ภูมิแพ้ถั่วลิสง (Peanut Allergy)

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 08/02/2021

ภูมิแพ้ถั่วลิสง (Peanut Allergy)

ภูมิแพ้ถั่วลิสง (Peanut allergy) คือโรคภูมิแพ้รุนแรงที่พบได้บ่อยที่สุด และสามารถเป็นอันตรายถึงชีวิต สำหรับคนบางคนที่มีอาการแพ้ถั่วลิสง การรับประทานถั่วลิสงในปริมาณเล็กน้อยก็อาจสามารถก่อให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ที่รุนแรงได้

คำจำกัดความ

ภูมิแพ้ถั่วลิสง คืออะไร

ภูมิแพ้ถั่วลิสง (Peanut allergy) คือโรคภูมิแพ้รุนแรงที่พบได้บ่อยที่สุด อาการของโรคภูมิแพ้ถั่วลิสงสามารถเป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งได้แก่อาการภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง (Anaphylaxis) สำหรับคนบางคนที่มีอาการแพ้ถั่วลิสง ถั่วในปริมาณเล็กน้อยก็อาจสามารถก่อให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ที่รุนแรงได้

โรคภูมิแพ้ถั่วลิสงพบได้บ่อยแค่ไหน

โรคภูมิแพ้ถั่วลิสงเป็นโรคที่พบได้บ่อย และเริ่มพบมากในเด็ก โปรดปรึกษากับแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของภูมิแพ้ถั่วลิสง

อาการทั่วไปมีดังนี้

  • น้ำมูกไหล
  • มีปฏิกิริยาที่ผิวหนัง เช่น ลมพิษ รอยปื้นแดง หรือมีอาการบวม
  • มีอาการชาหรือเป็นเหน็บที่บริเวณปากและลำคอ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องร่วง ปวดท้อง คลื่นไส้หรืออาเจียน
  • มีอาการแน่นในลำคอ
  • หายใจติดขัด หรือหายใจแล้วมีเสียงหวีด

ภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง (Anaphylaxis) ปฏิกิริยาที่รุนแรงถึงชีวิต

โรคภูมิแพ้ถั่วลิสงเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ ที่ทำให้เกิดภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรงที่มาจากอาหาร การให้ยาฉุกเฉินจะเป็นการใช้อิพิเนฟริน (Epinephrine) เช่น อะดรีนาลีน ฉีดเข้าไปในร่างกาย แล้วนำตัวส่งห้องฉุกเฉิน

อาการของภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง ได้แก่

  • ทางเดินอากาศหดตัว
  • มีอาการบวมที่ลำคอทำให้หายใจลำบาก
  • ความดันโลหิตลดลงอย่างรุนแรง (ช็อก)
  • ชีพจรเต้นเร็ว
  • มึนงง วิงเวียน หรือหมดสติ

อาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษาหมอของคุณ

ควรไปพบหมอเมื่อไร

ถ้าคุณมีอาการใดๆ ที่กล่าวมาข้างต้น หรือมีข้อสงสัยใดๆ ควรปรึกษากับคุณหมอ เนื่องจากร่างกายของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดจึงควรพูดคุยกับหมอเพื่อหาแนวทางในการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของโรคภูมิแพ้ถั่วลิสง

โรคภูมิแพ้ถั่วลิสงเกิดขึ้น เมื่อระบบภูมิคุ้มกันของคุณเข้าใจผิดว่า โปรตีนถั่วลิสงเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย การสัมผัสถั่วลิสงโดยตรงหรือทางอ้อม ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของคุณปล่อยสารเคมีที่ทำให้เกิดอาการแพ้ออกมาในกระแสเลือด

การรับถั่วลิสงมีได้หลากหลายทางดังนี้

  • การสัมผัสโดยตรง สาเหตุส่วนใหญ่ในการเกิดภูมิแพ้ถั่วลิสง คือการรับประทานถั่วลิสง หรืออาหารที่มีส่วนประกอบของถั่วลิสง ในบางครั้งการสัมผัสทางผิวหนัง ก็สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน
  • การสัมผัสทางอ้อม เผลอทำให้ถั่วลิสงเข้ามาในปนเปื้อนโดยไม่ตั้งใจ มักเป็นผลจากการที่อาหารสัมผัสกับถั่วลิสงระหว่างในกระบวนการทำหรือการจัดการ
  • อาการแพ้อาจเกิดขึ้นได้ หากคุณสูดหายใจเอาฝุ่น หรือละอองที่มีแป้งถั่วลิสง หรือน้ำมันถั่วลิสงสำหรับทำอาหารเข้าไป

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภูมิแพ้ถั่วลิสง

  • โรคภูมิแพ้อาหารมักพบในเด็ก โดยเฉพาะเด็กวัยหัดเดินและวัยทารก เมื่อคุณโตขึ้น ระบบทางเดินอาหารของคุณก็เติบโตขึ้น และร่างกายของคุณก็มักจะมีปฏิกิริยากับอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้น้อยลง
  • อาการแพ้ถั่วลิสงในอดีต เด็กบางคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ถั่วลิสงมักจะหายไปเมื่อโต แต่หากคุณเคยมีอาการแบบนั้น คุณอาจสามารถกลับมาเป็นใหม่ได้อีกครั้ง
  • อาการภูมิแพ้อื่นๆ หากคุณมีอาการภูมิแพ้อาหารอื่นอยู่ก่อนแล้ว คุณก็อาจมีความเสี่ยงในการเกิดภูมิแพ้อาหารชนิดอื่นอีก ในทำนองเดียวกัน การมีโรคภูมิแพ้ชนิดอื่นๆ เช่น ไข้ละอองฟาง (hay fever) ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภูมิแพ้อาหารได้เช่นกัน
  • สมาชิกในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้ คุณจะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ถั่วลิสงมากขึ้น หากคนในครอบครัวคุณเป็นโรคภูมิแพ้อื่นๆ โดยเฉพาะภูมิแพ้อาหาร
  • โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) บางคนที่มีอาการโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ซึ่งแบบโรคผื่นผิวหนังอักเสบ (eczema) ก็มักจะเป็นโรคภูมิแพ้อาหารด้วยเช่นกัน

 

การวินิจฉัยโรคและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยภูมิแพ้ถั่วลิสง

การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ถั่วลิสงอาจจะเป็นเรื่องที่ซับซ้อน อาการแพ้อาจจะแตกต่างกันในแต่ละคน และบางคนอาจจะไม่ได้มีอาการแพ้แบบเดียวกันในทุกๆ ครั้งที่เกิดอาการแพ้

หากคุณสงสัยว่าคุณมีอาการแพ้ถั่วลิสง ควรนัดพบกับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ เริ่มจดบันทึกเมนูอาหารก่อนการไปพบหมอ และคอยสังเกตอาการและจดบันทึกดังต่อไปนี้

  • สิ่งที่คุณรับประทานและปริมาณที่รับประทานเข้าไป
  • เวลาที่อาการเริ่มปรากฏ
  • สิ่งที่คุณทำเพื่อบรรเทาอาการ
  • เวลาที่ใช้กว่าอาการจะหายไป

คุณหมอจะถามประวัติของอาการแพ้ และถามถึงสุขภาพโดยทั่วไป และประวัติทางการแพทย์ของคนในครอบครัว รวมไปถึงถามว่ามีญาติคนไหนที่เป็นโรคภูมิแพ้หรือไม่

เนื่องจากโรคภูมิแพ้ถั่วลิสงยากต่อการวินิจฉัยผ่านทางผิวหนัง หรือการตรวจเลือด คุณหมอจึงอาจให้ลองใช้วิธีงดอาหารบางอย่าง คือหลีกเลี่ยงอาหารที่ต้องสงสัยว่าจะแพ้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยปกติแล้วคือประมาณ 2-4 สัปดาห์ หากคุณมีอาการดีขึ้นเมื่องดอาหารนั้น แสดงว่าคุณมีอาการแพ้แพ้อาหารนั้นๆ

หากการจำกัดอาหารให้ผลที่พิสูจน์ไม่ได้ คุณหมออาจให้คุณลองรับประทานอาหารที่เสี่ยงว่าจะแพ้ (oral food challenge) ในการทดลองนี้ คุณหมอจะให้คุณรับประทานถั่วลิสง หรืออาหารที่ทำจากถั่วลิสงในปริมาณเล็กน้อย และเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ ที่คลินิกของหมอหรือที่โรงพยาบาล โดยจะมีการเตรียมยาและอุปกรณ์ฉุกเฉิน เผื่อในกรณีที่คุณมีอาการแพ้รุนแรง

การรักษาภูมิแพ้ถั่วลิสง

ยังไม่มีวิธีการรักษาเฉพาะสำหรับโรคภูมิแพ้ถั่วลิสง แต่นักวิจัยกำลังศึกษาวิธีการที่เรียกว่า desensitization ซึ่งได้แก่การให้รับประทานสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ในรูปของยา โดยเพิ่มปริมาณขึ้นไปทีละเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความแน่ชัดเรื่องความปลอดภัยของวิธีการนี้ และยังไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา

งานวิจัยใหม่ๆ ชี้ว่าการใช้วิธี desensitization ในเด็กที่เสี่ยงจะเป็นโรคภูมิแพ้ถั่วลิสง ในช่วงอายุ 4-11 เดือน อาจจะได้ผลในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคภูมิแพ้ถั่วลิสง แต่โปรดปรึกษากับแพทย์ เพราะอาจมีความเสี่ยงในการเกิดอาการภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง หากทำอย่างไม่ถูกต้อง

ในขณะเดียวกัน การรักษาโรคภูมิแพ้อาหารทุกชนิด สามารถทำได้ด้วยการหลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ และเรียนรู้วิธีการหาและตอบสนองต่ออาการแพ้รุนแรง

เตรียมการให้พร้อมสำหรับอาการแพ้

วิธีเดียวที่จะป้องกันอาการแพ้ คือการหลีกเลี่ยงถั่วลิสงและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของถั่วลิสง แต่ถั่วลิสงเป็นสิ่งที่พบได้ทั้่วไป แม้คุณจะพยายามหลีกเลี่ยงแล้ว แต่คุณก็ยังมีโอกาสที่จะสัมผัสกับถั่วลิสงทางใดทางหนึ่ง

สำหรับอาการแพ้ที่รุนแรง คุณอาจจำเป็นต้องฉีดยาอิพิเนฟรินฉุกเฉิน และนำส่งห้องฉุกเฉิน คนส่วนใหญ่ที่เป็นโรคภูมิแพ้มักจะพกกระบอกฉีดยาอิพิเนฟรินอัตโนมัติ (เช่น EpiPen Auvi-Q หรือ Twinject) เครื่องมือนี้คือเข็มฉีดยาที่จะฉีดยาขนาดใช้งานได้ 1 ครั้งเมื่อกดลงบนต้นขา

เรียนรู้วิธีใช้กระบอกฉีดยาอัตโนมัติ

หากคุณหมอสั่งให้คุณใช้กระบอกฉีดยาอิพิเนฟรินอัตโนมัติ

  • พกติดตัวไว้ตลอดเวลา ทางที่ดีควรมียาเผื่อไว้บนรถหรือที่โต๊ะทำงาน
  • ควรเปลี่ยนยาที่หมดอายุแล้วเสมอ ยาอิพิเนฟรินที่หมดอายุแล้วจะไม่สามารถออกฤทธิ์ได้อย่างเต็มที่
  • ให้หมอสั่งกระบอกฉีดยาอิพิเนฟรินอัตโนมัติสำรองให้คุณ หากคุณวางยาผิดที่ไปคุณก็จะยังมีอันสำรองอยู่
  • เรียนรู้วิธีใช้งาน ขอให้หมอแสดงวิธีใช้ให้ดู และอย่าลืมให้คนใกล้ชิดของคุณเรียนรู้วิธีใช้งานด้วยเพื่อที่เขาจะได้สามารถฉีดยาช่วยชีวิตคุณไว้
  • เรียนรู้ว่าเมื่อไหร่ควรจะใช้ คุยกับคุณหมอถึงวิธีการจำแนกว่า เมื่อไหร่คุณควรจะฉีดยา แต่ถ้าหากคุณไม่แน่ใจว่า คุณจำเป็นต้องฉีดยาหรือไม่ การฉีดยาอิพิเนฟรินไปเลยมักจะดีกว่า

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือการเยียวยาตนเองที่จะช่วยรักษาภูมิแพ้ถั่วลิสง

ลักษณะไลฟ์สไตล์และการเยียวยาด้วยตนเองต่อไปนี้อาจจะช่วยคุณได้

  • อย่าเดาเอาว่าอาหารนี้ไม่มีถั่วลิสง เพราะถั่วลิสงนั้นอาจจะอยู่ในอาหารโดยที่คุณไม่รู้ด้วยซ้ำ อ่านฉลากส่วนประกอบของอาหารสำเร็จรูปเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีถั่วลิสงเป็นส่วนประกอบ แม้คุณจะคิดว่าคุณรู้ว่ามีอะไรอยู่ในอาหารนั้นบ้าง คุณก็ควรที่จะอ่านฉลากอยู่ดี เพราะส่วนประกอบอาจจะเปลี่ยนได้ อย่ามองข้ามฉลากที่บอกว่าอาหารนั้นผลิตในโรงงานที่แปรรูปถั่วลิสง ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ถั่วลิสงนั้นจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของถั่วลิสงทั้งหมด แม้จะมีในปริมาณที่น้อยมากก็ตาม
  • หากสงสัย ควรบอกปฏิเสธอาหารนั้น เมื่ออยู่ในร้านอาหารหรืองานสังสรรค์ คุณก็มักจะมีความเสี่ยงในการเผลอรับประทานถั่วลิสงเข้าไปไม่รู้ตัว มีคนจำนวนมากที่ไม่เข้าใจถึงความร้ายแรงของอาการแพ้อาหาร และอาจไม่เข้าใจว่า ปริมาณอันเล็กน้อยสามารถทำให้เกิดอาการแพ้ที่รุนแรงได้ หากคุณกังวลว่า อาหารนั้นอาจจะมีส่วนประกอบของสิ่งที่คุณแพ้ ก็อย่ารับประทานมัน
  • เตรียมพร้อมสำหรับอาการแพ้ ปรึกษากับหมอเรื่องการพกยาฉุกเฉินติดตัวสำหรับกรณีร้ายแรง

หลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบของถั่วลิสง

ถั่วลิสงสามารถพบได้ทั่วไป และการหลีกเลี่ยงมันก็อาจะเป็นเรื่องที่ท้าทาย อาหารต่อไปคืออาหารที่มักจะมีส่วนประกอบของถั่วลิสง

  • ขนมอบทั้งหลาย เช่น คุกกี้ และเพสทรี้
  • ไอศครีมและของหวานแช่แข็ง
  • ธัญพืชอัดแท่ง
  • ซีเรียลและกราโนล่า
  • ขนมปังธัญพืช

อาหารที่อาจมีส่วนผสมของถั่วลิสง หรือโปรตีนถั่วลิสง ที่ไม่ชัดเจนว่ามีถั่วลิสงเป็นส่วนประกอบ หรือได้สัมผัสกับถั่วลิสงขณะที่กำลังผลิตหรือไม่ ตัวอย่างเช่น

  • นูกัต (Nougat)
  • น้ำสลัด
  • ขนมช็อกโกแลต เนยถั่ว (เช่น เนยอัลมอนด์) และน้ำมันดอกทานตะวัน
  • น้ำมันอะแรคิส (Arachis oil) ซึ่งคืออีกชื่อหนึ่งของน้ำมันถั่วลิสง
  • อาหารสัตว์เลี้ยง

หากคุณมีข้อสงสัยใดๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำความเข้าใจให้ดีขึ้นถึงทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 08/02/2021

โฆษณา
โฆษณา
โฆษณา
โฆษณา