backup og meta

ลูกดิ้น ขณะตั้งครรภ์หมายถึงอะไร และลูกดิ้นแบบไหนที่ควรระวัง

ลูกดิ้น ขณะตั้งครรภ์หมายถึงอะไร และลูกดิ้นแบบไหนที่ควรระวัง

ลูกดิ้น เป็นความเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ทั้งการถีบ การเตะ หรือการบิดตัวไปมา ซึ่งคุณแม่จะเริ่มรู้สึกและสัมผัสอาการลูกดิ้นได้เมื่อตั้งครรภ์ครบประมาณ 18 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งลักษณะการดิ้นและจำนวนการดิ้นในแต่ละครั้ง ก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละครรภ์  คุณแม่ควรนับจำนวนครั้งที่ลูกดิ้น และสังเกตลักษณะการดิ้น เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้คุณแม่รับรู้ถึงภาวะสุขภาพและการมีชีวิตอยู่ของลูกน้อย 

[embed-health-tool-due-date]

ลูกดิ้น ขณะตั้งครรภ์เป็นอย่างไร

ขณะที่การตั้งครรภ์ค่อย ๆ ดำเนินไป ขนาดครรภ์ขอบคุณแม่ก็จะค่อย ๆ ใหญ่ขึ้น ทารกในครรภ์เองก็จะค่อย ๆ มีพัฒนาการตามขนาดตัวที่โตขึ้นไปด้วยเช่นกัน เมื่อถึงระยะหนึ่งทารกในครรภ์จะเริ่มขยับตัวไปมา จนคุณแม่สัมผัสได้ถึงการเคลื่อนไหวภายในท้อง มีความรู้สึกคล้ายแรงกระพือปีกเล็ก ๆ

ยิ่งขนาดครรภ์โตมากขึ้น คุณแม่ก็จะสัมผัสได้ถึงแรงถีบ แรงเตะของทารกในครรภ์มากยิ่งขึ้นไปด้วย ลักษณะอาการเช่นนี้ เรียกว่า “ลูกดิ้น” หรืออาจเรียกว่า ลูกเตะ หรือลูกถีบ นั่นเอง คุณแม่ท้องแรกมักจะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นเมื่อมีอายุครรภ์ได้ 18 สัปดาห์ขึ้นไป หรืออย่างเร็วที่สุดคือเมื่อมีอายุครรภ์ได้ 16 สัปดาห์ อาจมีคุณแม่บางคนที่สัมผัสอาการลูกดิ้นได้เร็วกว่านั้น โดยเฉพาะคุณแม่ที่เคยตั้งครรภ์มาก่อน 

ลูกดิ้น สำคัญอย่างไร

เวลาลูกดิ้น บางครั้งอาจจะก่อให้เกิดความไม่สบายตัวของคุณแม่ แต่ลูกดิ้นนับเป็นสัญญาณที่ดีสะท้อนภาวะสุขภาพที่แข็งแรง และช่วยให้คุณแม่และคนรอบข้างรับรู้การเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ว่ายังมีสุขภาพแข็งแรงและยังหายใจเป็นปกติดี 

หากทารกในครรภ์ไม่ค่อยดิ้น ดิ้นน้อย หรือดิ้นน้อยลงกว่าทุกวัน อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความผิดปกติ ทารกอาจจะไม่สบาย หรือมีภาวะเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่จำเป็นจะต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจากคุณหมอ

ทารกในครรภ์ควรดิ้นบ่อยแค่ไหน

โดยปกติแล้ว ยังไม่มีมาตรวัดอัตราการดิ้นของทารกในครรภ์อย่างเป็นทางการว่าควรจะดิ้นกี่ครั้งต่อวัน เนื่องจากการดิ้นของทารกในครรภ์แต่ละครรภ์จะแตกต่างกันไป บางครรภ์ทารกอาจจะดิ้นตลอดทั้งวัน ในขณะที่บางครรภ์อาจจะดิ้นเป็นช่วง ๆ และไม่ใช่ทุกครั้งที่คุณแม่จะสัมผัสได้ถึงการดิ้นของทารก เพราะทารกมักจะดิ้นในช่วงที่คุณแม่หลับ จึงทำให้ไม่รู้สึกตัว หรือบางครั้งเมื่อคุณแม่ตื่นก็อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ทารกในครรภ์นอนหลับ ซึ่งทารกในครรภ์จะนอนหลับประมาณ 20-40 นาที บางครั้งอาจนานถึง 90 นาที ช่วงเวลาที่ทารกกำลังหลับอยู่นี้ก็อาจจะทำให้ยากต่อการรับรู้ถึงการดิ้น วิธีนับจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นแบบคร่าว ๆ อาจทำได้โดย

  1. นับการดิ้นในทุก ๆ 1 ชั่วโมง ไม่ควรน้อยกว่า 4 ครั้ง
  2. บางรายอาจนับจำนวนครั้งที่ลูกดิ้น หลังมื้ออาหาร 3 มื้อ โดยนับหลังจากรับประทานอาหารไปแล้ว 1 ชั่วโมง ซึ่งเป็นช่วงที่คุณแม่จะสัมผัสอาการลูกดิ้นได้มากกว่าช่วงอื่น ๆ
  3. ไม่กำหนดช่วงเวลา แต่นับรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 10 ครั้งใน 1 วัน  ปกติแล้วจะนับได้ภายใน 4 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีอายุครรภ์ได้ 16 หรือ 18 สัปดาห์ และเริ่มสัมผัสได้ถึงการดิ้นของทารกในครรภ์เป็นครั้งแรก หลังจากนั้นก็จะรู้สึกถึงแรงดิ้น แรงถีบ แรงเตะได้มากขึ้นและบ่อยขึ้นจนกว่าจะถึงกำหนดคลอด แต่เมื่อมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 36 สัปดาห์เป็นต้นไป อาจรู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลง ไม่ดิ้นตลอดเวลาหรือแรงแบบก่อนหน้า เพราะเมื่อทารกในครรภ์โตขึ้น พื้นที่ในการดิ้นก็ค่อย ๆ ลดลง ทำให้จำนวนครั้งในการดิ้นของทารกลดลงไปด้วย แต่ยังคงต้องนับการดิ้นของลูกน้อยอยู่เช่นเดิม

ทารกในครรภ์ดิ้น อย่างไรบ้าง

กระพือปีก

เมื่ออายุครรภ์ได้ 18-22 สัปดาห์ คุณแม่จะเริ่มรู้สึกได้ถึงแรงดิ้นของทารกในครรภ์ แต่ในระยะนี้จะเป็นเพียงการเคลื่อนไหวเล็ก ๆ ที่ให้ความรู้สึกเหมือนผีเสื้อกำลังกระพือปีก หรือบางคนอาจรู้สึกเหมือนมีฟองอากาศเด้งอยู่ภายในท้อง

สะอึก

เมื่อย่างเข้าสัปดาห์ที่ 24 ทารกในครรภ์จะเริ่มมีอาการสะอึก ซึ่งอาการสะอึกของทารกที่อยู่ในครรภ์นั้นเป็นเรื่องปกติและถือว่าเป็นสัญญาณของการมีสุขภาพที่ดี คุณแม่จะรู้สึกได้ถึงการเต้นตุบ ๆ ภายในท้อง โดยอาจจะสัมผัสถึงแรงกระตุกได้แค่วันละครั้ง หรือบางรายอาจจะสัมผัสได้วันละหลายครั้ง

เตะ บิด หมุนตัว

เมื่ออายุครรภ์ก้าวเข้าสู่สัปดาห์ที่ 26 หรือบางครั้งอาจเริ่มรู้สึกตั้งแต่สัปดาห์ที่ 22 ช่วงเวลานี้ คุณแม่จะสัมผัสได้ว่าทารกในครรภ์เริ่มมีการเตะ เริ่มบิดตัว เริ่มหมุนไปมา หรืออาจจะกระตุกมากขึ้นวันละหลายครั้ง 

  • พอเข้าสัปดาห์ที่ 28 จะรู้สึกได้ว่าทารกเริ่มขยับตัวได้ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า หรือมีการตะแคงตัว 
  • เข้าสู่สัปดาห์ที่ 30-32 ทารกจะเตะมากขึ้น บางช่วงเวลาอาจจะเตะมากกว่าปกติ
  • เมื่อถึงสัปดาห์ที่ 36-40 คุณแม่จะเริ่มรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวได้น้อยลง เนื่องจากทารกมีขนาดตัวเพิ่มขึ้น ทำให้พื้นที่ในการขยับตัวเหลือน้อย จึงดิ้นไม่ได้มากเหมือนก่อน แต่ยังคงสัมผัสได้ถึงการดิ้นอยู่ และอย่าลืมนับจำนวนการดิ้นไว้เสมอในทุกวัน

เมื่อใดควรไปพบคุณหมอ

โดยปกติแล้วคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีกำหนดเข้าพบกับคุณหมออยู่เป็นระยะ แต่เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกว่า ลูกดิ้นน้อยกว่าปกติที่เคยเป็นมา โดยที่อายุครรภ์ไม่ได้อยู่ระหว่าง 36-40 สัปดาห์  รวมทั้งอาการที่ทารกดิ้นแรงผิดปกติแล้วหยุดดิ้น หรือรู้สึกว่าทารกในครรภ์หยุดดิ้น ไม่เคลื่อนไหว ควรรีบไปพบคุณหมอโดยด่วน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Fetal Movement Counting. https://www.stanfordchildrens.org/en/topic/default?id=fetal-movement-counting-90-P02449. Accessed June 15, 2022.

Baby movements in pregnancy. https://www.tommys.org/pregnancy-information/pregnancy-symptom-checker/baby-fetal-movements. Accessed June 15, 2022.

Your baby’s movements. https://www.nhs.uk/pregnancy/keeping-well/your-babys-movements/. Accessed June 15, 2022.

Your Baby’s Movements During Pregnancy. https://www.mottchildren.org/health-library/aby3689. Accessed June 15, 2022.

Baby movements during pregnancy. https://www.pregnancybirthbaby.org.au/baby-movements-during-pregnancy. Accessed June 15, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

15/06/2022

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผลไม้สำหรับคนท้อง ดีต่อคุณแม่ มีประโยชน์ต่อทารก

วิธีดูแลสุขภาพที่ช่วยให้ ลูกในท้องแข็งแรง สุขภาพดี


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 15/06/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา