backup og meta

โรคเบาหวาน การรักษา ทำได้อย่างไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 12/10/2022

    โรคเบาหวาน การรักษา ทำได้อย่างไรบ้าง

    โรคเบาหวาน มีวีธีการรักษาหลายรูปแบบ โดยคุณหมอจะพิจารณาอ้างอิงตาม ชนิดของโรคเบาหวาน ภาวะสุขภาพโดยรวม ค่าระดับน้ำตาล เพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมให้กับเเต่ละบุคล เช่น การใช้อินซูลิน การรับประทานยาลดน้ำตาลในเลือด รวมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลตนเอง เช่น การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งควรปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอเพื่อควบคุมโรคเบาหวานให้ได้ดี เพราะหากปล่อยให้ระดับน้ำตาลสูงอย่างเรื้อรังอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงตามมาในระยะยาวได้

    โรคเบาหวาน เกิดจากอะไร

    สาเหตุของโรคเบาหวานอาจแบ่งตามชนิดของโรค ดังต่อไปนี้

    • โรคเบาหวานชนิดที่ สาเหตุเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสร้างภูมิมาทำลายเซลล์ของตับอ่อนที่ทำหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนอินซูลิน จึงทำให้ร่างกายมีอินซูลินไม่เพียงพอ ซึ่งฮอร์โมนอินซูลินนั้นมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้เซลล์นำน้ำตาลที่อยู่ในกระแสเลือดไปเผาผลาญให้เป็นพลังงาน ดังนั้นเมื่อร่างกายมีอินซูลินไม่เพียงพอ เซลล์จึงไม่สามารถดึงน้ำตาลจากในกระเเสเลือดได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่าปกติ และเกิดเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 คือเบาหวานที่เกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน พบได้กว่า 95 % ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด สาเหตุเกิดการที่เซลล์ในร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่ออินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เเม้จะมี อินซูลินเพียงพอในร่างกาย เเต่เซลล์ก็ไม่สามารถนำน้ำตาลไปเผาผลาญได้เหมาะสม จึงส่งผลให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง จนนำไปสู่การเกิดเบาหวานชนิดที่ 2
  • โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เกิดจากฮอร์โมนจากรกที่หลั่งเพิ่มมากขึ้นตามอายุครรภ์ ชื่อ เอชซีจี (Human Chorionic Gonadotropin หรือ HCG) มีออกฤทธิ์ให้เซลล์ ในร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน จึงทำให้เกิดภาวะเบาหวานในคุณเเม่บางรายได้
  • สัญญาณเตือนของโรคเบาหวาน

    สัญญาณเตือนของโรคเบาหวาน มีดังนี้

  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • กระหายน้ำมาก
  • ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะตอนกลางคืน
  • เหนื่อยล้าง่าย
  • มีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น หิวบ่อย
  • ตาพร่ามัว
  • เท้าชาหรือเท้าบวม
  • มีแผลเรื้อรังที่ปลายมือ/เท้า แผลหายช้า
  • ผิวและริมฝีปากแห้ง
  • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมงเเล้วค่าสูงกว่า 126-200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 200 อย่างต่อเนื่อง เพราะอาจเสี่ยงต่อภาวะเเทรกซ้อนฉุกเฉินจากน้ำตาลสูง เช่น ภาวะเลือดเป็นกรด (Diabetic Ketoacidosis) หรือ ภาวะเลือดข้นจากน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ จึงควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมให้เร็วที่สุด
  • โรคเบาหวาน การรักษา ทำได้อย่างไร

    โรคเบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังที่ผู้ป่วยส่วนมากจำเป็นต้องรับประทานยาควบคุมไปตลอด เพื่อให้มีสุขภาพโดยรวมที่แข็งเเรง เเละ มีคุณภาพชีวิตที่ดี

    โรคเบาหวาน การรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์

    ยารักษาเบาหวาน 

    ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดรับประทาน เป็นวิธีการรักษาหลักของผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่2 โดยในปัจจุบันมียารักษาเบาหวานอยู่หลายชนิด เช่น เมทฟอร์มิน (Metformin) กลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) กลุ่มไธอะโซลิดีนไดโอน (Thiazolidinediones) เเละยังมียาอีกหลายกล่ม ซึ่งออกฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลผ่านกลไลต่างๆที่ต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น ช่วยกระตุ้นการผลิตอินซูลินจากตับอ่อน หรือ ช่วยให้เซลล์ตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีขึ้น เพื่อนำน้ำตาลเข้าไปเผาผลาญได้เพิ่มขึ้น หรือออกฤทธิ์กระตุ้นศูนย์ควบคุมความอิ่มในสมอง ช่วยลดความอยากอาหาร ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีขึ้น รวมไปถึงผ่านกลไกที่ไตให้เพิ่มการขับน้ำตาลส่วนเกินทิ้งทางปัสสาวะ โดยการเลือกใช้ยานี้ คุณหมอจะเลือกพิจารณาตามความเหมาะสมของผู้ที่เป็นเบาหวานเเต่ละราย

    ารฉีดอินซูลิน

    ยาฉีดอินซูลินใช้เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณอินซูลินในร่างกาย ซึ่งช่่วยให้ผู้ที่เป็นเบาหวานสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น โดยคุณหมอจะพิจารณาเลือกให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ทั้งนี้ ชนิด เเละ จำนวนครั้งในการฉีดจึงอาจจะต่างกันออกไปในเเต่ราย

    อินซูลินสามารถแบ่งตามระยะเวลาการออกฤทธิ์เป็น 4 ประเภท ได้แก่

    1. อินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็ว เริ่มออกฤทธิ์ภายในไม่กี่นาที หลังจากฉีด และออกฤทธิ์นาน 3-5 ชั่วโมง ควรฉีดยาก่อนมื้ออาหาร 5-15 นาที มักใช้ร่วมกับอินซูลินที่ออกฤทธิ์นาน
    2. อินซูลินชนิดออกฤทธิ์สั้น/ปกติ ออกฤทธิ์เต็มที่หลังฉีดประมาณ 30 นาที และออกฤทธิ์นาน 5-8 ชั่วโมง ควรฉีดยาก่อนมื้ออาหาร 30 นาที
    3. อินซูลินชนิดออกฤทธิ์ปานกลาง ออกฤทธิ์ภายใน 2-4 ชั่วโมงหลังฉีด และออกฤทธิ์นาน 10-18 ชั่วโมง อาจใช้วันละ 1-2 ครั้ง มักใช้ร่วมกับอินซูลินที่ออกฤทธิ์สั้น
    4. อินซูลินชนิดออกฤทธิ์นาน เริ่มออกฤทธิ์ภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังฉีด และออกฤทธิ์ต่อเนื่องยาวนาน 24 ชั่วโมง จึงใช้วันละครั้ง มักใช้ร่วมกับอินซูลินที่ออกฤทธิ์เร็วหรือสั้น

    การปลูกถ่ายตับอ่อน

    เป็นวิธีการรักษาโรคเบาหวานที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 หากผ่าตัดสำเร็จอาจไม่จำเป็นต้องใช้อินซูลินอีก แต่จำเป็นต้องรับประทานยากดภูมิเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายต่อต้านตับอ่อนที่ปลูกถ่ายไปตลอดชีวิต

    การผ่าตัดเพื่อลดความอ้วน 

    เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เป็นโรคอ้วนหรือมีค่าดัชนีมวลกายสูงกว่า 35 โดยจะผ่าตัดบายพาสกระเพาะอาหาร เพื่อช่วยลดการดูดซึมน้ำตาล และอาจช่วยให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น

    โรคเบาหวาน การดุเเลสุขภาพตนเอง

    • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นการรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น มะเขือเทศ พริก กะหล่ำดอก ผักใบเขียว บร็อคโคลี่ อัลมอนด์ ถั่วลิสง เมล็ดฟักทอง ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต แซลมอน ปลาทู ปลาซาร์ดีน เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เพื่อช่วยควบคุมน้ำหนัก และอาจทำให้รู้สึกอิ่มนานขึ้น เพิ่มพลังงาน และช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาล ไขมัน และคอเลสเตอรอลเข้าสู่กระแสเลือด
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีเเป้งเเละไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน ผลิตภัณฑ์จากนมไขมันสูง ขนมหวาน อาหารแปรรูป และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง นอกจากนี้ ยังควรจำกัดปริมาณการบริโภคอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตให้เหมาะสม เช่น ข้าวขาว ขนมปัง มันฝรั่ง เพราะอาจส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
    • ออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที หรือ 150 นาที/สัปดาห์ โดยเป็นการออกกำลังกายความเหนื่อยระดับกลาง เช่น เดิน วิ่งเหยาะ ๆ ปั่นจักรยาน หรือปรึกษาคุณหมอให้ช่วยแนะนำแผนการออกกำลังกายที่เหมาะสม เพราะนอกจากการออกกำลังกายช่วยทำให้ร่างกายเเข็งเเรงโดยรวมเเล้ว ยังอาจช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลิน ทำให้สามารถจัดการกับน้ำตาลในเลือดได้ดียิ่งขึ้นด้วย
    • งดสูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่มีสารพิษที่เป็นสารอนุมูลอิสระเข้าทำลายเซลล์ในร่างกาย ซึ่งนำไปสู่การเกิดภาวะดื้ออินซูลิน เป็นผลเสียต่อโรคเบาหวาน ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้ยากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงของ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เเละโรคปอด อีกด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 12/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา