backup og meta

ซึมเศร้าหลังคลอด อาการ วิธีรักษาและวิธีป้องกัน

ซึมเศร้าหลังคลอด อาการ วิธีรักษาและวิธีป้องกัน

ซึมเศร้าหลังคลอด เป็นภาวะที่คุณแม่อาจเผชิญในช่วงระหว่างตั้งครรภ์หรือหลังคลอดบุตร อาการที่พบอาจมีตั้งแต่ระดับเบาไปจนถึงขั้นรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจ ทำให้วิตกกังวล หวาดกลัว หรือทำให้เกิดปัญหาในการเลี้ยงลูก การใช้ชีวิตครอบครัว หากคุณแม่หลังคลอดรู้สึกว่าตนเองมีอารมณ์แปรปรวนบ่อยครั้ง ควรปรึกษาคุณหมอทันที เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลตนเองและฟื้นฟูจิตใจที่เหมาะสม

[embed-health-tool-due-date]

ซึมเศร้าหลังคลอด คืออะไร

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด คือ การเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพ อารมณ์ จิตใจ และพฤติกรรมของคุณแม่หลังคลอด ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับคุณแม่มือใหม่ โดยอาจมีสาเหตุมาจากการที่ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนลดลง ส่งผลให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อย หดหู่ นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากการเลี้ยงดูทารกในระยะแรกที่ทำให้คุณแม่นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือความกังวลในการดูแลลูก จนก่อให้เกิดความวิตกกังวล ความเครียด ที่อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า

อาการซึมเศร้าหลังคลอด

ซึมเศร้าหลังคลอด อาจมีอาการแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ดังนี้

  • เบบี้ บลู (Baby Blue) หรือภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด มักเกิดขึ้นภายในระยะเวลาสั้น ๆ ไม่กี่วันหรือประมาณ 2 สัปดาห์หลังคลอด อาจส่งผลให้คุณแม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น
    • หงุดหงิด
    • วิตกกังวล 
    • เศร้า ร้องไห้
    • อารมณ์แปรปรวน
    • มีปัญหาด้านความอยากอาหาร
    • มีปัญหาด้านการนอนหลับ
  • โรคซึมเศร้าหลังคลอด ในระยะแรกอาจสับสนระหว่างภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอดและโรคซึมเศร้าหลังคลอด แต่โรคซึมเศร้าหลังคลอดอาจสังเกตได้จากอาการทางกายและทางจิตใจที่หลากหลาย รุนแรง และคงอยู่นานกว่าภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด ส่วนใหญ่จะมีอาการตั้งแต่ 2 สัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือน และมักส่งผลกระทบต่อการดูแลทารก การใช้ชีวิตประจำวัน บางคนอาจมีอาการตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์นานจนถึงช่วงหลังคลอด โดยโรคซึมเศร้าหลังคลอดอาจมีอาการดังต่อไปนี้
    • อารมณ์แปรปรวนรุนแรง
    • ร้องไห้หนัก 
    • นอนไม่หลับ
    • ความผูกพันกับลูกลดลง
    • เก็บตัวอยู่คนเดียว หนีห่างจากครอบครัว เพื่อน
    • รู้สึกสิ้นหวัง วิตกกังวล ไร้ค่า
    • กลัวว่าจะเป็นแม่ที่ดีไม่ได้
    • เหนื่อยล้า รู้สึกสูญเสียพลังงานมาก
    • มีความคิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย
    • คิดทำร้ายตัวเองหรือลูก
    • ไม่สนใจกิจกรรมที่เคยชื่นชอบ
    • เบื่ออาหาร
    • ไม่มีสมาธิ
  • โรคจิตหลังคลอด เป็นภาวะที่พบได้ยาก มักเกิดขึ้นภายในสัปดาห์แรกหลังคลอด ซึ่งอาจแสดงอาการรุนแรง ดังนี้
    • ประสาทหลอน เช่น เห็นภาพลวงตา ภาพหลอน หูแว่ว
    • พยายามทำร้ายตัวเองหรือลูก
    • หวาดระแวง หรือหวาดกลัว
    • นอนไม่หลับ

หากคุณแม่หลังคลอดรู้สึกหดหู่ อารมณ์ไม่คงที่ อาการซึมเศร้าแย่ลง เป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์หลังคลอด หรือมีความคิดอยากทำร้ายลูก หรือฆ่าตัวตาย ควรเข้าพบคุณหมอทันที เพื่อลดความเสี่ยงที่คุณแม่หรือลูกน้อยจะได้รับอันตรายจนอาจถึงแก่ชีวิต

ซึมเศร้าหลังคลอด รักษาอย่างไร

การรักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับประเภท และระดับอาการที่พบ โดยคุณหมออาจรักษาและแนะนำให้คุณแม่หลังคลอดรับมือกับอาการด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • เบบี้ บลู หรือภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด ภาวะนี้อาจหายไปได้เอง หากคุณแม่พักผ่อนให้เพียงพอ หาเวลาดูแลตัวเอง หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้ยากระตุ้นประสาท เพราะอาจส่งผลให้อารมณ์แปรปรวนมากกว่าเดิม
  • โรคซึมเศร้าหลังคลอด คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยากล่อมประสาทที่สามารถรับประทานได้ระหว่างให้นมบุตร และแนะนำให้พูดคุยกับนักจิตวิทยา เพื่อบำบัดด้านพฤติกรรม ความคิด และร่วมกันหาวิธีรักษาอาการที่คุณแม่กำลังเผชิญ
  • โรคจิตหลังคลอด คุณแม่อาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และรับประทานยาเพื่อควบคุมอาการ เช่น ยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) หากร่างกายไม่ตอบสนองต่อยา อาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive Therapy : ECT) เพื่อกระตุ้นการหลั่งสารเคมีหรือสารสื่อประสาทให้กลับมาเป็นปกติ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการจิตเภทและอาการซึมเศร้าได้

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันซึมเศร้าหลังคลอด

วิธีดูแลตัวเองเหล่านี้ อาจช่วยป้องกันภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้

  • ทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ เช่น ใช้เวลาร่วมกับทารก ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
  • พยายามผ่อนคลาย และไม่กดดันตัวเองเกินไป หากเครียด รู้สึกกดดันมาก หรือต้องการเวลาพักผ่อน ควรขอความช่วยเหลือหรือคำปรึกษาจากคนรอบข้าง
  • ให้คนรักหรือสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวช่วยเลี้ยงลูก จะได้มีเวลาไปทำกิจกรรมที่ตัวเองชื่นชอบ หรือทำกิจกรรมผ่อนคลายบ้าง
  • ไม่ควรแยกตัวออกจากครอบครัวหรือเพื่อน ควรหาเวลาพูดคุยกันหรือทำกิจกรรมร่วมกันให้มาก เพื่อลดความรู้สึกโดดเดี่ยว หดหู่

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Perinatal Depression. https://www.nimh.nih.gov/health/publications/perinatal-depression . Accessed December 17, 2021

Postpartum depression. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/postpartum-depression/symptoms-causes/syc-20376617 . Accessed December 17, 2021

Postpartum depression. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/postpartum-depression/diagnosis-treatment/drc-20376623 . Accessed December 17, 2021

Postpartum Depression. https://www.webmd.com/depression/guide/postpartum-depression . Accessed December 17, 2021

Postnatal depression. https://www.nhs.uk/mental-health/conditions/post-natal-depression/overview/. Accessed December 17, 2021

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

29/08/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารสุขภาพสำหรับคุณแม่หลังคลอด ที่ช่วยบำรุงร่างกายจากภายใน

การนวดหลังคลอด ประโยชน์และข้อควรระวัง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 29/08/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา