาจแนะนำการรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพื่อเฝ้าดูอาการที่เป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น

  • ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ
  • ปัญหาเกี่ยวกับปอด
  • ปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท
  • ปฏิกิริยาและพิษจากยา
  • การติดเชื้อ
  • การตั้งครรภ์
  • อาการผิดปกติเกี่ยวกับตับ

การรักษาภาวะระบายลมหายใจเกิน

เป็นสิ่งสำคัญในการพยายามควบคุมอารมณ์ ในผู้ป่วยที่มีภาวะระบายลมหายใจเกินแบบเฉียบพลัน อาจช่วยได้มากที่จะมีคนใกล้ตัว คอยแนะนำให้คุณก้าวผ่านช่วงเวลานี้ได้ เป้าหมายการรักษาในระหว่างช่วงเวลานี้คือ การเพิ่มระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกาย และการชะลออัตราการหายใจของคุณ

การรักษาด้วยตัวเองที่บ้าน

คุณสามารถลองใช้เทคนิคการรักษาแบบทันที เพื่อช่วยรักษาภาวะระบายลมหายใจเกินแบบเฉียบพลันได้ดังนี้

  • หายใจด้วยการห่อปาก
  • หายใจออกช้าๆ เข้าไปในถุงกระดาษหรือมือที่ประกบกัน
  • พยายามหายใจลึกเข้าไปในช่องท้อง (กะบังลม) แทนหน้าอก
  • กลั้นหายใจเป็นเวลา 10 ถึง 15 วินาทีต่อครั้ง

นอกจากนี้ คุณยังสามารถลองหายใจสลับทางรูจมูกได้ โดยปิดปากและสลับหายใจผ่านทางรูจมูกแต่ละข้าง ตัวอย่างเช่น เมื่อปิดปาก ให้ปิดรูจมูกด้านขวา และหายใจเข้าผ่านรูจมูกด้านซ้าย แล้วสลับโดยการปิดรูจมูกด้านซ้ายและหายใจเข้าผ่านทางรูจมูกด้านขวา ให้ทำแบบนี้ซ้ำจนกว่าการหายใจกลับสู่ภาวะปกติ

บางคนอาจพบว่าการออกกำลังกายที่ใช้แรงมาก เช่น การเดินเร็วหรือการวิ่งเหยาะๆ ไปพร้อมกับการหายใจเข้าและออกทางจมูก จะช่วยเกี่ยวกับภาวะระบายลมหายใจเกินได้

การลดความตึงเครียด

หากคุณมีกลุ่มอาการหอบจากอารมณ์ คุณจะต้องหาสาเหตุให้พบ หากคุณทรมานจากความกังวลหรือความตึงเครียด คุณอาจต้องการพบจิตแพทย์เพื่อช่วยให้คุณเข้าใจและรักษาภาวะดังกล่าว การเรียนรู้เกี่ยวกับการลดความตึงเครียด และเทคนิคการหายใจ จะช่วยควบคุมภาวะดังกล่าวได้

การฝังเข็ม

การฝังเข็มเป็นวิธีการรักษาทางเลือกตามการแพทย์แผนจีนโบราณ โดยฝังเข็มยังบริเวณต่างๆ ของร่างกาย เพื่อกระตุ้นการรักษา การศึกษาในเบื้องต้นพบว่า การฝังเข็มช่วยลดความกังวล และความรุนแรงของ โรคหายใจเกิน ได้

การใช้ยา

โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ แพทย์อาจสั่งยาอีกด้วย ตัวอย่างยาสำหรับรักษาภาวะระบายลมหายใจเกิน ได้แก่

  • ยาอัลพราโซแลม (Alprazolam) อย่างซาแนกซ์ (Xanax)
  • ยาด็อกเซพิน (Doxepin) อย่างไซเลนอร์ (Silenor)
  • ยาพาร็อกเซทีน (Paroxetine) อย่างแพ็กซิล (Paxil)

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่ช่วยรับมือภาวะระบายลมหายใจเกิน

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองต่อไปนี้ อาจช่วยให้คุณรับมือกับภาวะระบายลมหายใจเกินได้

  • การทำสมาธิ
  • สลับหายใจทางรูจมูก การหายใจลึกทางช่องท้อง และการหายใจเต็มร่างกาย
  • การออกกำลังกายทางจิตใจ/ร่างกาย เช่น ไทชิ โยคะ หรือชีกง
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ (เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน เป็นต้น)

ให้ระลึกไว้ว่าให้สงบสติอารมณ์ หากคุณมีอาการใดๆ ของภาวะระบายลมหายใจเกิน ให้ลองใช้วิธีการฝึกหายใจที่บ้าน เพื่อให้การหายใจกลับสู่ภาวะปกติและให้ไปพบคุณหทอ

หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Hyperventilation. https://www.emedicinehealth.com/hyperventilation/page3_em.htm. Accessed October 16, 2017

Hyperventilation. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/hyperventilation#:~:text=Hyperventilation%20is%20rapid%20or%20deep,oxygen%20and%20exhale%20carbon%20dioxide. Accessed June 14, 2021.

โรคหายใจเกิน (Hyperventilation Syndrome). https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/05012014-1359. Accessed June 14, 2021.

What Is Hyperventilation? https://www.webmd.com/lung/lung-hyperventilation-what-to-do. Accessed June 14, 2021.

Hyperventilation: Causes and what to do. https://www.medicalnewstoday.com/articles/323607. Accessed June 14, 2021.

เวอร์ชันปัจจุบัน

15/06/2021

เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูแล "สุขภาพปอด" ให้แข็งแรง และห่างไกลจากโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง

เทคนิคการรับมือ อาการหายใจลำบาก หนึ่งในอาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 15/06/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา