หนึ่งในโรคที่คร่าชีวิตคนไทย รวมทั้งผู้คนทั่วโลกเป็นอันดับต้น ๆ ก็คือ โรคมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็น โรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งปากมดลูก รวมถึง โรคมะเร็งเต้านม ที่ถือว่าเป็นโรคมะเร็งอันดับ 1 ของผู้หญิง แต่ก็สามารถพบได้ในผู้ชายเช่นกัน แม้โรคมะเร็งเต้านมจะน่ากลัว แต่ในปัจจุบันผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมก็อาจสามารถหายจากโรคได้ หากได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ตามลักษณะของมะเร็งที่เป็นและสภาพร่างกายของผู้ป่วย ด้วย วิธีรักษามะเร็งเต้านม ที่ Hello คุณหมอนำมาฝากเหล่านี้
มาดู วิธีรักษามะเร็งเต้านม
วิธีรักษามะเร็งเต้านม การผ่าตัดมะเร็งเต้านม
การผ่าตัดถือเป็นวิธีรักษามะเร็งเต้านมหลักสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น วิธีการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมมีอยู่ด้วยกันหลัก ๆ 2 วิธี ได้แก่
- การตัดเต้านมออกทั้งเต้า
การผ่าตัดเอาเต้านมออกทั้งหมด (Total or Simple mastectomy) รวมถึงผิวหนังที่อยู่เหนือก้อนมะเร็งและหัวนมด้วย เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ มีก้อนมะเร็งหลายก้อน หรือผู้ป่วยที่ไม่สะดวกหรือมีข้อห้ามในการฉายรังสีที่เต้านมหลังผ่าตัด
- การผ่าตัดแบบสงวนเต้านม
การผ่าตัดแบบสงวนเต้านม (Breast Conserving Surgery หรือ Lumpectomy) คือ การตัดก้อนมะเร็งและเนื้อเต้านมที่อยู่รอบๆ ออก โดยตัดห่างจากขอบของก้อนมะเร็งประมาณ 1-2 เซนติเมตร โดยมากแล้วจะยังคงเหลือหัวนม ฐานหัวนม และเนื้อเต้านมส่วนใหญ่เอาไว้ นิยมใช้กับผู้ป่วยที่มีมะเร็งขนาดเล็ก มีมะเร็งเพียงตำแหน่งเดียว เต้านมมีขนาดใหญ๋พอสมควร และภายหลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องรักษาด้วยวิธีการฉายรังสีที่เต้านมร่วมด้วย
การรักษามะเร็งเต้านมด้วยการผ่าตัด อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางประการ เช่น เกิดรอยแผลเป็น เนื้อเยื่อย่นเข้าหากัน แผลตึงหรือหดรั้ง ทำให้เคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวก อาจมีปัญหาในการสวมใส่เสื้อผ้า
วิธีรักษามะเร็งเต้านม รังสีรักษา (Radiation Therapy)
รังสีรักษามักเป็นทางเลือกที่สองในการรักษาโรคมะเร็ง โดยแพทย์จะใช้รังสีที่มีพลังงานสูง เช่น รังสีเอ็กซ์ เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง วัตถุประสงค์ของการรักษาชนิดนี้คือรักษาโรคมะเร็งโดยไม่ทำลายเนื้อเยื่อที่ไม่เป็นโรคมะเร็งบนเต้านม อย่างไรก็ตาม การรักษาประเภทนี้ทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ แต่เนื่องจากอาการของมะเร็งและระยะเวลาที่เป็นส่งผลต่อผู้ป่วยแต่ละคนไม่เท่ากัน จึงไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า ในช่วงที่ใช้รังสีรักษามะเร็งเต้านม จะเกิดผลข้างเคียงอะไรขึ้นและเกิดขึ้นในระดับใด
โดยผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นทั่วไปของวิธีรังสีรักษา ได้แก่ อาการคลื่นไส้อาเจียน เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย แต่อาการเหล่านี้จะค่อย ๆ หายไป และผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดหลังการทำรังสีรักษา ได้แก่ โรคหัวใจ โรคปอด ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าจะแสดงอาการ แต่หลายกรณีที่เกิดเป็นโรคประจำตัวของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้
การทำเคมีบำบัด (Chemotherapy)
การทำเคมีบำบัด หรือที่นิยมเรียกกันว่า การทำคีโม เป็นการให้ยาเพื่อทำลายหรือหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อมะเร็ง สามารถใช้รักษามะเร็งได้ทั่วร่างกาย ไม่เฉพาะแต่เต้านมเท่านั้น สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมบางราย อาจต้องใช้การทำเคมีบำบัดร่วมกับวิธีรักษามะเร็งเต้านมวิธีอื่นๆ โดยแพทย์จะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ประเภทของมะเร็งเต้านม ขนาดของมะเร็ง สุขภาพของผู้ป่วย รวมถึงการรักษาอื่นๆ ก่อนหน้าหรือปัจจุบันที่ผู้ป่วยได้รับ การทำเคมีบำบัดนั้นช่วยฆ่าเซลล์มะเร็งที่โตเร็วมากและอาจลุกลามไปยังเซลล์ดีอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม การรักษามะเร็งเต้านมด้วยการทำเคมีบำบัด อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ผมร่วง ท้องผูก ท้องเสีย ผิวหนังเล็บเปลี่ยนสี คลื่นไส้อาเจียน
ฮอร์โมนบำบัด (Hormonal Therapy)
ฮอร์โมนบางชนิดมีผลต่อการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน ที่หากร่างกายได้รับมากเกินไป สามารถกระตุ้นให้เซลล์เนื้อเยื่อเต้านมเจริญเติบโตผิดปกติ และกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ การรักษามะเร็งเต้านมด้วยวิธีฮอร์โมนนี้ เป็นการให้ยาต้านฮอร์โมนเข้าไปแย่งที่กับตัวรับเอสโตรเจน หรือเอสโตรเจน รีเซฟเตอร์ (Estrogen receptor) เพื่อขัดขวางการส่งสัญญาณของฮอร์โมนที่เซลล์มะเร็ง เรียกง่ายๆ ก็คือ เพื่อตัดฮอร์โมนที่อาจไปกระตุ้นเซลล์มะเร็งให้เจริญเติบโตได้
ความคล้ายคลึงของวิธีรักษามะเร็งเต้านมด้วยการทำเคมีบำบัดและฮอร์โมนบำบัด ก็คือ ทั้งสองวิธีมีการรักษาอย่างเป็นระบบ สารที่ใช้บำบัดสามารถเข้าถึงทุกเซลล์ทั่วร่างกาย ทำให้ใช้รักษามะเร็งได้ทุกประเภท แต่มีผลข้างเคียงน้อยกว่าเคมีบำบัดมาก ผลข้างเคียงของวิธีรักษามะเร็งเต้านมด้วยฮอร์โมนบำบัด เช่น อาการร้อน ๆ หนาว ๆ ช่องคลอดแห้ง
อย่างไรก็ตาม แพทย์มักเลือกวิธีการรักษามากกว่าหนึ่งวิธีในการรักษามะเร็งเต้านม เช่น ผู้ป่วยบางรายอาจต้องได้รับการผ่าตัด ร่วมกับการบำบัดอื่น ๆ เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีขึ้น แพทย์จะเลือกวิธีรักษาโดยขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพของโรค เช่น ขนาดและตำแหน่งของต่อมน้ำเหลือง ประเภทของมะเร็ง การตั้งครรภ์ อายุของผู้ป่วยและความรู้สึกสบายใจต่อวิธีการรักษาแต่ละประเภท