ทางเลือกใหม่ รักษามะเร็งเต้านมแบบพุ่งเป้า (Targeted Therapy)
จากข้อมูลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในประเทศไทย พบว่า 1 ใน 3 เป็นชนิด HER2 Positive (HER2 Positive Breast Cancer) ซึ่งเป็นชนิดที่รุนแรง และอาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายได้ ดังนั้น การรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเน้นไปที่การใช้ยาพุ่งเป้า คือ ยาต้านเฮอร์ทู (HER2)
ข้อดีของการ รักษาแบบพุ่งเป้า คือ ตัวยามุ่งทำลายเฉพาะเซลล์ที่ผิดปกติ ประสิทธิภาพการรักษาจึงเพิ่มขึ้น ในขณะที่เกิดผลข้างเคียงกับผู้ป่วยลดลง การ รักษาแบบพุ่งเป้า แบ่งได้ 2 แบบ คือ
1. การรักษาด้วย ยาพุ่งเป้าต่อยีนก่อมะเร็งเฮอร์ทู
ในผู้ป่วยที่พบว่ามีการเพิ่มจำนวนของตัวรับเฮอร์ทู (HER2 Receptor) บนผิวเซลล์เป็นจำนวนมาก เมื่อได้รับการกระตุ้นจะส่งผลให้เซลล์มะเร็งแบ่งตัวได้เร็วขึ้น เพิ่มความรุนแรงของอาการโรค ทั้งนี้ ผู้ป่วยกลุ่ม HER2 Positive ต้องได้รับการตรวจละเอียดเพิ่มเติม เพื่อวัดปริมาณของตัวรับเฮอร์ทู (HER2 Receptor) และลักษณะของตัวรับบนผิวเซลล์ เพื่อให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและเลือกตัวยาต้านเฮอร์ทู (HER2) ที่พุ่งเป้าการรักษาได้อย่างเหมาะสม
โดยมีกลุ่มตัวยาสำคัญ ได้แก่ ทราสทูซูแมบ (Trastuzumab) เพอร์ทูซูแมบ (Pertuzumab) ลาพาตินิบ (Lapatinib) และ ทีดีเอ็มวัน (T-DM1) ซึ่งเป็นตัวใหม่ในกลุ่มยาต้านเฮอร์ทู ประกอบขึ้นด้วยทราสทูซูแมบและยาเคมีบำบัด เป็นรูปแบบยาฉีด จะออกฤทธิ์ทำลายมะเร็งเมื่อยาเข้าไปจนถึงเซลล์มะเร็งแล้ว จึงเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งเต้านมได้มากขึ้น
ดังนั้น การตรวจพบเร็วและรู้ว่าเป็นมะเร็งเต้านมระยะใดก็จะส่งผลดีต่อการหาวิธีรักษาได้รวดเร็วขึ้น หากผู้ป่วยเป็นมะเร็งในระยะแรก จะยิ่งเพิ่มแนวโน้มให้การรักษาหายได้ หรือเมื่อเข้าสู่ระยะแพร่กระจายก็จะต่อชีวิตได้นานขึ้นเมื่อได้รับยาต้านเฮอร์ทู (HER2) อย่างทันท่วงที
2. การรักษาด้วย ยาพุ่งเป้าสําหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ติดตัวรับทางฮอร์โมน
ยาพุ่งเป้าสําหรับผู้ป่วยที่ติดตัวรับฮอร์โมน จะช่วยยับยั้งวงจรการแบ่งตัวของเซลล์และมีประสิทธิภาพช่วยชะลอการแพร่กระจาย อีกทั้งยังทำให้ก้อนมะเร็งที่กระจายไปนั้นยุบลงได้ ซึ่งยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาพาลโบไซคลิบ (Palbociclib) ไรโบไซคลิบ (Ribociclib) และ อะมีบาไซคลิบ (Abemaciclib) มักใช้สำหรับการรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่ติดตัวรับทางฮอร์โมนในระยะแพร่กระจายและใช้ควบคู่กับยาต้านฮอร์โมนที่แพทย์ประเมินให้
ทางเลือกใหม่ในการรักษามะเร็งเต้านมด้วยยาต้านเฮอร์ทู (HER2) นี้ ไม่เพียงแต่ให้ผลทางประสิทธิภาพในการรักษา แต่ยังเพิ่มกำลังใจให้กับผู้ป่วยและลดอาการข้างเคียงด้วย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และการตัดสินใจร่วมกันกับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ว่าจะรักษาในรูปแบบใด
การป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุด คือ การสังเกตความผิดปกติของเต้านมและการตรวจคัดกรองด้วยเครื่องมือทางการแพทย์อยู่เสมอ เพื่อป้องกันโรคและรักษาอาการได้ทันท่วงที

ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย