การทำเคมีบำบัด (Chemotherapy)
การทำเคมีบำบัด หรือที่นิยมเรียกกันว่า การทำคีโม เป็นการให้ยาเพื่อทำลายหรือหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อมะเร็ง สามารถใช้รักษามะเร็งได้ทั่วร่างกาย ไม่เฉพาะแต่เต้านมเท่านั้น สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมบางราย อาจต้องใช้การทำเคมีบำบัดร่วมกับวิธีรักษามะเร็งเต้านมวิธีอื่นๆ โดยแพทย์จะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ประเภทของมะเร็งเต้านม ขนาดของมะเร็ง สุขภาพของผู้ป่วย รวมถึงการรักษาอื่นๆ ก่อนหน้าหรือปัจจุบันที่ผู้ป่วยได้รับ การทำเคมีบำบัดนั้นช่วยฆ่าเซลล์มะเร็งที่โตเร็วมากและอาจลุกลามไปยังเซลล์ดีอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม การรักษามะเร็งเต้านมด้วยการทำเคมีบำบัด อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ผมร่วง ท้องผูก ท้องเสีย ผิวหนังเล็บเปลี่ยนสี คลื่นไส้อาเจียน
ฮอร์โมนบำบัด (Hormonal Therapy)
ฮอร์โมนบางชนิดมีผลต่อการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน ที่หากร่างกายได้รับมากเกินไป สามารถกระตุ้นให้เซลล์เนื้อเยื่อเต้านมเจริญเติบโตผิดปกติ และกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ การรักษามะเร็งเต้านมด้วยวิธีฮอร์โมนนี้ เป็นการให้ยาต้านฮอร์โมนเข้าไปแย่งที่กับตัวรับเอสโตรเจน หรือเอสโตรเจน รีเซฟเตอร์ (Estrogen receptor) เพื่อขัดขวางการส่งสัญญาณของฮอร์โมนที่เซลล์มะเร็ง เรียกง่ายๆ ก็คือ เพื่อตัดฮอร์โมนที่อาจไปกระตุ้นเซลล์มะเร็งให้เจริญเติบโตได้
ความคล้ายคลึงของวิธีรักษามะเร็งเต้านมด้วยการทำเคมีบำบัดและฮอร์โมนบำบัด ก็คือ ทั้งสองวิธีมีการรักษาอย่างเป็นระบบ สารที่ใช้บำบัดสามารถเข้าถึงทุกเซลล์ทั่วร่างกาย ทำให้ใช้รักษามะเร็งได้ทุกประเภท แต่มีผลข้างเคียงน้อยกว่าเคมีบำบัดมาก ผลข้างเคียงของวิธีรักษามะเร็งเต้านมด้วยฮอร์โมนบำบัด เช่น อาการร้อน ๆ หนาว ๆ ช่องคลอดแห้ง
อย่างไรก็ตาม แพทย์มักเลือกวิธีการรักษามากกว่าหนึ่งวิธีในการรักษามะเร็งเต้านม เช่น ผู้ป่วยบางรายอาจต้องได้รับการผ่าตัด ร่วมกับการบำบัดอื่น ๆ เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีขึ้น แพทย์จะเลือกวิธีรักษาโดยขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพของโรค เช่น ขนาดและตำแหน่งของต่อมน้ำเหลือง ประเภทของมะเร็ง การตั้งครรภ์ อายุของผู้ป่วยและความรู้สึกสบายใจต่อวิธีการรักษาแต่ละประเภท
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย