backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

Peripheral Neuropathy คือ อะไร เกี่ยวข้องอย่างไรกับเบาหวาน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 03/10/2022

Peripheral Neuropathy คือ อะไร เกี่ยวข้องอย่างไรกับเบาหวาน

Peripheral Neuropathy คือ อาการปลายประสาทเสื่อม หรือได้รับความเสียหายซึ่งผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมโรคได้ไม่มี อาจะมีภาวะเส้นประสาทเสื่อมได้ เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานส่งผลให้เส้นเลือดฝอยที่หล่อเลี้ยงเส้นประสาทเสียหาย จึงทำให้มีอาการชา เจ็บปวด หรืออ่อนแรง บริเวณปลายเท้า ขา หรือมือ ทั้งนี้คุณหมอจะแนะนำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเกณฑ์ เพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกันอาการเส้นประสาทเสื่อมมิให้เป็นรุนแรงกว่าเดิม

Peripheral Neuropathy คือ อะไร

Peripheral Neuropathy คือ อาการปลายประสาทเสื่อม

ผู้ป่วยปลายประสาทเสื่อม อาจมีอาการอ่อนแรง การรับความรู้สึกผิดปกติ เช่น รู้สึกปวด แสบ รู้สึกคล้ายไฟช้อต หรือชา รวมถึงอาจพบว่ามีเส้นประสานที่ควบคุมระบบต่าง ๆ ทำงานผิดปกติร่วมด้วย จนทำให้มีอาการแสดงของระบบนั้น ๆ เช่น เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หัวใจเต้นเร็ว ท้องอืด ท้องผูก

ทั้งนี้ อาการปลายประสาทอักเสบนอกจากเกิดจากโรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ดีแล้วยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ดังนี้

  • ขาดวิตามินบี 12
  • อุบัติเหตุหรืออาการบาดเจ็บของเส้นประสาท
  • พร่องฮอร์โมนไทรอยด์
  • โรคหลอดเลือดอักเสบ
  • โรคไตเสื่อมเรื้อรัง
  • โรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • ได้รับสารพิษบางขนิด เช่น สารหนู ตะกั่ว หรือปรอท

Peripheral Neuropathy เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานอย่างไร

อาการปลายประสาทเสื่อม เป็นภาวะหนึ่งของโรคเส้นประสาทจากโรคเบาหวาน (Diabetic Neuropathy) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมโรคได้ไม่ดี

เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานหากไม่ดูแลตัวเองด้วยการควบคุมอาหาร หรือออกกำลังกาย รวมถึงรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงเรื่อย ๆ อย่างเรื้อรังจนเป็นส่งผลให้หลอดเลือดฝอยที่หล่อเลี้ยงเส้นประสาทของอวัยวะต่าง ๆ เกิดความเสียหาย และเกิดปลายประสาทเสื่อมได้

ทั้งนี้ โอกาสในการเกิดอาการปลายประสาทเสื่อมจากเบาหวาน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุของผู้ป่วย ระยะเวลาที่เป็นโรคเบาหวาน ชนิดของโรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ อาทิเช่น การสูบบุหรี่หรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก

ผู้ที่มีอาการปลายประสาทเสื่อมจากเบาหวานมักจะมีอาการเริ่มที่บริเวณปลายเท้าหรือขาก่อน จากนั้นจึงขยับไปปลายนิ้วมือเเละแขนหรือมือ โดยอาการที่พบ มีดังนี้

  • รู้สึกชา หรือไม่รับรู้ถึงอุณหภูมิร้อนหรือเย็น
  • รู้สึกเจ็บ เสียว หรือแสบ
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • การรับความรู้สึกไวต่อการสัมผัสผิดปกติ เช่น รู้สึกเจ็บปวดเมื่อร่างกายสัมผัสกับผ้าปูที่นอนเบา ๆ
  • มีแผลติดเชื้อที่เท้า เนื่องจากผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บเวลาเป็นแผลจึงไม่ทันได้สังเกต และปล่อยไว้ทำให้แผลอัเสบ ติดเชื้อ อักเสบ หรือเป็นหนองได้

Peripheral Neuropathy เป็นแล้ว รักษาอย่างไร

การรักษาปลายประสาทเสื่อมในผู้ป่วยเบาหวาน มีวิธีเบื้องต้นดังต่อไปนี้

  • การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีเพื่อชะลอหรือป้องกันเส้นประสาทเสียหายเพิ่มเติม ทั้งนี้ สมาคมโรคเบาหวานของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดเป้าหมายของระดับน้ำตาลในบุคคลทั่วไปคือ ระดับน้ำตาลในเลือดก่อนรับประทานอาหารอยู่ระหว่าง 80-130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมงไม่เกิน 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และมีระดับน้ำตาลสะสมไม่เกิน 7 %
  • ยาลดความเจ็บปวดโดยส่วนมากแล้ว ผู้ที่มีปลายประสาทเสื่อมมักมีอาการชา เเต่พบว่าประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ป่วย อาจรู้สึกปวดแสบ ๆ ร้อนๆ หรือบางรายรู้สึกซ่า คล้ายเป็นเหน็บได้ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวดที่ออกฤทธิ์ที่เส้นประสาทในการบรรเทาอาการ
  • การบรรเทากล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยคุณหมอจะให้ผู้ป่วยปลายประสาทอักเสบทำกายภาพบำบัด เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ หรืออาจให้คนไข้ใช้ไม้เท้าหรือไม้ค้ำขณะก้าวเดิน

นอกจากนี้ หากพบอาการแทรกซ้อนอย่าง อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ อาการท้องผูก หรือภาวะเหงื่อออกมือมากผิดปกติ คุณหมอจะประเมินอาการและหาวิธีรักษาไปพร้อม ๆ กัน

Peripheral Neuropathy ป้องกันได้อย่างไร

ปลายประสาทเสื่อมจากเบาหวานสามารถป้องกันได้ ด้วยการดูแลตนเองเบื้องต้นดังนี้

  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยเเนะนำให้ออกกำลังกายที่มีความเหนื่อยระดับปานกลาง เช่น วิ่งเหยาะ ๆ เดินเร็ว อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือ นานครั้งละอย่างน้อย 30 นาที ความถี่อย่างน้อย 5 วัน ต่อสัปดาห์
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยรับประทานกลุ่มคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว แป้ง ในปริมาณที่เหมาะสม ลดการบริโภคของหวาน รวมไปทั้งเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เพราะทำให้ระดับน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้นได้มาก ส่งผลให้ควบคุมเบาหวานได้ไม่ดี
  • รับประทานยาลดระดับน้ำตาล รวมถึงฉีดยาอินซูลิน ตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด ไม่ปรับเปลี่ยนปริมาณหรือวิธีการด้วยตนเอง
  • งดสูบบุหรี่ เพราะสารนิโคตินในบุหรี่อาจทำให้หลอดเลือดหดตัวจนเกิดการตีบหรืออุดตัน ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปยังปลายมือปลายเท้าได้ไม่ดี

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 03/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา