backup og meta

คนท้องกินเกลือแร่ได้ไหม และควรดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อท้องเสีย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 27/03/2023

    คนท้องกินเกลือแร่ได้ไหม และควรดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อท้องเสีย

    โดยทั่วไปแล้ว เมื่อเกิดอาการท้องเสีย สามารถรับมือเบื้องต้นได้ด้วยการกินเกลือแร่เพื่อชดเชยพลังงาน น้ำ และแร่ธาตุที่ร่างกายเสียไป แต่หากคนท้องเกิดอาการท้องเสีย ก็อาจสงสัยว่า คนท้องกินเกลือแร่ได้ไหม คำตอบคือ คนท้องสามารถกินเกลือแร่ หรือ โออาร์เอส (ORS หรือ Oral Rehydration Salts) เพื่อทดแทนการสูญเสียเกลือแร่ได้ตามปกติ การกินเกลือแร่จะช่วยให้ร่างกายสามารถรักษาความชุ่มชื้นและป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำที่อาจส่งผลต่อเสียการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายคนท้องและพัฒนาการของเด็กในท้อง นอกจากนี้ คนท้องยังควรดื่มน้ำเยอะ ๆ และพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวโดยเร็ว

    คนท้องกินเกลือแร่ได้ไหม

    เกลือแร่เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย เมื่อท้องเสียอาจทำให้ร่างกายสูญเสียของเหลวและเกลือแร่ในปริมาณมาก ในเบื้องต้นจึงควรดื่มน้ำเยอะ ๆ ร่างกายจะได้มีน้ำเพียงพอให้ระบบต่าง ๆ ทำงานได้เป็นปกติ แต่หากรู้สึกอ่อนเพลียก็ควรกินเกลือแร่เพื่อทดแทนพลังงานที่เสียไปจากอาการท้องเสีย

    สำหรับคำถามที่หลายคนอาจสงสัยว่า คนท้องกินเกลือแร่ได้ไหม เมื่อมีอาการท้องเสียหรืออาเจียน คำตอบคือ คนท้องสามารถกินเกลือแร่ หรือ โออาร์เอส ได้ เนื่องจากเป็นสารทดแทนการสูญเสียเกลือแร่ที่ปลอดภัย ให้ผลลัพธ์รวดเร็ว หาซื้อได้ง่าย และราคาถูก ทั้งยังช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำที่อาจส่งผลให้ร่างกายมีอาการผิดปกติ เช่น ปากแห้ง กระหายน้ำ ถ่ายปัสสาวะน้อย ผิวหนังเย็น ชีพจรเต้นเร็ว และหากเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง อาจกระทบต่อพัฒนาการของเด็กในท้อง ทำให้เด็กมีภาวะหลอดประสาทไม่ปิด (Neural tube defect หรือ NTDs) เด็กคลอดก่อนกำหนด หรือเด็กพิการแต่กำเนิดได้

    ทั้งนี้ คนท้องควรหลีกเลี่ยงยาแก้ท้องเสียบางชนิด เช่น โลเพอราไมด์ (Loperamide) บิสมัท ซับซาลิไซเลต (Bismuth subsalicylate) เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลรับรองว่าสามารถใช้ขณะท้องได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ ยาธาตุน้ำขาวบางยี่ห้อก็มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ คนท้องจึงควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรและอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง

    สาเหตุที่ทำให้คนท้องมีอาการท้องเสีย

    อาการท้องเสียของคนท้องอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • การเปลี่ยนอาหาร คนท้องอาจต้องปรับเปลี่ยนอาหารที่กินกะทันหัน เพื่อให้เด็กในท้องได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต แต่ก็อาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทันจนส่งผลให้ท้องเสียได้
  • ความไวต่ออาหารเปลี่ยนไป คนท้องบางคนอาจมีความไวต่ออาหารบางชนิดมากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการท้องเสียเมื่อกินอาหารที่เคยกินได้ปกติตอนก่อนตั้งท้อง
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน คนท้องมีระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จึงอาจทำให้กระบวนการย่อยอาหารทำงานช้าลงและส่งผลให้ท้องเสียกะทันหันได้
  • การติดเชื้อ คนท้องอาจได้รับเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้มีอาการท้องเสียได้
  • วิธีดูแลตัวเองเมื่อคนท้องท้องเสีย

    การดูแลตัวเองเบื้องต้นเมื่อคนท้องมีอาการท้องเสีย อาจทำได้ดังนี้

    • ควรดื่มน้ำเปล่า น้ำผลไม้ และน้ำซุปเป็นประจำ เพื่อรับของเหลวเข้าสู่ร่างกายและทดแทนอิเล็กโทรไลต์ที่ร่างกายสูญเสียไป โดยควรดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อย 8-12 แก้ว/วัน หรือ 1.9-2.8 ลิตร
    • กินเกลือแร่เพื่อทดแทนพลังงานที่เสียไปได้ โดยผสมเกลือแร่กับน้ำสะอาดในภาชนะสะอาดและไม่ปนเปื้อนตามปริมาณที่แนะนำบนฉลากผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ได้ความเข้มข้นที่เหมาะสม และควรเขย่าจนผงเกลือแร่ละลายน้ำจนหมดจึงค่อยจิบ
    • หากมีอาการอ่อนเพลียควรพักผ่อนให้มาก ๆ เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูตัวเอง
    • กินอาหารรสอ่อน เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ซุปฟักทอง ไข่ตุ๋น
    • หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด รวมไปถึงอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง เพราะอาจทำให้ท้องเสียรุนแรงขึ้น

    วิธีป้องกันอาการท้องเสีย

    วิธีป้องกันอาการท้องเสีย อาจทำได้ดังนี้

    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารข้างทาง กินอาหารที่ปรุงเองในบ้านแบบปรุงสุกทั่วถึง และปรุงเสร็จใหม่ ๆ
    • หลีกเลี่ยงการกินอาหารดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ เช่น หอยนางรมดิบ ปลาร้า ลาบก้อย ปลาดิบ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์จากนมวัวที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ เพราะนอกจากจะเสี่ยงท้องเสียแล้วยังอาจเสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียได้ด้วย
    • หลีกเลี่ยงการกินผลไม้ที่ปอกเปลือกไม่ได้ หรือผลไม้ที่ไม่ได้ปอกเปลือกด้วยตัวเอง เพราะเปลือกผลไม้อาจปนเปื้อนยาฆ่าแมลงหรือมีสารพิษตกค้าง จนทำให้เสี่ยงท้องเสียได้
    • ควรล้างผักและผลไม้ให้สะอาดก่อนนำไปประกอบอาหาร โดยการแช่ผักในน้ำเกลือหรือเบคกิ้งโซดาอย่างน้อย 15 นาทีแล้วล้างน้ำเปล่า 1-2 ครั้ง
    • ล้างภาชนะใส่อาหารและทำความสะอาดพื้นที่ประกอบอาหารให้สะอาดอยู่เสมอ
    • นำอาหารที่กินเหลือไปแช่เย็นทันที และหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่วางทิ้งไว้หรือหมดอายุแล้ว
    • เก็บอาหารที่เน่าเสียง่ายไว้ในตู้เย็นหรือช่องแช่แข็ง
    • หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีสุขอนามัยไม่ดี
    • รักษาสุขอนามัยของตัวเอง เช่น ล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทั้งก่อนกินอาหาร ก่อนทำอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 27/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา