backup og meta

ผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่กินเนื้อสัตว์ เป็นอันตรายหรือไม่

ผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่กินเนื้อสัตว์ เป็นอันตรายหรือไม่

การกินมังสวิรัติ เป็นรูปแบบการกินอาหารโดยการงดกินเนื้อสัตว์ ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ เช่น การกินมังสวิรัติแบบยังกินไข่และนมอยู่ การกินมังสวิรัติแบบไม่กินผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์เลย ทุกคนสามารถเลือกกินมังสวิรัติได้ แต่หากผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่กินเนื้อสัตว์ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ และอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือปัญหาทารกพิการแต่กำเนิดได้ ดังนั้น ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่กินเนื้อสัตว์จึงอาจต้องรับประทานอาหารเสริมเพื่อชดเชยวิตามินและแร่ธาตุที่ขาดหายไปจากการไม่กินเนื้อสัตว์

[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]

ผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่กินเนื้อสัตว์ เป็นอันตรายหรือไม่

หากผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่กินเนื้อสัตว์ อาจทำให้ได้รับวิตามินไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์ แต่หากผู้หญิงตั้งครรภ์จำเป็นต้องงดกินเนื้อสัตว์ ก็สามารถทำได้แต่จำเป็นต้องได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ ในปริมาณที่ร่างกายต้องการต่อวัน ผู้หญิงตั้งครรภ์จึงควรปรึกษานักโภชนาการหรือปรึกษาคุณหมอ เพื่อวางแผนการกินอาหารในกรณีที่ต้องงดกินเนื้อสัตว์

สารอาหารที่ผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่กินเนื้อสัตว์ควรได้รับ

เนื่องจากการไม่กินเนื้อสัตว์อาจทำให้ขาดสารอาหาร ดังนั้น ผู้หญิงตั้งครรภ์จึงควรบริโภคสารอาหารสำคัญที่ร่างกายต้องการ ดังนี้

วิตามินบี 12

แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 12 คือเนื้อสัตว์ ดังนั้นการงดกินเนื้อสัตว์จึงอาจทำให้ขาดวิตามินบี 12 ซึ่งถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์ขาดวิตามินบี 12 จะส่งผลต่อพัฒนาการทางระบบประสาทของทารก นอกจากนี้องค์กรอนามัยโลกยังกล่าวว่าการมีระดับวิตามินบี 12 ต่ำจะเพิ่มความเสี่ยงของภาวะหลอดประสาทไม่ปิด (neural tube defects) ซึ่งเป็นสาเหตุของการผิดปกติแต่กำเนิดของทารก

สำหรับแหล่งวิตามินบี 12 จากอาหารที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์ ได้แก่

  • อาหารเช้าซีเรียลที่มีการเติมสารอาหาร (เลือกแบบที่มีน้ำตาลน้อย)
  • เครื่องดื่มนมถั่วเหลืองที่มีการเติมสารอาหาร
  • สารสกัดยีสต์ เช่น Marmite
  • วิตามินบี 12 จากแหล่งอาหารที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์มีอย่างจำกัด ดังนั้น ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ จึงอาจต้องได้รับวิตามินบี 12 จากการกินอาหารเสริม

วิตามินดี

ปลาแซลมอน ปลาซาดีน และไข่แดง รวมถึงปลาชนิดอื่นเป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดี นอกจากนี้ยังมีวิตามินดีในนมวัว นมอัลมอนด์ และนมถั่วเหลือง การงดกินเนื้อสัตว์ นม และไข่ อาจทำให้เสี่ยงต่อการขาดวิตามินดีได้ ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพโดยเฉพาะผู้หญิงตั้งครรภ์ วิตามินดีจำเป็นต่อการพัฒนากระดูกของทารก การขาดวิตามินดีจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia)

หากคุณแม่ตั้งครรภ์ ไม่กินเนื้อสัตว์ อาจต้องปรึกษาคุณหมอเรื่องการกินอาหารเสริมวิตามินดี เนื่องจากวิตามินดีที่พบในอาหารมีไม่มาก และยากที่จะได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอจากการกินอาหารเพียงอย่างเดียว จึงควรปรึกษาแพทย์ในกรณีที่จำเป็นต้องงดบริโภคเนื้อสัตว์

แคลเซียม

สำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ที่นอกจากจะ ไม่กินเนื้อสัตว์ แล้ว ยังงดบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนมวัวด้วย อาจส่งผลให้ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงควรต้องได้รับแคลเซียมจากแหล่งอาหารอื่น เนื่องจากในช่วงตั้งครรภ์ แคลเซียมจำเป็นต่อการพัฒนากระดูกและฟันของทารก นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการ American Journal of Epidemiology พบว่าผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีระดับแคลเซียมต่ำสามารถทำให้มีระดับตะกั่วในเลือดสูง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์

สำหรับแหล่งแคลเซียมจากพืช ได้แก่

  • ผักใบเขียว
  • เมล็ดถั่วชนิดต่าง ๆ
  • เครื่องดื่มข้าวโอ๊ต ถั่วเหลือง และข้าวที่มีการเติมสารอาหาร
  • ขนมปัง
  • งา
  • เต้าหู้
  • ผลไม้อบแห้ง
  • มันเทศ

โอเมก้า 3

โอเมก้า 3 ชนิดอีพีแอ (EPA) และดีแอชเอ (DHA) ที่พบในปลาเป็นส่วนใหญ่ ถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาสมองในช่วง 2 ปีแรกของทารก นอกจากนี้การได้รับโอเมก้า 3 อย่างเพียงพอในช่วงตั้งครรภ์จะช่วยลดความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด และช่วยลดความเสี่ยงภาวะครรภ์เป็นพิษ มากไปกว่านั้นโอเมก้า 3 ยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ด้วย ดังนั้น คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรระวังการขาดโอเมก้า 3 ในกรณีที่ ไม่กินเนื้อสัตว์

สำหรับแหล่งโอเมก้า 3 จากพืช ได้แก่ กรดไขมันโอเมก้า 3 ชนิดเอแอลเอ (ALA, Alpha-Linolenic Acid) ซึ่งเป็นโอเมก้า 3 ที่จะได้จากไขมันจากพืช ได้แก่ น้ำมันคาโนลา น้ำมันวอลนัท ถั่ววอลนัท ถั่วเหลือง และเต้าหู้

ธาตุเหล็ก

สารประกอบธาตุเหล็กในร่างกายจะมี 2 กลุ่มได้แก่ ธาตุเหล็กในรูปฮีม (heme iron) และธาตุเหล็กที่ไม่ใช่ฮีม (non-heme iron)  ซึ่งธาตุเหล็กฮีมจะเป็นส่วนประกอบของฮีโมโกลบิน  และพบมากในแหล่งอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ ส่วนธาตุเหล็กที่พบในพืชคือธาตุเหล็กที่ไม่ใช่ฮีม (non-heme iron) หากคุณแม่ตั้งครรภ์ ไม่กินเนื้อสัตว์ อาจได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพของทั้งมารดาและทารกในครรภ์ ดังนั้นหากคุณแม่ตั้งครรภ์จำเป็นต้องงดกินเนื้อสัตว์ ควรได้รับธาตุเหล็กจากแหล่งอาหารอื่น รวมถึงควรกินอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินซี เนื่องจากวิตามินซีจะช่วยดูดซึมธาตุเหล็กได้ดี

แหล่งอาหารจากพืชที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก ได้แก่

  • เมล็ดถั่วชนิดต่าง ๆ
  • ผักใบเขียว
  • ขนมปังโฮลวีต
  • อาหารเช้าซีเรียลที่มีการเติมสารอาหาร
  • ผลไม้อบแห้ง เช่น ลูกพรุน แอพริคอต
  • อาหารที่ทำมาจากถั่วเหลือง

ซิงก์

เนื้อสัตว์และอาหารทะเลเป็นแหล่งอาหารที่มีซิงก์มากที่สุด แต่สามารถได้รับซิงก์จากแหล่งอาหารที่เป็นพืชได้เช่นกัน และสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ต้องการงดกินเนื้อสัตว์ควรระวังการได้รับซิงก์ไม่เพียงพอ เนื่องจากจะส่งผลต่อการพัฒนาของทารกในครรภ์ และเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ ส่วนแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยซิงก์สำหรับผู้ที่ ไม่กินเนื้อสัตว์ ได้แก่ ถั่ว เมล็ดพันธุ์ ข้าวโอ๊ต  ถั่วเหลือง นมถั่วเหลือง และเห็ด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Is a Vegan Diet Safe During Pregnancy?: Vegetarian and Vegan Diets Explained. https://www.webmd.com/food-recipes/guide/vegetarian-and-vegan-diet#2-6. Accessed on October 12, 2018.

Vegetarian and vegan mums-to-be. https://www.nhs.uk/live-well/eat-well/vegetarian-and-vegan-mums-to-be/. Accessed on October 12, 2018.

Is it safe to eat a vegan diet during pregnancy?. https://www.babycenter.com/404_is-it-safe-to-eat-a-vegan-diet-during-pregnancy_1245289.bc. Accessed on October 12, 2018.

Should vitamin B12 status be considered in assessing risk of neural tube defects. https://nyaspubs.onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1111/nyas.13574. Accessed May 31, 2021.

Folic Acid Supplementation and Pregnancy: More Than Just Neural Tube Defect Prevention. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3218540/. Accessed May 31, 2021.

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/03/2022

เขียนโดย Sopista Kongchon

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

คุณแม่ตั้งครรภ์ทำงานบ้าน ได้หรือไม่

อาหารบำรุงครรภ์ ที่คนท้องควรรับประทานมีอะไรบ้าง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 24/03/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา