การคลอดลูก มีทั้งรูปแบบการคลอดธรรมชาติและการผ่าตัด การคลอดธรรมชาติเป็นรูปแบบการคลอดโดยพื้นฐานที่คุณหมอมักแนะนำส่วนการผ่าคลอดเหมาะกับมารดาที่ไม่สามารถคลอดธรรมชาติเองได้ หรือต้องการผ่าคลอดตามฤกษ์ หรือมีปัญหาขณะคลอด เช่น ทารกในครรภ์ไม่ยอมกลับหัว ปากมดลูกไม่เปิดกว้างมากพอที่จะคลอดทารก รวมถึงคุณแม่ที่มีภาวะที่อาจถ่ายทอดไปสู่ลูกได้ เช่น เอชไอวี การติดเชื้อช่องคลอด คุณหมออาจเป็นผู้กำหนดวิธีการคลอดที่เหมาะสมโดยพิจารณาจากสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์เป็นหลัก
[embed-health-tool-due-date]
การคลอดลูก มีกี่วิธี
การคลอดลูก มี 2 วิธีด้วยกัน ดังนี้
1. การผ่าคลอด
เป็นวิธีการคลอดที่เหมาะสำหรับคุณแม่ที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปากมดลูกขยายไม่เพียงพอ ทารกไม่กลับหัวเมื่อถึงกำหนดคลอด รกเกาะต่ำ โดยมีขั้นตอนเริ่มจากการทำความสะอาดหน้าท้อง กำจัดขนบริเวณหน้าท้องที่จะทำการผ่าตัดเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และใส่สายสวนเข้าไปทางกระเพาะปัสสาวะเพื่อระบายปัสสาวะออก ส่วนมากจะผ่าตัดภายใต้การบล็อกสันหลังเพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดระหว่างการผ่าตัด และหลังผ่าตัด หรือในบางกรณีจะทำการดมยาสลบเพื่อทำการผ่าตัด จากนั้นคุณหมอจะใช้มีดผ่าตัดกรีดตั้งแต่สะดือลงมาเป็นเส้นตรง หรือกรีดเป็นแนวยาวบริเวณท้องน้อย เมื่อนำตัวทารกออกจากครรภ์มารดาแล้วก็จะทำการเย็บปิดแผล
2. การคลอดลูกแบบธรรมชาติ
คือการคลอดลูกทางช่องคลอด อาจจะมีการใช้หัตถการในการช่วยคลอดบางอย่าง เช่น คีม เครื่องดูดสุญญากาศ อาจจะมีการให้ยาแก้ปวดทางเส้นเลือดดำ หรือบล็อกหลังในบางกรณี และจะใช้วิธีการกำหนดลมหายใจให้เป็นจังหวะ เพื่อช่วยเพิ่มแรงในการเบ่งทารก การคลอดลูกแบบธรรมชาติอาจใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงหรือนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับสภาวะสุขภาพของคุณแม่ นอกจากนี้ การคลอดลูกแบบธรรมชาติมีหลายเทคนิคด้วยกัน เช่น การคลอดลูกในอ่างน้ำ การคลอดแบบเทคนิคอเล็กซานเดอร์ (Alexander Technique) ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนท่าทางเพื่อลดความตึงเครียดไม่ว่าจะเป็นท่านั่งอ่านหนังสือ เดิน และการคลอดด้วยเทคนิค The Bradley Method ที่คุณหมออาจให้คู่รักมีส่วนร่วมในการให้กำลังใจที่ อาจช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย และช่วยลดการบาดเจ็บได้
การคลอดลูกแบบธรรมชาติ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
- ระยะที่ 1 เป็นระยะหดตัวและขยายตัวของมดลูก โดยมดลูกจะมีการหดและขยายตัวอย่างต่อเนื่องทุก ๆ 3-10 นาที จนกว่าปากมดลูกจะขยายตัวถึง 10 เซนติเมตร หรือกว้างพอที่ศีรษะของทารกจะผ่านได้ ซึ่งในช่วงระหว่างที่มดลูกกำลังขยายตัว อาจทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บปวดมาก บางคนอาจมีสารคัดหลั่งสีใส หรือมีเลือดออกมาเล็กน้อย ในระหว่างที่รอปากมดลูกขยายตัว คุณแม่สามารถบรรเทาอาการปวดและผ่อนคลายอารมณ์ได้ด้วยการเปิดฟังเพลงสบาย ๆ อาบน้ำ หรือลุกขึ้นเดิน
- ระยะที่ 2 คือ ระยะเตรียมพร้อมคลอด เมื่อปากมดลูกขยายถึง 10 เซนติเมตร คุณหมอจะเริ่มให้คุณแม่กำหนดลมหายใจเข้า-ออก และออกแรงเบ่งทารก ซึ่งอาจใช้ระยะเวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง
- ระยะที่ 3 เป็นระยะหลังจากคลอด โดยคุณหมอจะทำความสะอาดทารก ทำแผลบริเวณปากช่องคลอด และนวดหน้าท้องของคุณแม่ เพื่อช่วยขจัดรกที่ตกค้างออกทำให้เลือดไหลน้อยลง และลดความเสี่ยงในการตกเลือด
ความเสี่ยงที่อาจเกิดระหว่างการคลอดลูก
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการคลอดลูก อาจมีดังนี้
- ตกเลือด เป็นภาวะที่เลือดออกทางช่องคลอดในปริมาณมาก ปกติแล้วมดลูกจะหดตัวเพื่อขจัดรกออกมาจากช่องคลอด แต่หากมดลูกไม่หดตัว เลือดที่ตกค้างอยู่ในบริเวณรกจะไหลออกปริมาณมาก นำไปสู่การตกเลือด ซึ่งอาจส่งให้ความดันโลหิตต่ำ อัตราการเต้นหัวใจเต้นผิดปกติ ช่องคลอดบวม เจ็บช่องคลอด เสี่ยงต่ออาการช็อก และเสียชีวิต
- การติดเชื้อ อาจพบได้มากในผู้ที่ผ่าคลอด มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโทคอกคัส (Streptococcus) ที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้น โดยเฉพาะในบริเวณเยื่อบุโพรงมดลูก กล้ามเนื้อมดลูก และบริเวณรอบช่องคลอด
- ลิ่มเลือด ผู้ที่ผ่าคลอดอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหลอดเลือดบริเวณอุ้งเชิงกราน นอกจากนี้ ลิ่มเลือดอาจเคลื่อนที่ไปอุดตันในส่วนอื่น ๆ เช่น ลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด
- การบาดเจ็บจากการผ่าตัด ในกรณีที่ผ่าคลอด คุณแม่หรือทารกอาจอาจเสี่ยงต่อการเกิดบาดแผลเนื่องจากโดนอุปกรณ์ผ่าคลอดบาดระหว่างผ่าตัด ถึงแม้จะเป็นกรณีที่พบได้น้อย แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้
- ปัญหาการหายใจ อาจเกิดขึ้นในทารก สังเกตได้จากทารกหายใจเร็วผิดปกติ หายใจลำบากในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด
การดูแลตัวเองหลังการคลอดลูก
การดูแลตัวเองหลังคลอด มีดังนี้
- พักผ่อนให้มาก ๆ เพื่อฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาแข็งแรง โดยอาจขอความช่วยเหลือจากคนในครอบครัวให้ช่วยสับเปลี่ยนเวรในการดูแลลูกเป็นระยะ ๆ เพื่อป้องกันอาการเหนื่อยล้าจากการที่ต้องตื่นมาดูแลลูกบ่อย ๆ
- รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง ข้าวบาร์เลย์ ผักใบเขียว พืชตระกูลถั่ว ผลไม้ ผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ดี และช่วยให้ฟื้นตัวหลังการคลอดลูกได้ไวขึ้น
- ดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ
- ออกกำลังกายในระดับเบา เช่น การเดิน เพื่อช่วยให้อุ้งเชิงกรานกระชับ เผาผลาญแคลอรี่จากอาหาร และช่วยควบคุมน้ำหนัก
- ในกรณีที่มีเลือดออกทางช่องคลอด ควรสวมใส่ผ้าอนามัยสักระยะหนึ่ง
- งดการมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าแผลคลอดจะหาย เพื่อป้องกันการติดเชื้อหรือแผลเปิด
- คุณแม่ที่รู้สึกคัดเต้านม เจ็บหน้าอก เนื่องจากการสะสมของน้ำนมมาก ควรปั๊มนมเพื่อช่วยระบายน้ำนมออก และควรสวมใส่เสื้อชั้นในแบบสปอตบราไร้โครง เพื่อลดการกดทับหน้าอก
- ควรนำเบาะนุ่ม ๆ รองก้นขณะนั่ง เพื่อบรรเทาอาการบาดเจ็บจากแผลคลอด
- หลังปัสสาวะหรืออุจจาระ ควรล้างทำความสะอาดด้วยน้ำอุ่น
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำตามที่คุณหมอกำหนด หากสังเกตว่ามีไข้ เลือดออกรุนแรง มีอาการเจ็บปวด เบื่ออาหาร เหนื่อยล้า ซึมเศร้า แผลบวม ควรเข้าพบคุณหมอทันที
- รักษาสุขภาพจิตให้ดี พยายามผ่อนคลายความเครียดและความวิตกกังวล เนื่องจากคุณแม่หลังคลอด โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ อาจเสี่ยงต่อภาวะเบบี้บลู หรือภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ที่ทำให้มีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ มากกว่าปกติ โดยอาจหันมาทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ หรืออาจระบายความรู้สึกให้คนรัก คนในครอบครัวทราบ เพื่อร่วมกันหาวิธีแก้ไขปัญหา