แปะก๊วย
เป็นสมุนไพรที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน มีส่วนช่วยปรับปรุงการไหลเวียนโลหิต และอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วย จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร University of Cincinnati เมื่อ พ.ศ. 2562 ศึกษาเกี่ยวกับแปะก๊วยอาจช่วยในการรักษาเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่า สารสกัดจากใบแปะก๊วยมีผลดีต่อเบต้าเซลล์ของแลงเกอร์ฮานส์ (Langerhans) ซึ่งเป็นเซลล์ในตับอ่อนที่มีหน้าที่ในการหลั่งอินซูลิน ทั้งยังช่วยลดระกับน้ำตาลในเลือดได้อีกด้วย ทั้งนี้ เป็นเพียงการทดลองในสัตว์ ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม
ว่านหางจระเข้
เป็นพืชที่มีสรรพคุณช่วยลดการอักเสบในร่างกายที่มีส่วนทำให้เกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น เบาหวาน และยังอาจช่วยรักษาอาการอาหารไม่ย่อยได้อีกด้วย จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Journal of Food Science and Technology เมื่อ พ.ศ. 2557 ศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดและฤทธิ์ลดไขมันของว่านหางจระเข้ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน พบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดและระดับคอเลสเตอรอลรวมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงยังช่วยปรับปรุงระดับไขมันในผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่พึ่งอินซูลินอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การรับประทานสมุนไพรลดเบาหวาน ควรได้รับคำแนะนำจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจะได้รับประทานในปริมาณที่เหมาะสม และป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละคน
การดูแลตัวเองเมื่อเป็นเบาหวาน
การดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมออาจช่วยควบคุมเบาหวานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังอาจช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้อีกด้วย ซึ่งวิธีการดูแลตัวเองเมื่อเป็นเบาหวานอาจทำได้ ดังนี้
- การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ และปรับระบบอาหารให้เหมาะสมด้วยการลดปริมาณอาหารหวาน และเพิ่มปริมาณผักและผลไม้ในอาหาร
- การออกกำลังกาย เป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยลดน้ำหนัก ทำให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง และลดความเสี่ยงในการภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับเบาหวาน เช่น โรคไต ระบบประสาทเสื่อม โรคหลอดเลือดสมอง
- การดูแลร่างกายอย่างเหมาะสม เพื่อควบคุมโเบาหวาน รวมถึงการทำความสะอาดเล็บและตัดเล็บให้สั้น การรักษาผิวหนังให้สะอาดและป้องกันการแตกหรือติดเชื้อ การใส่รองเท้าที่เหมาะสม รวมถึงการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ
- การลดความเครียด เนื่องจากความเครียดอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ควรลดความเครียดด้วยกิจกรรมที่ชอบ เช่น การฝึกโยคะ การอ่านหนังสือ การนอนหลับพักผ่อน
- การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต ระดับไขมันในเลือด และการทำงานของไต ในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนอาจต้องพบคุณหมอเพื่อให้การรักษาเพิ่มเติม
- การติดตามการรักษา เพื่อตรวจสอบผลการรักษา และปรับปรุงการดูแลตัวเอง ในกรณีที่ได้รับยาเบาหวาน ควรรับประทานยาตามที่คุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัด และปรึกษาคุณหมอหากมีปัญหาหรืออาการไม่ดีขึ้น
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย