- ไขมันอิ่มตัว เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เสี่ยงเกิดโรคหัวใจ เนื่องจากทำให้ระดับคอเลสเตอรอลไม่ดีในร่างกายเพิ่มขึ้น ไขมันอิ่มตัวพบได้ทั่วไปในเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป หรือผลิตภัณฑ์จากนม
- ไขมันทรานส์ เป็นไขมันที่พบบ่อยจากการปรับโครงสร้างไขมัน ในกระบวนการอุตสาหกรรมผลิตอาหาร โดยทำให้คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับไขมันอิ่มตัว ทั้งนี้ มักพบไขมันทรานส์ในอาหารแปรรูปโดยทั่วไป เช่น เค้ก เฟรนช์ฟรายส์ แฮมเบอร์เกอร์ ขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ
อาหารโรคเบาหวาน: โปรตีน
สำหรับผู้ป่วยเบาหวานสามารถบริโภคโปรตีนได้ตามปกติ ไม่ว่าจากเนื้อสัตว์ อาหารทะเล ถั่ว หรือเต้าหู้ และในกรณีที่ผู้ป่วยเบาหวานเริ่มมีภาวะไตเรื้อรังแล้ว ควรปรึกษานักโภชนาการเกี่ยวกับอาหารโปรตีนต่ำ เพื่อชะลอไตเสื่อม
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัวในเนื้อสัตว์ และเลือกบริโภคไขมันดี อย่างโอเมก้า 3 จากปลาบางชนิดซึ่งช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาดุก ปลาช่อน
นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์แปรรูป อาทิ ไส้กรอก แฮม เบคอน เนื่องจากมี สัดส่วนของเกลือสูงและมีสารถนอมอาหารบาอย่างที่เป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
อาหารโรคเบาหวาน: ผักและผลไม้
ผักและผลไม้ต่าง ๆ เป็นอาหารแนะนำสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากอุดมไปด้วยเส้นใยอาหาร น้ำตาลและไขมันต่ำ รวมถึงเป็นแหล่งวิตามินและแร่ธาตุนานาชนิด
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ผักและผลไม้ทุกชนิดจะเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน โดยผู้ป่วยเบาหวานควรบริโภคผักและผลไม้ ซึ่งมีค่าดรรชนีน้ำตาลหรือค่า GI (Glycemic Index) ต่ำ เนื่องจากจะไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหลังรับประทานเข้าไป
ทั้งนี้ ผักและผลไม้ดังกล่าวประกอบด้วย
ผัก
- หน่อไม้ฝรั่ง
- บรอกโคลี
- กะหล่ำดอก
- มะเขือ
- ผักกาดหอม
- ผักโขม
- ผักชีฝรั่ง
ผลไม้
- เบอร์รีต่าง ๆ
- พลัม
- แอปเปิ้ล
- กีวี่
- ลูกแพร์
- ส้ม
นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยงผักกระป๋อง หรือผักดอง เพราะมีโซเดียมสูง เมื่อรับประทานแล้วซึ่ง อันอาจทำให้ความดันเลือดสูงขึ้นเมื่อรับประทานเข้าไป
ทั้งนี้ การมีโซเดียมปริมาณมากในร่างกายยังเพิ่มความเสี่ยงการเกิดของโรคต่าง ๆ เช่น หัวใจวาย โรคกระดูกพรุน มะเร็งกระเพาะอาหาร
ยิ่งกว่านั้น ผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยงการบริโภคผลไม้แปรรูปน้ำตาลสูง เช่น ผลไม้เชื่อม ผลไม้กระป๋อง ผลไม้เคลือบน้ำตาล น้ำผลไม้ เนื่องจากผลไม้แปรรูปดังกล่าวเป็นปัจจัยที่ทำให้ระดับน้ำในเลือดสูงขึ้นได้
อาหารโรคเบาหวาน: อัตราส่วนการบริโภคอาหารหนึ่งมื้อ
อ้างอิงจากรายงานของสมาคมโรคเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยเบาหวานควรบริโภคอาหารใน 1 มื้อ ตามอัตราส่วนดังนี้
- รับประทานผักในอัตราส่วนครึ่งหนึ่งของอาหารทั้งหมด
- รับประทานโปรตีนในอัตราส่วน 1 ใน 4 ของอาหารทั้งหมด
- รับประทานคาร์โบไฮเดรตในอัตราส่วน 1 ใน 4 ของอาหารทั้งหมด
- รับประทานไขมันดีในปริมาณเล็กน้อย
- อาจเพิ่มผลไม้ ผลิตภัณฑ์จากนม และเครื่องดื่มไม่มีน้ำตาล เข้าไปในมื้ออาหารด้วย
นอกจากนี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาดแห่งสหรัฐอเมริกา ยังแนะนำว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรบริโภคคาร์โบไฮเดรตเพียงครึ่งหนึ่งของแคลอรี่ที่ควรได้รับต่อวัน เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดและควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดภาวะโรคอ้วน
ทั้งนี้ ผู้ชายควรได้รับพลังงานประมาณ 2,500 กิโลแคลอรี่ต่อวัน ขณะที่ผู้หญิงควรได้รับพลังงาน 2,000 กิโลแคลอรี่ต่อวัน ดังนั้น ปริมาณคาร์โบไฮเดรตซึ่งผู้ป่วยเบาหวานควรบริโภคต่อวัน จึงเท่ากับราว ๆ 1,250 กิโลแคลอรี่ ในผู้ชาย และ 1,000 กิโลแคลอรี่ ในผู้หญิง
ทั้งนี้ ผู้ป่วยเบาหวานและผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวาน ควรปรึกษาคุณหมอถึงข้อแนะนำเกี่ยวกับอาหารเบาหวานและการปรับพฤติกรรมด้านอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วยเพื่อช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ผลดียิ่งขึ้น
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย