อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่ช่วยให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่นอกจากจะให้พลังงานและสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายแล้ว ยังอาจเป็นภัยเงียบที่เราไม่คาดคิดมาก่อนนั่นก็คือ ภาวะภูมิแพ้อาหารแฝง ที่สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารแบบเดิมอย่างซ้ำๆนั่นเอง
รู้จัก ภาวะภูมิแพ้อาหารแฝง (Food Intolerance)
ภูมิแพ้อาหารแฝง หรือ Food Intolerance เป็นภาวะของร่างกายที่ไม่สามารถย่อยอาหารบางชนิดได้ตามปกติ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่มักจะพบบ่อยที่สุดนั้นมี 2 ประการ คือ
- ร่างกายไวต่อสารบางชนิดในอาหาร ตัวอย่างเช่นสารปรุงแต่งในอาหารหรือแม้แต่สารตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นในอาหาร โดยจะมีอาการมากขึ้นก็ต่อเมื่อรับประทานอาหารชนิดนั้นมากเกินไป
- ร่างกายขาดเอนไซม์ย่อยอาหารชนิดนั้น ส่งผลให้อาหารที่รับประทานไม่สามารถย่อยแล้วดูดซึมนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้อาการของภูมิแพ้อาหารแฝงที่เกิดขึ้นกับระบบการย่อยอาหาร ส่วนใหญ่จะใช้เวลาค่อนข้างนานหลายชั่วโมงกว่าจะแสดงอาการหรืออาจจะนานเป็นวัน ๆ แต่ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบอื่นๆ ของร่างกาย
การแพ้อาหารทั่วไปกับภูมิแพ้อาหารแฝง ต่างกันอย่างไร
สำหรับอาการแพ้อาหารทั่วไปเมื่อเรารับประทานอาหารที่แพ้ จะมีปฏิกิริยาอาการอย่างเฉียบพลันและค่อนข้างรุนแรง เช่น ริมฝีปากบวม ตาบวม หน้าบวม คันในลำคอ มีผื่นคันขึ้นตามตัว หายใจลำบาก หรืออาจเกิดอาการช็อกได้
ในขณะที่ภูมิแพ้อาหารแฝงจะไม่แสดงอาการแพ้โดยทันที แต่จะเริ่มมีอาการก็ต่อเมื่อรับประทานอาหารชนิดนั้นซ้ำๆ จนร่างกายไม่สามารถกำจัดสารภูมิต้านทานอิสระที่มีปริมาณมากเกินไปได้หมด ทำให้ไปกระตุ้นระบบกลไกที่ก่อให้เกิดการอักเสบตามอวัยวะต่างๆ อย่างต่อเนื่องกลายเป็นอาการเรื้อรังโดยไม่รู้ตัว เช่น ท้องอืด ท้องเสีย บวมน้ำ ไอเรื้อรัง หรือมีผื่นขึ้นตามตัว เป็นต้น
4 อาการที่บ่งบอกว่าคุณเสี่ยงเป็นภูมิแพ้อาหารแฝง
ภูมิแพ้อาหารแฝง มักจะไม่ค่อยแสดงอาการอย่างทันที แต่จะเกิดขึ้นในอีกหลายชั่วโมงหรือหลายวันต่อมา หลังจากที่เรารับประทานอาหารชนิดที่เป็นสาเหตุเข้าไปแล้ว โดยอาการที่พบได้บ่อยมีดังนี้
- ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย ท้องผูก
- ไอ มีน้ำมูกไหล รู้สึกปวดศีรษะ
- มีอาการอ่อนเพลีย ครั่นเนื้อครั่นตัว
- มีผื่นคันหรืออาจเป็นลมพิษได้
การตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง
อันดับแรกเราควรจดบันทึกในแต่ละวันว่าได้รับประทานอาหารชนิดใดบ้าง หลังจากนั้นมีอาการเกิดขึ้นหรือไม่และนานเท่าไรถึงจะเริ่มมีอาการ จากนั้นลองงดรับประทานอาหารชนิดที่สงสัยว่าเป็นสาเหตุทีละชนิด โดยงดเป็นเวลา 2 – 6 สัปดาห์แล้วดูว่าอาการแพ้อาหารแฝงหายไปหรือไม่ ต่อมาให้ลองกลับไปรับประทานอาหารชนิดนั้นซ้ำอีกครั้ง ถ้าพบว่ามีอาการกลับมาก็ให้คาดคะเนไว้ได้ว่าอาหารชนิดนั้นอาจเป็นสาเหตุก็ได้
ส่วนอีกวิธีหนึ่งก็คือการตรวจเลือดเพื่อหาสารก่อภูมิต้านทาน (Food specific IgG) ซึ่งอาจสามารถช่วยระบุได้ชัดเจนมากขึ้นว่าเราแพ้อาหารแฝงชนิดใดบ้าง แต่วิธีนี้จะมีราคาค่อนข้างสูงและใช้เวลานานกว่าจะทราบผลการตรวจ
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmr]