backup og meta

อาการหนาวสั่น สาเหตุ การรักษาและการป้องกัน

อาการหนาวสั่น สาเหตุ การรักษาและการป้องกัน

อาการหนาวสั่น เกิดจากการหดและคลายของกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มความอบอุ่นตามธรรมชาติของร่างกาย หรืออาจเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันที่ต่อต้านการติดเชื้อ ซึ่งอาการหนาวสั่นอาจมาพร้อมกับอาการไข้ หรือไม่มีไข้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการ เช่น การติดเชื้อ ไข้หวัดใหญ่ หรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

[embed-health-tool-bmi]

อาการหนาวสั่น คืออะไร

อาการหนาวสั่น คือ การตอบสนองของกล้ามเนื้อในร่างกายที่หดและคลายตัว เพื่อเพิ่มอุณภูมิในร่างกายให้สูงและอบอุ่นขึ้น หรืออาจเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันที่ทำหน้าที่ปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อไวรัสและเชื้อโรคอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่อาการหนาวสั่นมักสังเกตได้จากอาการตัวสั่น ปากสั่นจนฟันกระทบ ขนลุก และอาจมาพร้อมกับ ไข้สูง หนาวสั่น แต่บางสาเหตุอาจไม่มีไข้ร่วมด้วย

สาเหตุของ อาการหนาวสั่น

อาการหนาวสั่น อาจส่งผลให้มีอาการแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยสาเหตุที่พบบ่อย มีดังต่อไปนี้

การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อโรคอื่น ๆ

การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อโรคอื่น ๆ อาจทำให้เกิดอาการหนาวสั่นได้ ซึ่งเป็นการตอบสนองของร่างกาย เพื่อกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันเข้าทำลายเชื้อไวรัสก่อโรคต่าง ๆ ได้รวดเร็วและดียิ่งขึ้น ซึ่งอาการหนาวสั่นจาการติดเชื้ออาจพบบ่อยในผู้ที่เป็นโรคปอดอักเสบติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และโรคมาลาเรีย

อาการที่พบได้ มักมีดังนี้

  • มีไข้ หนาวสั่น คัดจมูก
  • ไอ เจ็บคอ ปากเป็นแผล
  • หายใจถี่
  • คอแข็ง
  • ปวดท้อง ท้องเสีย
  • เจ็บปวดหรือแสบเมื่อปัสสาวะ
  • มีจุดแดงบนผิวหนังและเจ็บปวด

การติดเชื้อที่เกิดจากนิ่วในไต

นิ่วในไต คือ แร่ธาตุและเกลือแร่จับตัวกันเป็นก้อนแข็งภายในไต ซึ่งอาจเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง และมีพฤติกรรมดื่มน้ำไม่เพียงพอ เมื่อนิ่วในไตใหญ่ขึ้นจนขัดขวางระบบทางเดินปัสสาวะอาจส่งผลให้ติดเชื้อ และทำให้เกิดอาการหนาวสั่นตามมา

อาการที่พบได้ มักมีดังนี้

  • อาการหนาวสั่น
  • ปวดหลัง ท้อง หรือขาหนีบ
  • เจ็บปวดเมื่อปัสสาวะ ไม่สามารถอั้นได้นาน
  • ปัสสาวะมีสีแดง ชมพู หรือน้ำตาล และมีกลิ่นฉุน

ไข้หวัดใหญ่

เป็นโรคติดต่อทางระบบหายใจสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย โดยอาจทำให้มีอาการไม่สบายตัว และอาการหนาวสั่น ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายโดยเพิ่มอุณหภูมิภายในร่างกาย เพื่อฆ่าเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ อาจทำให้กล้ามเนื้อในร่างกายหดเกร็ง มีอาการตัวสั่น

อาการที่พบได้ มักมีดังนี้

  • ไอ เจ็บคอ หนาวสั่น
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล
  • เหนื่อยล้า ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • ปวดศีรษะ ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน

อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ

อุณภูมิปกติของร่างกายควรอยู่ที่ 37 องศาเซสเซียส หากอุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็วและต่ำกว่า 35 องศาเซสเซียส หมายความว่าร่างกายมีอุณภูมิต่ำกว่าปกติ ส่งผลให้อวัยวะในร่างกายไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ จึงทำให้มีอาการหนาวสั่นซึ่งเป็นการตอบสนองของร่างกายเพื่อปรับสมดุลและสร้างความอบอุ่น

อาการที่พบได้ มักมีดังนี้

  • หนาวสั่นจนปากสั่นพูดไม่ชัด
  • อ่อนแรง มึนงง สับสน และหายใจช้าลง
  • ผิวหนังมีสีแดง

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน หรือรับประทานยารักษาโรคเบาหวานที่ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ซึ่งร่างกายจำเป็นต้องใช้กลูโคสเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกาย เมื่อร่างกายไม่เปลี่ยนกลูโคสเป็นพลังงานได้น้อยลง อุณภูมิในร่างกายอาจต่ำลงตามไปด้วยและอาจส่งผลให้เกิดอาการหนาวสั่นตามมา

อาการที่พบได้ มักมีดังนี้

  • หนาวสั่นไม่มีไข้
  • ร่างกายอ่อนแรง ง่วงบ่อย
  • เหงื่อออกมาก
  • คลื่นไส้อาเจียน หิวง่าย
  • วิตกกังวล

ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย

ต่อมไทรอยด์มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพื่อช่วยให้ร่างกายอบอุ่นและช่วยให้อวัยวะภายในร่างกายทำงานได้เป็นปกติ หากเกิดภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำ อาจส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลให้อุณภูมิภายในร่างกายต่ำลงและอวัยวะทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการหนาวสั่นได้

อาการที่พบได้ มักมีดังนี้

  • หนาวสั่นไม่มีไข้ เหนื่อยล้า
  • ท้องผูก
  • ผิวแห้ง
  • ซึมเศร้า

ทั้งนี้ หากมีอาการหนาวสั่นและอาการเหล่านี้ร่วมด้วยควรรีบเข้าพบคุณหมอทันที

  • หายใจลำบาก หรือหายใจมีเสียง
  • เจ็บหน้าอกโดยไม่มีสาเหตุ หรือปวดท้องรุนแรง
  • เหนื่อยล้ามาก
  • ทารกอายุน้อยกว่า 3 เดือน มีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 38 องศาเซสเซียส
  • เด็กอายุ 3 เดือน ถึง 3 ปี มีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 39 องศาเซสเซียส
  • เด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซสเซียส หรือมีอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 35 องศาเซสเซียส

ปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการหนาวสั่น

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอาการหนาวสั่น มีดังนี้

  • ดื่มน้ำไม่เพียงพอ
  • พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อโรคอื่น ๆ
  • โรคเรื้อรังและการรักษาที่ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ

การวินิจฉัยและการรักษาอาการหนาวสั่น

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยอาการหนาวสั่น

คุณหมออาจวินิจฉัยอาการเบื้องต้นเพื่อประเมินสาเหตุ ดังนี้

  • ถามเกี่ยวกับอาการโดยรวมและถามประวัติสุขภาพของผู้ป่วย
  • ตรวจร่างกาย โดยการตรวจเลือด ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด หรือการเอกซเรย์ทรวงอก ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับประวัติสุขภาพของผู้ป่วยด้วย

การรักษาอาการหนาวสั่น

วิธีการรักษาอาการหนาวสั่นอาจแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ ดังนี้

  • อาจซื้อยารับประทานลดอาการไข้ เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen)
  • คุณหมออาจให้ยาต้านไวรัสเพื่อรักษาการติดเชื้อไวรัส และยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียและปรสิต
  • สำหรับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ คุณหมออาจแนะนำให้รับประทานคาร์โบไฮเดรตที่ออกฤทธิ์เร็วประมาณ 15-20 กรัม เพื่อให้ร่างกายเปลี่ยนน้ำตาลเป็นพลังงานได้เร็วขึ้น แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรงคุณหมออาจอาจฉีดกลูคากอน (Glucagon) หรือฉีดกลูโคสเข้าเส้นเลือดโดยตรง
  • สำหรับภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำ คุณหมออาจให้ยาลีโวไทร็อกซีนโซเดียม (Levothyroxine Sodium) เป็นยาที่ใช้ในการรักษาภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน

วิธีดูแลตัวเองเพื่อรับมืออาการหนาวสั่น

การดูแลตัวเองและป้องกันสาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการหนาวสั่น มีดังนี้

  • ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ และน้ำ หรือแอลกอฮอล์ล้างมือ โดยเฉพาะหลังกลับมาจากข้างนอก ก่อนรับประทานอาหาร หลังใช้ห้องน้ำ หลังสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่ติดมากับมือเข้าสู่ร่างกาย
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสจมูก ปาก ตา เพราะเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อโรคอื่น ๆ อาจเข้าสู่ร่างกายก่อให่เกิดการติดเชื้อได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น เสื้อผ้า ช้อนส้อม ขวดน้ำดื่ม
  • ปิดปากและจมูกทุกครั้งเมื่อไอหรือจาม หรือหลีกเลี่ยงผู้ป่วยที่ไอหรือจาม เนื่องจากละอองน้ำลาย หรือละอองจากสารคัดหลังอาจปนเปื้อนเชื้อโรคและแพร่กระจายได้

ผู้ป่วยที่มีอาการหนาวสั่น หรือเป็นไข้หวัดใหญ่ควรดูแลตัวเอง ดังนี้

  • หากรู้สึกหนาวเย็นควรใส่เสื้อผ้าที่ให้ความอบอุ่นกับร่างกาย
  • อยู่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค หรือรับเชื้อโรคเพิ่ม และควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดื่มน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อป้องกันร่างกายสูญเสียน้ำ
  • หากกำลังตั้งครรภ์ หรือมีอายุ 65 ปีขึ้นไป หรือมีความเสี่ยงสูงเกิดภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่ ควรพบคุณหมอเพื่อดูอาการและรับการรักษา

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Chills. https://my.clevelandclinic.org/health/symptoms/21476-chills. Accessed September 23, 2021

Why Do I Have Chills?. https://www.webmd.com/a-to-z-guides/why-do-i-have-chills. Accessed September 23, 2021

Chills. https://medlineplus.gov/ency/article/003091.htm. Accessed September 23, 2021

Treatment. https://www.cdc.gov/flu/treatment/index.html. Accessed September 23, 2021

Fever. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/fever/symptoms-causes/syc-20352759. Accessed September 23, 2021

Fever Diagnosis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/fever/diagnosis-treatment/drc-20352764. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/fever/diagnosis-treatment/drc-20352764. Accessed September 23, 2021

Hypoglycemia. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hypoglycemia/diagnosis-treatment/drc-20373689. Accessed September 23, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/09/2024

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ความเข้าใจผิดเรื่องไข้หวัด อาจส่งผลให้เราละเลยดูแลสุขภาพตนเอง

น้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia)


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/09/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา