backup og meta

วิธีสังเกตคนท้องจากภายนอก และอาการคนท้องเริ่มตอนไหน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 13/02/2023

    วิธีสังเกตคนท้องจากภายนอก และอาการคนท้องเริ่มตอนไหน

    วิธีสังเกตคนท้องจากภายนอก อาจทำได้ด้วยการสังเกตขนาดหน้าท้อง ซึ่งมักจะขยายใหญ่ขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือเดือนที่ 4-6 ของการตั้งครรภ์ ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น การแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายปัสสาวะบ่อย ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย อารมณ์แปรปรวน ตามปกติคนท้องมักเริ่มสังเกตว่าเห็นว่าตัวเองท้องได้เนื่องจากประจำเดือนขาด แต่หากเป็นผู้ที่มีประจำเดือนมาไม่ปกติอยู่แล้ว และไม่มีอาการแพ้ท้องอย่างชัดเจน ก็อาจทำให้ไม่เป็นที่สังเกตจนกระทั่งอายุครรภ์เพิ่มมากขึ้นแล้ว

    อาการคนท้องเริ่มตอนไหน

    การตั้งครรภ์จะเริ่มขึ้นประมาณ 2-3 สัปดาห์หลังจากมีเพศสัมพันธ์ โดยอาการที่เป็นสัญญาณของคนท้องอาจเริ่มขึ้นหลังจากไข่ที่ผสมกับอสุจิแล้วฝังตัวเข้ากับที่ผนังมดลูกในสัปดาห์ที่ 3 ของการตั้งครรภ์ (ทางการแพทย์จะนับอายุครรภ์ตั้งแต่วันแรกที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้าย เรียกว่า Last Menstrual Period หรือ LMP) จากนั้นคนท้องจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและทางอารมณ์ ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนเอชซีจี (hCG หรือ Human Chorionic Gonadotropin Hormone) ที่เพิ่มขึ้น ฮอร์โมนนี้เป็นฮอร์โมนที่เซลล์รกผลิตขึ้นเพื่อเตรียมร่างกายเข้าสู่การตั้งครรภ์

    โดยทั่วไป อาการของคนท้องแต่ละคนจะแตกต่างกันไปและอาจมีความรุนแรงของอาการไม่เท่ากัน ทั้งยังอาจต่างไปในการตั้งครรภ์แต่ละครั้งอีกด้วย หลายคนอาจมีอาการคนท้องตั้งแต่สัปดาห์แรก ๆ ในขณะที่บางคนอาจไม่ค่อยมีอาการใด ๆ จึงไม่ทันสังเกตว่าตัวเองท้องจนกระทั่งผ่านไปหลายเดือนแล้ว

    วิธีสังเกตคนท้องจากภายนอก

    อาการคนท้องที่สามารถสังเกตเห็นจากภายนอกได้ชัดเจนที่สุด คือ ขนาดหน้าท้องที่ขยายใหญ่ขึ้น แต่ความเปลี่ยนแปลงนี้จะยังไม่สามารถสังเกตเห็นจากภายนอกได้ในช่วงไตรมาสที่ 1 ระหว่าง 1-13 สัปดาห์ หรือช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เนื่องจากอายุครรภ์ยังน้อยและทารกยังอยู่ในช่วงกำลังพัฒนาระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายและสร้างอวัยวะ ทำให้หน้าท้องของคนท้องจะยังไม่ขยายตัว

    หน้าท้องของคนท้องอาจเริ่มขยายตั้งแต่ 16-20 สัปดาห์ หรือเข้าเดือนที่ 4-6 ซึ่งอยู่ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์เป็นต้นไป ในระยะนี้ทารกในครรภ์จะเจริญเติบโตและขยายตัวใหญ่ขึ้นทำให้มดลูกขยายตัวตามไปด้วย คนท้องหลายคนอาจเริ่มมีหน้าท้องนูนออกมาจนสังเกตได้ แต่คนท้องบางคนก็อาจมีหน้าท้องที่ขยายใหญ่ขึ้นจนมองจากภายนอกได้ชัดตั้งแต่สัปดาห์ที่ 28 เป็นต้นไป หรือเข้าเดือนที่ 7-9 ซึ่งถือเป็นช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์

    วิธีสังเกตคนท้องจากภายนอก อาจทำได้ด้วยการสังเกตขนาดหน้าท้อง โดยทั่วไป จะสังเกตเห็นหน้าท้องของผู้หญิงที่มีรูปร่างเตี้ยได้ง่ายกว่าผู้หญิงสูง และอาจสังเกตหน้าท้องของผู้หญิงรูปร่างผอมได้เร็วกว่าผู้หญิงที่มีรูปร่างอวบอ้วนและมีหน้าท้องอยู่แล้ว นอกจากนี้คนท้องที่เคยมีบุตรมาก่อนแล้วก็อาจเป็นที่สังเกตเห็นได้ง่ายและเร็วกว่าคนที่ไม่เคยท้องมาก่อน เนื่องจากกล้ามเนื้อมดลูกและหน้าท้องเคยยืดตัวมาจากท้องก่อนหน้านี้แล้ว

    อาการอื่น ๆ ที่เป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ อาจมีดังต่อไปนี้

    • หน้าอกคัดตึง ขยายใหญ่ขึ้น
    • มีจุดเลือดออกหรือเลือดล้างหน้าเด็ก
    • อารมณ์แปรปรวน
    • ท้องอืด
    • คลื่นไส้ อาเจียน
    • อยากอาหารมากกว่าปกติ
    • ปวดศีรษะ วิงเวียนศรีษะ
    • อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น
    • ท้องผูก
    • ผิวพรรณเปล่งปลั่ง มีน้ำมีนวลขึ้น หรืออาจเป็นสิว
    • มีกรดไหลย้อน อาหารไม่ย่อย
    • ขาเป็นตะคริว

    คนรอบข้างยังอาจสังเกตได้ว่าคนท้องรับประทานอาหารมากขึ้น เหนื่อยง่าย มีอาการอ่อนเพลียง่าย ซึ่งเกิดจากร่างกายต้องใช้พลังงานมากขึ้นเพื่อช่วยให้ทารกเจริญเติบโตและมีพัฒนาการตามอายุครรภ์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้คนท้องยังมักลุกไปถ่ายปัสสาวะบ่อย เนื่องจากหน้าท้องที่ขยายใหญ่มักไปกดทับกระเพาะปัสสาวะจนทำให้กระเพาะปัสสาวะเต็มเร็ว และเก็บกักปัสสาวะได้น้อยลง

    คนท้องควรดูแลตัวเองอย่างไร

    การดูแลตัวเองด้วยวิธีต่อไปนี้ อาจช่วยให้คนท้องและทารกมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงตลอดการตั้งครรภ์

  • ฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่าท้อง เพื่อให้คุณหมอสามารถติดตามสุขภาพของคุณแม่และทารกได้ตลอดการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือลดความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้ เช่น ภาวะแท้งคุกคาม ภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะเลือดออกก่อนเจ็บท้องคลอด ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด
  • รับประทานกรดโฟลิก ซึ่งเป็นโฟเลตหรือวิตามินบี 9 (Vitamin B9) สังเคราะห์ อย่างน้อย 0.4 มิลลิกรัม/วัน แต่ไม่ควรเกิน 1 มิลลิกรัม/วัน ตั้งแต่ 3 เดือนก่อนการตั้งครรภ์ ไปจนถึง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพื่อช่วยเสริมสร้างกระบวนการสร้างเซลล์ใหม่และป้องกันภาวะพิการตั้งแต่กำเนิดของทารก
  • ควรเตรียมอาหารอย่างระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงการรับสารพิษจากอาหารหรืออาการอาหารเป็นพิษจากอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เลือกอาหารที่สดสะอาด ปรุงสุกเต็มที่และทำใหม่ทุกวัน ซื้อวัตถุดิบประกอบอาหารจากแหล่งวัตถุดิบที่ปนเปื้อนน้อย สะอาด และเชื่อถือได้ ไม่รับประทานอาหารแช่แข็ง อาหารแปรรูป อาหารหมักดอง ปลาดิบ ไข่ดิบ ปลาที่มีสารตะกั่วปนเปื้อนสูงอย่างฉลาม ปลาไทล์ฟิช ปลาอินทรี และควรล้างผักและผลไม้ด้วยการแช่ในน้ำผสมเบกกิ้งโซดาหรือน้ำส้มสายชูประมาณ 10-15 นาที ก่อนล้างออกด้วยน้ำเปล่าจนสะอาด
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เนื่องจากเป็นอันตรายต่อพัฒนาการและสุขภาพของทารก อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การแท้ง การคลอดก่อนกำหนด ทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย โรคปากแหว่งเพดานโหว่
  • จำกัดการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชาเขียว โกโก้ น้ำอัดลม เพื่อไม่ให้ได้รับคาเฟอีนเกิน 200 มิลลิกรัม/วัน เนื่องจากอาจทำให้ทารกตื่นตัวมากเกินไป และทำให้คนท้องมีระดับความดันโลหิตสูงได้
  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ทุกครั้งก่อนทำอาหารและรับประทานอาหาร หลังใช้ห้องน้ำ รวมถึงหลังสัมผัสสิ่งสกปรกหรือพื้นที่สาธารณะที่เสี่ยงมีเชื้อโรคปนเปื้อน
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 13/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา