backup og meta

ท้อง1อาทิตย์ตรวจเจอไหม อาการคนท้องเป็นแบบไหน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    ท้อง1อาทิตย์ตรวจเจอไหม อาการคนท้องเป็นแบบไหน

    สำหรับผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันและเสี่ยงท้อง อาจสงสัยว่าหลังมีเพศสัมพันธ์ 1 อาทิตย์จะทราบได้เลยไหมว่าท้อง หรือ หาก ท้อง1อาทิตย์ตรวจเจอไหม และอาการคนท้องมีอะไรบ้าง ในช่วง 1 อาทิตย์หลังจากมีเพศสัมพันธ์ ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่สุดในการตรวจการตั้งครรภ์ เนื่องจากไข่และอสุจิที่ผสมกันและกลายเป็นตัวอ่อนในระยะแรกเพิ่งเริ่มฝังตัวในโพรงมดลูก และยังไม่มีการสร้างฮอร์โมนเข้าไปในกระแสเลือดหรือในปัสสาวะ หรือสร้างฮอร์โมนน้อยมากจนยังตรวจไม่พบ จึงอาจทำให้ผลตรวจครรภ์ออกมาคาดเคลื่อนได้

    แนะนำให้ตรวจการตั้งครรภ์หลังพบว่าประจำเดือนไม่มาประมาณ 1 อาทิตย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีอาการคนท้อง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย อยากอาหารมากขึ้น นอนหลับมากกว่าปกติ ปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดปัสสาวะบ่อย ร่วมด้วย เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำและน่าเชื่อถือที่สุด

    ท้อง1อาทิตย์ตรวจเจอไหม

    คุณแม่ที่ท้องระยะแรก อาจต้องการทราบว่า ท้อง1อาทิตย์ตรวจเจอไหม คำตอบคือ ในระยะนี้ฮอร์โมนการตั้งครรภ์เอชซีจี (Human chorionic gonadotropin หรือ hCG) ที่ผลิตจากรกยังอ่อนอยู่มาก จึงอาจทำให้ไม่สามารถตรวจจับการตั้งครรภ์ได้ โดยทั่วไปจะสามารถตรวจเจอได้เมื่อท้องได้ประมาณ 4 อาทิตย์ หรือ 1 เดือน

    ตรวจตั้งครรภ์ เร็วสุดกี่วัน

    ในบางกรณี คุณแม่บางคนอาจตรวจพบการตั้งครรภ์ได้เร็วสุดประมาณ 10 วันหลังการปฏิสนธิ อย่างไรก็ตาม การตรวจครรภ์เร็วเกินไปก็อาจให้ผลลัพธ์คลาดเคลื่อนได้ และอาจแสดงผลเป็นลบแม้ว่าจะตั้งครรภ์ เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอชซีจียังต่ำเกินไปจนไม่สามารถตรวจจับได้

    การตรวจการตั้งครรภ์เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่รวดเร็วและแม่นยำที่สุด ควรตรวจหลังจากประจำเดือนไม่มาอย่างน้อย 7 วัน ซึ่งเป็นช่วงที่ระดับฮอร์โมนเอชซีจีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเหมาะสมสำหรับการตรวจผลตั้งครรภ์

    อาการคนท้องระยะแรก

    อาการคนท้องระยะแรก อาจมีดังนี้

    • ประจำเดือนไม่มา
    • หน้าอกคัดตึง เจ็บหน้าอก
    • คลื่นไส้ อาเจียน หรือที่เรียกว่า อาการแพ้ท้อง (Morning sickness)
    • ปวดศีรษะ ปวดหลัง
    • วิงเวียนศีรษะ เป็นลม
    • ถ่ายปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ
    • อ่อนเพลียง่าย
    • อารมณ์แปรปรวนหรืออ่อนไหวง่าย
    • ท้องอืด
    • ท้องผูก
    • มีจุดเลือดออกจากช่องคลอด หรือที่เรียกว่า เลือดล้างหน้าเด็ก
    • อยากอาหารมากกว่าปกติ
    • เป็นตะคริว
    • คัดจมูก

    วิธีดูแลตัวเองเมื่อท้องระยะแรก

    วิธีดูแลตัวเองเมื่อท้องระยะแรก อาจทำได้ดังนี้

    • ไปฝากครรภ์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน และควรไปพบคุณหมอตามนัดตรวจครรภ์ทุกครั้ง การฝากครรภ์และการได้รับการดูแลครรภ์อย่างเหมาะสมตลอดการตั้งครรภ์จะช่วยป้องกันและรักษาภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด ช่วยให้คุณแม่และทารกมีสุขภาพแข็งแรงไปจนถึงวันคลอด
    • รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและหลากหลาย เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ผักใบเขียว ผลไม้หวานน้อย ธัญพืชเต็มเมล็ด ปลาที่มีไขมันดี เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน ช่วยให้ร่างกายของคุณแม่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยในการเจริญเติบโตของทารก
    • ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เนื่องจากร่างกายจะผลิตเลือดมากขึ้นเพื่อไปหล่อเลี้ยงครรภ์ หากดื่มน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายอาจทำให้ท้องผูกหรือเกิดภาวะขาดน้ำได้
    • ออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาที/1 อาทิตย์ โดยเลือกการออกกำลังกายแบบแอโรบิคระดับปานกลาง เช่น การเดินเร็ว เต้นแอโรบิกในน้ำ แต่หากเป็นผู้ที่ออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นสูงอยู่แล้ว เช่น วิ่ง กระโดดเชือก ว่ายน้ำเป็นรอบ ๆ ก็อาจทำต่อไปได้ แต่ควรปรึกษาคุณหมอก่อน เมื่อคุณแม่ออกกำลังกายเป็นประจำอาจช่วยป้องกันภาวะน้ำหนักเกิน และลดปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการตั้งครรภ์ เช่น อาการปวดหลัง ท้องผูก และอาจช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
    • ในช่วงแรกคุณแม่อาจรู้สึกอ่อนเพลียและง่วงนอนบ่อย เนื่องจากระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงและกระตุ้นให้ร่างกายต้องการพักผ่อนมากขึ้น คุณแม่ไม่ควรอดนอน ควรนอนหลับอย่างน้อย 8 ชั่วโมง/วัน ทั้งในระหว่างวันและตอนกลางคืน
    • คุณแม่ควรรับประทานกรดโฟลิก ซึ่งเป็นโฟเลตหรือวิตามินบี 9 สังเคราะห์ในปริมาณ 400 ไมโครกรัม หรือ 0.4 มิลลิกรัม เป็นประจำวันทุกวัน ตั้งแต่ก่อนท้อง 3 เดือนไปจนถึงอายุครรภ์ 3 เดือน เพราะกรดโฟลิกเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการแบ่งเซลล์และส่งเสริมพัฒนาการของหลอดประสาทของทารก ทั้งยังช่วยป้องกันความพิการตั้งแต่กำเนิดของทารกได้ด้วย
    • หลีกเลี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์อาจส่งต่อไปยังทารกในครรภ์ผ่านทางรก และส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทำให้เสี่ยงทารกพิการแต่กำเนิด ทารกมีความผิดปกติด้านการเรียนรู้ การพูด การมีสมาธิ ทั้งยังทำให้เสี่ยงแท้งได้ด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา