โรคเบาหวาน คือโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ หรือไม่สามารถใช้อินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน โดยมี 7อาการเบาหวาน หลัก ๆ ได้แก่ ผิวแห้ง ตาพร่ามัว เหนื่อยล้า ปัสสาวะบ่อย ขาชา คลื่นไส้อาเจียน และน้ำหนักลดลงกะทันหัน หากพบว่ามีอาการดังกล่าว ควรเข้ารับการตรวจโรคเบาหวานและทำการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยควบคุมอาการและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย
[embed-health-tool-bmi]
7อาการเบาหวาน มีอะไรบ้าง
7อาการเบาหวาน มีดังต่อไปนี้
- ตาพร่ามัว เกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงที่ทำลายหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงจอตา ส่งผลให้เลนส์ในดวงตาบวม ตาพร่ามัว และอาจเสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจก ต้อหิน และตาบอดได้
- ปัสสาวะบ่อย เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง ไตจะขับน้ำตาลส่วนเกินทิ้งทางปัสสาวะ จึงถูกขับออกมาในรูปแบบปัสสาวะ ทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะตอนกลางคืน เเละกระหายน้ำบ่อยขึ้น นอกจากนี้ อาจทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ
- ผิวแห้ง เกิดจากการที่ร่างกายขาดน้ำเนื่องจากปัสสาวะบ่อยเกินไป ส่งผลให้ผิวแห้ง มีอาการคัน รวมถึงริมฝีปากแห้งร่วมด้วย
- เหนื่อยล้าง่าย โรคเบาหวานหากควบคุมได้ไม่ดี นอกจากจะทำให้ร่างกายขาดน้ำแล้ว การที่ร่างกายไม่สามารถจัดการกับน้ำตาลในเลือดได้อย่างเหมาะสม ทำให้ร่างกายขาดพลังงาน จึงเกิดอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย และอาจทำให้รู้สึกอยากอาหารมากกว่าปกติ
- เท้าชา เกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงทำให้หลอดเลือดและเส้นประสาทบริเวณเท้าเสียหาย ส่งผลให้เกิดอาการชา หรือในบางรายมีอาการปวดแสบที่บริเวณปลายเท้า และหากมีแผลยังทำให้แผลหายช้าอีกด้วย
- น้ำหนักลดลงกะทันหัน ปกติแล้วอินซูลินจะทำหน้าที่ดึงน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์เพื่อใช้เป็นพลังงาน แต่ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน กระบวนการนี้จะบกพร่องไปทำให้ร่างกายจำเป็นต้องเผาผลาญกล้ามเนื้อและไขมันมาใช้เป็นพลังงานแทน จึงส่งผลให้น้ำหนักลดลงกะทันหัน
- คลื่นไส้ อาเจียน เมื่อร่างกายไม่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นพลังงานได้เพียงพอจึงเผาผลาญไขมันให้เป็นพลังงานเเทน ซึ่งในกระบวนการเผาผลาญไขมันนี้ ทำให้เกิดสารที่เรียกว่า คีโตน (Ketone) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด ดังนั้นเมื่อร่างกายมีคีโตนสะสมในปริมาณมาก จึงทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด ส่งผลให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกไม่สบายท้อง และอาจอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
การรักษาโรคเบาหวาน
การรักษาโรคเบาหวาน อาจทำได้ดังนี้
การฉีดอินซูลิน
เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 (ร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอ) ผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ผ่านการใช้ยารับประทานแล้วยังควบคุมได้ไม่ดี และผู้ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โดยอินซูลินสามารถแบ่งตามระยะเวลาการออกฤทธิ์เป็น 4 ประเภท ได้แก่
- อินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็ว เริ่มออกฤทธิ์ภายในไม่กี่นาที หลังจากฉีด และออกฤทธิ์นาน 3-5 ชั่วโมง ควรฉีดยาก่อนมื้ออาหาร 5-15 นาที มักใช้ร่วมกับอินซูลินที่ออกฤทธิ์นาน
- อินซูลินชนิดออกฤทธิ์สั้น/ปกติ ออกฤทธิ์เต็มที่หลังฉีดประมาณ 30 นาที และออกฤทธิ์นาน 5-8 ชั่วโมง ควรฉีดยาก่อนมื้ออาหาร 30 นาที
- อินซูลินชนิดออกฤทธิ์ปานกลาง ออกฤทธิ์ภายใน 2-4 ชั่วโมงหลังฉีด และออกฤทธิ์นาน 10-18 ชั่วโมง อาจใช้วันละ 1-2 ครั้ง มักใช้ร่วมกับอินซูลินที่ออกฤทธิ์สั้น
- อินซูลินชนิดออกฤทธิ์นาน เริ่มออกฤทธิ์ภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังฉีด และออกฤทธิ์ต่อเนื่องยาวนาน 24 ชั่วโมง จึงใช้วันละครั้ง มักใช้ร่วมกับอินซูลินที่ออกฤทธิ์เร็วหรือสั้น
ยารักษาเบาหวาน
ยารักษาเบาหวาน นับเป็นวิธีการรักษาหลักของผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่2 โดยในปัจจุบันมียารักษาเบาหวานอยู่หลายชนิด ซึ่งออกฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลผ่านกลไลต่างๆที่ต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น ช่วยกระตุ้นการผลิตอินซูลินจากตับอ่อน หรือ ช่วยให้เซลล์ตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีขึ้น เพื่อนำน้ำตาลเข้าไปเผาผลาญได้เพิ่มขึ้น หรือออกฤทธิ์กระตุ้นศูนย์ควบคุมความอิ่มในสมอง ช่วยลดความอยากอาหาร ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีขึ้น รวมไปถึงผ่านกลไกที่ไต ให้เพิ่มการขับน้ำตาลส่วนเกินทิ้งทางปัสสาวะ โดยการเลือกใช้ยานี้ คุณหมอจะเลือกพิจารณาตามความเหมาะสมของผู้ที่เป็นเบาหวานเเต่ละราย
การปลูกถ่ายตับอ่อน
เป็นวิธีการสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 หากผ่าตัดสำเร็จอาจไม่จำเป็นต้องใช้ได้รับการบำบัดรับการบำบัดด้วยอินซูลินในการควบคุมระดับน้ำตาล แต่จำเป็นต้องรับประทานยากดภูมิเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายต่อต้านตับอ่อนที่ปลูกถ่ายไปตลอดชีวิต
การผ่าตัดกระเพาะอาหาร
การผ่าตัดกระเพาะอาหาร เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีปัญหาโรคอ้วน หรือมีมีดัชนีมวลกายสูงกว่า 35 เพื่อลดขนาดกระเพาะลง หรือปรับเปลี่ยนทางเดินอาหาร ที่ช่วยให้ดูดซึมอาหารและดูดซึมน้ำตาลลดลง ซึ่งจะช่วยให้ควบคุมโรคเบาหวานได้ดีขึ้น
การดูแลตนเองสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
เพื่อที่จะควบคุมโรคเบาหวานให้ได้ดี ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานสามารถดูเเลตนเองได้ดังนี้
- หมั่นตรวจระดับน้ำตาลปลายนี้วเองที่บ้าน และจดบันทึกค่าน้ำตาลเป็นประจำ ซึ่งจะบอกถึงความสม่ำเสมอในการควบคุมระดับน้ำตาลช่วยให้ควบคุมโรคเบาหวานได้ดีขึ้น ยังเป็นข้อมูลเพิ่มเติมในการรักษาให้กับคุณหมออีกด้วย
- เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นรับประทานอาหารจำพวกผัก ผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ธัญพืชไม่ขัดสี เนื้อสัตว์ไม่ติดมันและผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันต่ำ เช่น มะเขือเทศ บร็อคโคลี่ กะหล่ำ ถั่วลูกไก่ อัลมอนด์ ถั่วลิสง ปลาแซลมอน ปลาทู เนื้อไก่ เพราะอาหารเหล่านี้มีใยอาหารซึ่งอาจช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาล จึงลดระดับน้ำตาลในเลือดและคอเลสเตอรอลได้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงและน้ำตาลสูง เช่น ของทอด น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื้อสัตว์ติดมัน เพราะนอกจากจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เเละโรคเบาหวานแย่ลงเเล้ว ยังทำให้ไขมันในเลือดสูงเป็นผลเสียงระยะยาวต่อสุขภาพ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที หรือ 150 นาที/สัปดาห์ โดยเป็นการออกกำลังกายความเหนื่อยระดับกลาง เช่น เดิน วิ่งเหยาะๆ ปั่นจักรยาน เพราะ นอกจากการออกกำลังกายช่วยทำให้ร่างกายเเข็งเเรงโดยรวมเเล้ว ยังอาจช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลิน ทำให้สามารถจัดการกับน้ำตาลในเลือดได้ดียิ่งขึ้นด้วย