backup og meta

ขนาดทารกในครรภ์ ในช่วงสัปดาห์ต่าง ๆ เปรียบเทียบกับขนาดผักและผลไม้

ขนาดทารกในครรภ์ ในช่วงสัปดาห์ต่าง ๆ เปรียบเทียบกับขนาดผักและผลไม้

ขนาดทารกในครรภ์ หมายถึง ขนาดตัวของทารกตลอดระยะเวลา 40 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ ซึ่งทารกจะเติบโตขึ้นจากขนาดเล็กเท่าเมล็ดพันธุ์ สู่ขนาดใหญ่เท่าทารกวัยแรกเกิด โดยขนาดของทารกในครรภ์ จะเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งสามารถเปรียบเทียบได้กับขนาดของผัก ผลไม้ และสิ่งรอบตัวต่าง ๆ   เพื่อคุณแม่จะได้เห็นภาพและเข้าใจขนาดของทารกได้ง่ายขึ้น

ขนาดทารกในครรภ์ ในสัปดาห์ต่าง ๆ

ขนาดทารกในครรภ์นั้นค่อย ๆ เติบโตและเปลี่ยนแปลงไปตามอายุครรภ์ของมารดา นอกเหนือจากน้ำหนักตัวและความยาวของทารกแล้วนั้น สามารถเปรียบเทียบให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของผักหรือผลไม้

สัปดาห์ที่ 4 = เมล็ดป๊อบปี้

ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิกับอสุจิแล้ว จะมีลักษณะเป็นทรงกลม ซึ่งเปรียบเทียบให้คุณแม่ตั้งครรภ์เห็นภาพก็คือ จะมีขนาดเหมือนกับเมล็ดป๊อบปี้ ในขั้นตอนนี้เซลล์จะพัฒนามาสู่ระยะที่เกิดการแบ่งเซลล์ออกเป็น 3 ชั้น ซึ่งจะเจริญเติบโตเป็นอวัยวะต่อไป โดยในสัปดาห์นี้ทารกจะมีความยาวประมาณ 0.014-0.04 นิ้ว และมีน้ำหนักน้อยกว่า 0.04 ออนซ์ หรือ 1.13 กรัม

สัปดาห์ที่ 5 = พริกไทยดำตากแห้ง

ขนาดของเซลล์ตัวอ่อนในสัปดาห์ที่ 5 จะคล้ายกับลูกอ๊อด และมีขนาดเท่ากันกับเมล็ดพริกไทยดำตากแห้ง แต่ถ้าจะให้เห็นภาพชัดเจนไปกว่านั้น ขนาดของตัวอ่อนในช่วงเวลานี้จะเปรียบได้กับปุ่มกดรูปหัวใจในอินสตาแกรม ซึ่งในสัปดาห์ที่ 5 จะเป็นการสร้างสมอง ไขสันหลัง หัวใจ และหลอดเลือดของลูกน้อย โดยขนาดความยาวของตัวอ่อน ประมาณ 0.05 นิ้ว ส่วนน้ำหนักของตัวอ่อนจะน้อยกว่า 0.04 ออนซ์

สัปดาห์ที่ 6 = เมล็ดทับทิม

ขนาดของลูกน้อยในครรภ์ จะมีขนาดใหญ่กว่าเติม 3 เท่า และได้รับการป้องกันโดยน้ำคร่ำ ขนาดของลูกในสัปดาห์ที่ 6 เปรียบเทียบได้กับขนาดของเมล็ดทับทิม โดยความยาวของตัวอ่อนประมาณ 1/8 นิ้ว ส่วนน้ำหนักของตัวอ่อนจะน้อยกว่า 0.04 ออนซ์

สัปดาห์ที่ 7 = บลูเบอร์รี่ขนาดเล็ก

ขนาดของทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 7 นั้นเปรียบเทียบได้กับผลบลูเบอร์รี่ขนาดเล็ก ในสัปดาห์นี้ทารกจะเริ่มมีแขน และสำหรับความยาวประมาณ 0.5 นิ้ว ส่วนน้ำหนักของตัวอ่อนจะน้อยกว่า 0.04 ออนซ์

สัปดาห์ที่ 8 = ราสเบอร์รี่

ทารกมักมีขนาดประมาณลูกราสเบอร์รี่ (Raspberry) ในช่วงสัปดาห์ที่ 8 มือและเท้าจะมีนิ้วมือและนิ้วเท้า และสำหรับความยาวของตัวอ่อนประมาณ 0.63 นิ้ว ส่วนน้ำหนักจะน้อยกว่า 0.04 ออนซ์

สัปดาห์ที่ 9 = ผลเชอร์รี่

ในสัปดาห์นี้ทารกจะเปลี่ยนแปลงจากภาวะเอ็มบริโอไปเป็นทารกในครรภ์ ขนาดของทารกเปรียบเทียบได้กับขนาดของผลเชอร์รี่ ระบบทางเดินอาหารและอวัยวะสืบพันธ์จะเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ แต่ยังเร็วเกินไปที่จะบอกเพศของทารก  และในสัปดาห์ที่ 9 ความยาวของตัวอ่อนประมาณ 0.9 นิ้ว ส่วนน้ำหนักของตัวอ่อนจะน้อยกว่า 0.07 ออนซ์ หรือ 1.98 กรัม

สัปดาห์ที่ 10 = ส้มจี๊ด หรือไส้กรอกมินิคอกเทล

ขนาดของ ทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 10 เปรียบได้กับขนาดของส้มจี๊ด หรือขนาดเท่าไส้กรอกมินิคอกเทล โดยตอนนี้ทารกสามารถยืดกระดูกสันหลัง ตาและเปลือกตาได้รับการพัฒนามากขึ้น รวมถึงเริ่มมีขนคิ้ว และความยาวของทารกคือ 1.22 นิ้ว และน้ำหนัก 0.14 ออนซ์ หรือ 3.96 กรัม

สัปดาห์ที่ 11 = ลูกปิงปอง

ขนาดของลูกน้อย เปรียบเทียบได้กับขนาดของลูกปิงปอง หรือลูกฟิก (มะเดื่อฝรั่ง) ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ 11 ไปจนถึงสัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์ น้ำหนักของลูกจะเพิ่มขึ้น 30 เท่าและขนาดความยาวของทารกจะเพิ่มขึ้น 3 เท่า ส่วนในสัปดาห์ที่ 11 ทารกจะมีความยาว 1.61 นิ้ว และน้ำหนัก 0.25 ออนซ์ หรือ 7.08 กรัม

สัปดาห์ที่ 12 = ลูกพลัม หรือโดนัทก้อนกลม ๆ

ทารกในครรภ์มีความยาวเกือบ 3 นิ้วในสัปดาห์นี้ ซึ่งเปรียบเทียบได้กับขนาดของลูกพลัม หรือโดนัทก้อนกลม ๆ ในช่วงสัปดาห์ที่ 12 จะมีเล็บมือ เล็บเท้า และกระดูก รวมถึงมีชั้นของขนปกคลุมทั่วร่าง และความยาวของทารกคือ 2.13 นิ้ว และน้ำหนัก 0.49 ออนซ์ หรือ 13.89 กรัม

สัปดาห์ที่ 13 = เลมอน หรือต้นกระบองเพชรขนาดเล็ก

ทารกในครรภ์ จะมีขนาดเปรียบเทียบได้กับขนาดของเลมอน หรือต้นกระบองเพชรขนาดเล็ก โดยจะมีความยาว 2.91 นิ้ว และน้ำหนัก 0.81 ออนซ์ หรือ 22.96 กรัม และในสัปดาห์ที่ 13 เส้นเสียงของทารกจะพัฒนาขึ้น

สัปดาห์ที่ 14 = ลูกพีช

สัปดาห์ที่ 14 ถือเป็นการเข้าสู่ช่วงที่ 2 ของการตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์จะมีขนาดเปรียบเทียบได้กับลูกพีช โดยจะมีความยาว 3.42 นิ้ว และน้ำหนัก 1.52 ออนซ์ หรือ 43.09 กรัม

สัปดาห์ที่ 15 = ลูกแอปเปิ้ล

ตอนนี้ ทารกในครรภ์ จะมีขนาดเท่าลูกแอปเปิ้ล สมองของทารกจะควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อทั้งหมดในร่างกายทำให้ทารกเริ่มเคลื่อนไหวได้ แต่หากคุณแม่ตั้งครรภ์เพิ่งตั้งครรภ์ครั้งแรกอาจยังไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารก สำหรับทารกในสัปดาห์ที่ 15 จะมีความยาว 3.98 นิ้ว และน้ำหนัก 2.47 ออนซ์ หรือ 70.02 กรัม

สัปดาห์ที่ 16 = ลูกอะโวคาโด

ทารกมีขนาดเปรียบได้กับลูกอะโวคาโด ซึ่งมีความยาว 4.57 นิ้ว และหนัก 3.53 ออนซ์ หรือ 100 กรัม โดยในสัปดาห์นี้ลูกจะสามารถชูกำปั้นหรือแม้แต่ดูดหัวแม่มือได้

สัปดาห์ที่ 17 = หัวหอมใหญ่

ขนาดของทารกในสัปดาห์ที่ 17 เปรียบเทียบได้กับขนาดของหัวหอมใหญ่ หรือความยาว 5.12 และน้ำหนัก 4.94 ออนซ์ หรือ 140 กรัม ลูกน้อยมีอาการสะอึกมาก่อนแต่คุณแม่อาจรู้สึกได้เป็นครั้งแรกในช่วงสัปดาห์นี้

สัปดาห์ที่ 18 = มันเทศ หรือพริกหวาน

ทารกในครรภ์ มีขนาดเทียบเท่ากับขนาดของมันเทศ หรือพริกหวาน (bell pepper) โดยมีขนาดความยาว 5.59 นิ้วและน้ำหนัก 6.70 ออนซ์ หรือ 190 กรัม และตอนนี้ลูกน้อยมีลายนิ้วมือแล้ว

สัปดาห์ที่ 19 = มะม่วง

ขนาดของทารกในสัปดาห์ที่ 19 เปรียบเทียบได้กับขนาดของมะม่วง ซึ่งมีความยาว 6.02 นิ้วและน้ำหนัก 8.47 ออนซ์ หรือ 240 กรัม ในสัปดาห์นี้ขาของลูกจะยาวกว่าแขน

สัปดาห์ที่ 20 = กล้วยหอม

ขนาดของทารกในครรภ์เปรียบเทียบได้กับขนาดของกล้วยหอม ที่มีความยาว 6.46 นิ้วและน้ำหนัก 10.58 ออนซ์ หรือ 300 กรัม ในสัปดาห์นี้ลูกอาจจะมีขนคิ้วบาง ๆ และมีผมขึ้น

สัปดาห์ที่ 21 = แครอท

ทารกในครรภ์ จะมีขนาดเทียบเท่ากับขนาดของแครอท หรือขนาดของขวดซอส ที่มีความยาว 10.51 นิ้ว และตอนนี้ทารกจะมีน้ำหนัก 12.70 ออนซ์ หรือ 360 กรัม ในสัปดาห์ที่ 21 ผิวของลูกจะเริ่มตอบสนองต่อการสัมผัส หากกดไปที่ท้องเบา ๆ ลูกอาจขยับตัวหนีหรือโต้ตอบกลับ

สัปดาห์ที่ 22 = มะละกอ

ขนาดของทารกในครรภ์เปรียบได้กับขนาดของมะละกอ ซึ่งมีความยาว 10.94 นิ้วและทารกมีน้ำหนัก 15.17 ออนซ์ หรือ 430 กรัม ในสัปดาห์ที่ 22 นี้ปอดของลูกจะพัฒนาอย่างรวดเร็ว และทารกจะเริ่มสร้างโปรตีนที่เรียกว่าสารลดแรงตึงผิว (Surfactant) ที่จะช่วยให้ทารกหายใจได้ด้วยตัวเองตอนเกิด

สัปดาห์ที่ 23 = มะเขือยาวสีม่วง

ทารกในครรภ์จะมีขนาดเทียบเท่ากับขนาดของมะเขือยาวสีม่วง ที่มีความยาว 11.38 นิ้วและลูกน้อยจะมีน้ำหนัก 1.10 ปอนด์ หรือ 500 กรัม ในสัปดาห์ที่ 23 นี้สมองและการได้ยินจะพัฒนา และลูกจะเริ่มจำเสียงของมารดาได้

สัปดาห์ที่ 24 = ฝักข้าวโพด

ในสัปดาห์ที่ 24 ลูกน้อยจะมีขนาดเปรียบเทียบได้กับฝักข้าวโพด ซึ่งมีความยาว 11.81 นิ้ว และมีน้ำหนัก 1.32 ปอนด์ หรือ 599 กรัม รูจมูกของทารกจะเปิดเพื่อให้ฝึกการหายใจ ซึ่งการเคลื่อนไหวจะเหมือนกับการหายใจจริง ๆ แต่จะหายใจเข้าโดยมีน้ำคร่ำเข้าไปไม่ใช่อากาศ

สัปดาห์ที่ 25 = ฟักทองลูกเล็ก

ทารกจะมีขนาดเทียบเท่ากับฟักทองลูกเล็ก ที่มีความยาว 13.62 นิ้วและทารกมีน้ำหนัก 1.46 ปอนด์ หรือ 662 กรัม ในสัปดาห์ที่ 25 ลูกอาจพัฒนาการจับสิ่งต่าง ๆ และอาจคว้าสายสะดือ

สัปดาห์ที่ 26 = ขวดน้ำอัดลมขวดเล็ก

ทารกในสัปดาห์ที่ 26 มีขนาดเปรียบเทียบได้กับขนาดของขวดน้ำอัดลมขวดเล็ก ที่มีความยาว 14.02 นิ้ว และน้ำหนักของทารก 1.68 ปอนด์ หรือ 762 กรัม ในสัปดาห์นี้ขนคิ้วและขนตาจะยาว และเิริ่มมีผมบนศีรษะ

สัปดาห์ที่ 27 = กะหล่ำดอก

ลูกน้อยจะมีขนาดเทียบเท่ากับกะหล่ำดอก ซึ่งมีความยาว 14.41 นิ้ว และทารกมีน้ำหนัก 1.93 ปอนด์ หรือ 876 กรัม ในสัปดาห์ที่ 27 ลูกจะสามารถแยกความแตกต่างระหว่างเสียงของคุณพ่อกับคุณแม่ได้

สัปดาห์ที่ 28 = ฟักทอง

ทารกจะมีขนาดเทียบได้กับฟักทอง ที่มีความยาว 14.80 นิ้วและทารกมีน้ำหนัก 2.22 ปอนด์ หรือ 916 กรัม และลูกจะเริ่มลืมตาและกะพริบตาในสัปดาห์ที่ 28 นี้

สัปดาห์ที่ 29 = ฟักทองน้ำเต้า

ทารกในครรภ์ จะมีขนาดเทียบเท่ากับฟักทองน้ำเต้า (Butternut squash) ซึ่งมีความยาว 15.2 นิ้วและทารกมีน้ำหนัก 2.54 ปอนด์ หรือ 1,152 กรัม ในสัปดาห์ที่ 29 นี้ผิวของลูกยังคงย่นแต่มีการเก็บสะสมไขมัน

สัปดาห์ที่ 30 = กะหล่ำปลี

สำหรับสัปดาห์ที่ 30 ลูกน้อยจะมีขนาดเทียบเท่ากับกะหล่ำปลี ที่มีความยาว 15.71 นิ้ว และมีน้ำหนักตัว 2.91 ปอนด์ หรือ 1,320 กรัม ลูกจะมีวงจรการนอนหลับและการตื่นนอนในช่วงสัปดาห์นี้

สัปดาห์ที่ 31 = ลูกมะพร้าว

ทารกในครรภ์จะมีขนาดเทียบได้กับลูกมะพร้าว ซึ่งมีความยาว 16.18 นิ้ว และทารกมีน้ำหนักตัว 3.31 ปอนด์ หรือ 1,501 กรัม และหลังจากสัปดาห์ที่ 31 นี้ลูกจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละครึ่งปอนด์จนกระทั่งเกิด

สัปดาห์ที่ 32 = ผักกาดขาว

ลูกน้อยจะมีขนาดเทียบเท่ากับผักกาดขาว ที่มีความยาว 16.69 นิ้วและทารกมีน้ำหนัก 3.75 ปอนด์ หรือ 1,701 กรัม ซึ่งในสัปดาห์ที่ 32 นี้ตุ่มรับรสของลูกจะพัฒนาในช่วงนี้

สัปดาห์ที่ 33 = สับปะรด

ขนาดทารกในครรภ์ จะเปรียบได้กับขนาดของสับปะรด ซึ่งมีความยาว 17.20 นิ้ว และทารกมีน้ำหนัก 4.23 ปอนด์ หรือ 1,919 กรัม ในสัปดาห์นี้ขนที่ขึ้นมาปกคลุมร่างของทารกจะเริ่มหายไป แต่ยังมีที่ไหล่และที่หลัง

สัปดาห์ที่ 34 = แคนตาลูป

ลูกน้อยจะมีขนาดเทียบได้กับแคนตาลูป ที่มีความยาว 17.72 นิ้วและทารกมีน้ำหนักตัว 4.73 ปอนด์ หรือ 2,145 กรัม กระดูกของลูกจะพัฒนาเต็มที่ในสัปดาห์ที่ 34 นี้ และลูกจะสามารถหันศีรษะได้

สัปดาห์ที่ 35 = แตงไทย

ขนาดของทารกในครรภ์จะเท่ากับขนาดของแตงไทย ซึ่งมีความยาว 18.19 นิ้วและมีน้ำหนักตัว 5.25 ปอนด์ หรือ 2,371 กรัม โดยสัปดาห์ที่ 35 นี้จะเป็นช่วงที่ทารกพลิกตัวลงด้านล่างภายในมดลูก เพื่อเตรียมตัวเกิด

สัปดาห์ที่ 36 = หัวผักกาดโรเมน

ทารกจะมีขนาดเทียบเท่ากับหัวผักกาดโรเมน หรือเทียบได้กับขนาดของหมอนอิง ที่มีความยาว 18.66 นิ้วและทารกมีน้ำหนัก 5.78 ปอนด์ หรือ 2,622 กรัม ในสัปดาห์นี้ผิวลูกจะไม่ย่นแล้ว

สัปดาห์ที่ 37 = เคตเทิลเบล

ในสัปดาห์ที่ 37 ขนาดของทารกในครรภ์ นั้นเปรียบเทียบได้กับเคตเทิลเบล (Kettlebell) หรือดัมเบลลูกตุ้ม ที่มีความยาว 19.13 นิ้ว และมีน้ำหนัก 6.30 ปอนด์ หรือ 2,858 กรัม

สัปดาห์ที่ 38 = กล่องเครื่องมือ

ทารกในครรภ์ จะมีขนาดเปรียบเทียบได้กับขนาดของกล่องเครื่องมือ ที่มีความยาว 19.61 นิ้ว และมีน้ำหนัก 6.80 ปอนด์ หรือ 3,084 กรัม โดยในสัปดาห์ที่ 38 นี้ การพัฒนาการเชื่อมต่อของสมองในช่วงสัปดาห์นี้จะทำให้ลูกสามารถกลืนและนอนหลับสบายขึ้นเมื่อลูกเกิดมา

สัปดาห์ที่ 39 = ลูกบอลชายหาด

ทารกในสัปดาห์นี้มีขนาดเทียบเท่ากับลูกบอลชายหาด ที่มีความยาว 19.96 นิ้ว และมีน้ำหนักตัว 7.25 ปอนด์ หรือ 3,289 กรัม

สัปดาห์ที่ 40-42 = แตงโม

คุณแม่ตั้งครรภ์จะคลอดลูกในช่วงเวลานี้ ขนาดของลูกน้อยอาจเปรียบได้กับขนาดของแตงโม หรือขวดแกลลอนนมสด ลูกน้อยจะมีน้ำหนักตัวประมาณ 7.63-9 ปอนด์ หรือ 3,461-4,082 กรัม และมีความยาว 20.16-21 นิ้ว ซึ่งเป็นขนาดของทารกแรกเกิด

[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Pregnancy Visual Timeline. https://www.webmd.com/baby/interactive-pregnancy-tool-fetal-development. Accessed December 15, 2021.

How big is my baby? Week-by-week fruit and veggie comparisons. https://www.babycenter.com/slideshow-baby-size. Accessed December 15, 2021.

Fetal development. https://medlineplus.gov/ency/article/002398.htm. Accessed December 15, 2021.

Composition and Components of Gestational Weight Gain: Physiology and Metabolism. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK32815/. Accessed December 15, 2021.

Poppy seed to pumpkin: how big is your baby?. https://www.babycentre.co.uk/slideshow-baby-size. Accessed December 15, 2021.

เวอร์ชันปัจจุบัน

15/12/2021

เขียนโดย Sopista Kongchon

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

การเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ ในแต่ละสัปดาห์ ที่คุณแม่ควรรู้

ฝากครรภ์ เรื่องสำคัญสำหรับคุณแม่และลูกในท้องที่ไม่ควรมองข้าม


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 15/12/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา