ยา ทา แผล เบาหวาน คือยาสำหรับรักษาแผลทั่วไปที่สามารถซื้อได้ตามร้านขายยาหรือตามที่คุณแนะนำ ใช้เพื่อรักษาแผล ฆ่าเชื้อโรค กระตุ้นการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อ ซึ่งมีส่วนช่วยให้แผลสมานตัวได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรทำความสะอาดแผลให้ดีและไปพบคุณหมอตามนัดเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม ป้องกันการติดเชื้อ มิให้แผลลุกลาม และช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
[embed-health-tool-bmi]
ยา ทา แผล เบาหวาน มีอะไรบ้าง
ยาทาแผลเบาหวานเป็นยาที่ใช้ทาในบริเวณแผลอาจเพื่อรักษาแผล ฆ่าเชื้อ ช่วยฟื้นฟูเซลล์ผิวหนังขึ้นมาใหม่ให้แผลสมานเร็วขึ้น โดยทั่วหากขนาดแผลไม่ใหญ่และไม่ลึกนัก สามารถปฐมพยาบาลหรือทำแผลเบาหวานได้เบื้องต้นเอง ด้วยการใช้ยาสำหรับทาแผลตามร้านขายยาหรือตามที่คุณหมอแนะนำ เช่น
- น้ำเกลือทางการแพทย์ ใช้สำหรับล้างทำความสะอาดบริเวณแผล เพื่อขจัดสิ่งสกปรกและเชื้อโรคภายในแผล
- ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อโณค เป็นยาใช้ภายนอกสำหรับฆ่าเชื้อที่บริเวณแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจรุนแรงจนนำไปสู่การตัดแขนขาเนื่องจากแผลเน่าจนเนื้อตาย ในบางกรณีคุณหมออาจจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะผ่านทางเส้นเลือดดำ เพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคได้ดีขึ้น เช่น มีการติดเชื้อแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียงหรือลึกจนถึงกระดูก
- โกรทแฟคเตอร์ (Growth Factor) เป็นอาหารของเซลล์ซึ่งอาจช่วยกกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ร่างกายโดยเฉพาะ ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของผิวหนัง เส้นใยโปรตีน คอลลาเจน ทำให้แผลสมานตัวและหายเร็วขึ้น
- ผลิตภัณฑ์เสมือนผิวหนัง (Skin Substitutes) เป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ใช้สำหรับการรักษาแผล มีคุณสมบัติช่วยเสริมเนื้อผิวหนังที่สูญเสียไป กระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ ช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น จึงนับว่าเป็นการป้องกันการติดเชื้อและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วย
วิธีรักษาแผลเบาหวาน สามารถทำได้อย่างไร
วิธีรักษาแผลเบาหวานควบคู่ไปกับการใช้ยาทาแผลที่อาจช่วยรักษาให้แผลหายได้เร็วและป้องกันการติดเชื้อรุนแรง มีดังนี้
- ทำความสะอาดแผลทุกวัน ด้วยน้ำเกลือทางการแพทย์ เว้นแต่คุณหมอจะแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดแผลอื่น ๆ แต่ไม่ควรใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) ล้างแผล เพราะจะทำให้เนื้อเยื่อเสียหายมากขึ้นได้
- ใช้ยาตามที่คุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัด เช่น น้ำเกลือทางการแพทย์ ยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อ) โกรทแฟคเตอร์ (Growth Factor) ผลิตภัณฑ์สารทดแทนผิวหนัง
- ปิดแผลด้วยผ้าพันแผล หลังจากทำความสะอาดแผลและใส่ยาทาแผลแล้ว ควรปิดแผลด้วยผ้าพันแผลเสมอ เพื่อป้องกันเชื้อโรคและสิ่งสกปรกที่อาจปนเปื้อนและทำให้แผลติดเชื้อแทรกซ้อน แต่ควรใช้วัสดุปิดแผลที่สามารถระบายอากาศได้ดี อีกทั้งไม่ควรปิดแผลแน่นจนเกินไป
- ป้องกันแผลกดทับ หลีกเลี่ยงการลงน้ำหนักในบริเวณที่มีแผลเพื่อป้องกันมิให้เกิดการกดทับ ซึ่งอาจทำให้แผลอับชื้น อักเสบ มากขึ้นนอกจากนี้ อาจช่วยให้แผลแห้งและหายเร็วขึ้นได้
- การผ่าตัดลอกเนื้อเยื่อในบาดแผล (Debridement) หากแผลติดเชื้อรุนแรงมากหรือมีเนื้อตายเป็นวงกว้าง คุณหมอจะผ่าตัดเพื่อลอกเอาเนื้อเยื่อส่วนที่เสียออก เพื่อกระตุ้นการรักษาบาดแผลตามธรรมชาติให้เกิดการสมานแผลได้ดีขึ้น
วิธีป้องกันการเกิดแผลเบาหวาน
ผู้ป่วยเบาหวานอาจป้องกันการเกิดบาดแผลได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- ตรวจสอบและทำความสะอาดร่างกายทุกวัน หมั่นสังเกตตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายว่ามีบาดแผล รอยขีดข่วน อาการบวมแดงหรือไม่ เพื่อป้องกันการเกิดแผลติดเชื้อหรือแผลเรื้อรัง โดยยังควรเน้นตรวจสอบบริเวณเท้าและข้อพับและผิวหนังบริเวณอื่น ๆ จุดที่อาจมีความอับชื้นได้ง่าย ทุกวัน หากพบบาดแผลควรทำแผลทันทีและควรไปพบคุณหมอหากแผลไม่ดีขึ้นใน 2-3 วันเพื่อป้องกันแผลลุกลาม
- ควรสวมถุงเท้าหรือรองเท้าอยู่เสมอ เพราะผู้ป่วยเบาหวานอาจเสี่ยงต่อเกิดบาดแผลโดยไม่ทันรู้ตัว
- ตัดเล็บให้สั้นเสมอนิ้ว ไม่ควรปล่อยให้เล็บยาวเพื่อป้องกันการขีดข่วนที่อาจทำให้เกิดบาดแผล และ ไม่ควรตัดเล็บสั้นจนเกินไป เพราะอาจเกิดแผลฉีกขาดที่นิ้วระหว่างที่ตัดเล็บได้
- เลิกสูบบุหรี่ เพราะนอกจากบุหรี่จะเป็นสารก่อมะเร็งแล้ว สารพิษในบุหรี่อาจทำลายหลอดเลือด ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติแลทำให้แผลหายช้าได้