backup og meta

การเปลี่ยนแปลงเมื่อตั้งท้อง และการดูแลตัวเอง

การเปลี่ยนแปลงเมื่อตั้งท้อง และการดูแลตัวเอง

การเปลี่ยนแปลงเมื่อตั้งท้องสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์อาจมีทั้งทางด้านร่างกายและทางด้านจิตใจที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละไตรมาส ตามระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ซึ่งคุณแม่ควรศึกษาวิธีการดูแลตัวเอง เพื่อช่วยให้สุขภาพร่างกายของคุณแม่และทารกในครรภ์แข็งแรง มีพัฒนาการที่เหมาะสม และช่วยลดความเสี่ยงการเกิดปัญหาแท้งบุตรและคลอดก่อนกำหนด

[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]

การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่ตั้งท้อง

การตั้งท้องแบ่งออกเป็น 3 ไตรมาส ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและจิตใจที่อาจแตกต่างกัน ได้แก่

การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่ตั้งท้องไตรมาสที่ 1

อยู่ในช่วงอายุครรภ์ 1-3 เดือน ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่สังเกตได้ชัดเจน แต่สำหรับบางคนอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีอาการใด ๆ โดยการตั้งท้องไตรมาสแรกนั้น อาจมีการเปลี่ยนแปลงดังนี้

  • เต้านมขยาย เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์ ที่ส่งผลให้หน้าอกขยายใหญ่ และอาจรู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัส ซึ่งอาจบรรเทาอาการได้โดยการสวมชุดชั้นในที่ขนาดใหญ่กว่าเต้านมเล็กน้อยและไม่กดทับเต้านม
  • อ่อนเพลีย คุณแม่อาจรู้สึกอ่อนเพลียกว่าปกติ และอยากพักผ่อนตลอดทั้งวัน เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มการผลิตเลือดและส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารก นอกจากนี้ ยังอาจส่งผลให้อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่ายร่วมด้วย
  • หน้าท้องขยาย คุณแม่อาจมีหน้าท้องหรือรอบเอวที่ขยายจากเดิมเล็กน้อย แต่บางคนก็แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงของขนาดหน้าท้องในช่วงไตรมาสแรกเลย
  • แพ้ท้อง การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ อาจส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ เป็นลม บางคนอาจมีอาการเหม็นอาหารบางอย่างแม้แต่อาหารที่ชื่นชอบ หรืออยากรับประทานอาหารแปลก ๆ อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้อาจบรรเทาลงในช่วงสัปดาห์ที่ 13-14 ของการตั้งครรภ์
  • ปัญหาในระบบย่อยอาหาร การตั้งครรภ์อาจทำให้ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การลำเลียงอาหารภายในลำไส้ช้าลง และอาจทำให้เกิดอาการท้องผูก ท้องอืด อาหารไม่ย่อย มีแก๊สในกระเพาะอาหาร

การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่ตั้งท้องไตรมาสที่ 2

อยู่ในช่วงอายุครรภ์ 4-6 เดือน โดยคุณแม่บางคนอาจยังคงมีการเปลี่ยนแปลงที่ต่อเนื่องมาจากไตรมาสแรก และอาจมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเพิ่มขึ้น ดังนี้

  • รู้สึกอยากอาหารเพิ่มขึ้น
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเจริญเติบโตของทารก ซึ่งอาจทำให้คุณแม่รู้สึกปวดหลังได้
  • สีผิวเปลี่ยนแปลง ที่เกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ที่อาจส่งผลให้สีผิวคล้ำกว่าปกติ โดยเฉพาะบริเวณรักแร้และขาหนีบ
  • หน้าท้องขยายใหญ่มากขึ้น อาจสามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า และอาจรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารก เมื่ออายุครรภ์ได้ประมาณ 20 สัปดาห์
  • ปัสสาวะบ่อยครั้ง เนื่องจากมดลูกที่ขยายตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์อาจกดทับกระเพาะปัสสาวะ
  • มีตกขาว ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ แต่หากตกขาวมีกลิ่นและสีผิดปกติ เช่น สีเขียว เหลือง เทา อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ ควรพบคุณหมอทันที
  • เลือดกำเดาไหล ซึ่งเกิดจากการที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเจอโรนเพิ่มขึ้น จนส่งผลให้การไหลเวียนเลือดเพิ่มขึ้น และอาจทำให้หลอดเลือดฝอยภายในจมูกแตกและมีเลือดกำเดาไหลได้ นอกจากนี้ คุณแม่ตั้งท้องบางคนอาจมีเลือดออกในบริเวณเหงือก เส้นเลือดขอด หรือริดสีดวงทวารร่วมด้วย

การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่ตั้งท้องไตรมาสที่ 3

เป็นการตั้งท้องในช่วงอายุครรภ์ 7-9 เดือน ซึ่งเป็นไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ และอยู่ในช่วงใกล้คลอด ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

  • หน้าท้องขยายใหญ่อย่างเห็นได้ชัด และอาจมีรอยแตกลายบนผิวหน้าท้อง รวมถึงต้นขา เต้านม และก้น
  • ปัสสาวะบ่อยขึ้น เนื่องจากมดลูกที่ขยายใหญ่ไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ
  • อาการบวมน้ำที่ใบหน้า มือ และข้อเท้า
  • ความดันโลหิตลดลง เนื่องจากทารกในท้องอาจกดทับหลอดเลือดใหญ่ที่ส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจ
  • อาจมีอาการตะคริวบ่อยครั้ง
  • มีการผลิตน้ำนม และอาจเริ่มมีน้ำนมไหลออกจากเต้า
  • ผิวแห้ง และอาจมีอาการคัน
  • แรงขับทางเพศอาจลดลง
  • อาการท้องผูก ริดสีดวงทวาร และเส้นเลือดขอดอาจรุนแรงขึ้น
  • การหดตัวและขยายตัวของมดลูก หรืออาการเจ็บท้องหลอก ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเข้าสู่ช่วงใกล้คลอดแล้ว

การเปลี่ยนแปลงของทารกในท้อง

การเปลี่ยนแปลงของทารกในท้องแต่ละไตรมาส มีดังนี้

  • การเปลี่ยนแปลงของทารกไตรมาสที่ 1 อยู่ในช่วงอายุครรภ์ 1-12 สัปดาห์ โดยในช่วงนี้ทารกจะเริ่มพัฒนาร่างกายจากที่มีลักษณะเหมือนถั่วเขียว ก็มีการขยายลำตัวยาวขึ้นตามแต่ละสัปดาห์ และเริ่มสร้างอวัยวะส่วนต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น ศีรษะ ดวงตา จมูก ปาก แขน ขา หู นิ้วมือ นิ้วเท้า หัวใจ ระบบย่อยอาหาร สมอง ท่อประสาท เมื่อใกล้เข้าสู่ช่วงการตั้งท้องไตรมาสที่ 2 ทารกในอาจมีลำตัวยาวประมาณ 61 มิลลิเมตร น้ำหนักประมาณ 14 กรัม พร้อมกับเริ่มสร้างเปลือกตา เล็บมือ กล่องเสียง และอวัยวะสืบพันธุ์
  • การเปลี่ยนแปลงของทารกไตรมาสที่ 2 อยู่ในช่วงอายุครรภ์ 13-27 สัปดาห์ ทารกในครรภ์อาจเริ่มพัฒนาอวัยวะต่าง ๆ ให้มีรูปร่างสมบูรณ์มากขึ้น และอาจเริ่มมีการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อตอบสนองต่อเสียงที่ได้ยินจากภายนอก มีการสร้างขนอ่อนเพื่อปกคลุมทั่วผิวหนัง รวมถึงบริเวณเปลือกตา คิ้ว และหนังศีรษะ และมีรอยย่นตามผิวหนัง ข้อพับ และเปลือกตา เมื่อเข้าสู่ช่วงสัปดาห์ที่ 26-27 ของการตั้งท้อง ทารกอาจมีลำตัวยาวประมาณ 230 มิลลิเมตร น้ำหนักประมาณ 820 กรัม และปอดของทารกจะเริ่มผลิตสารลดแรงตึงผิว (Surfactant) ในถุงลมปอด เพื่อช่วยควบคุมการพองตัวและยุบตัวของถุงลมในปอด
  • การเปลี่ยนแปลงของทารกไตรมาสที่ 3 อยู่ในช่วงอายุครรภ์ 28-40 สัปดาห์ ซึ่งเป็นไตรมาสสุดท้ายของการตั้งท้อง โดยทารกจะมีการเคลื่อนไหวเพื่อตอบสนองต่อสิ่งที่ได้ยินหรือแสงที่เพิ่มขึ้น เมื่อเข้าสู่ช่วงการตั้งท้องสัปดาห์ที่ 38-40 พัฒนาการทางร่างกายของทารกอาจสมบูรณ์เต็มที่ กระดูกภายในร่างกายยกเว้นส่วนกระโหลกศีรษะมีความแข็งแรง พร้อมสำหรับการออกมาสู่โลกภายนอก และเมื่อใกล้กำหนดคลอด ทารกอาจกลับหัวลงมา ให้ศีรษะอยู่บริเวณปากช่องคลอดเพื่อให้สามารถคลอดออกทางช่องคลอดได้ง่าย

การดูแลตัวเองระหว่างตั้งท้อง

การดูแลตัวเองระหว่างตั้งท้อง อาจทำได้ ดังนี้

  • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ 

คุณแม่ตั้งท้องควรรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเน้นเสริมแคลเซียม โฟเลต และเหล็ก เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด เนื้อแดง เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมันต่ำ เพื่อป้องกันการสูญเสียแคลเซียมที่อาจทำให้กระดูกเปราะบาง อีกทั้งยังอาจช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์ เพิ่มการไหลเวียนของเลือด เพื่อช่วยส่งออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเซลล์ในร่างกายและทารกในครรภ์ และช่วยลดความเสี่ยงการเกิดความบกพร่องของท่อประสาท

นอกจากนี้ ยังควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือ น้ำตาล และไขมันสูง เช่น อาหารแปรรูป ชีส อาหารทะเล ไข่ดิบ เนื้อสัตว์ดิบ รวมถึงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงให้ทารกมีพัฒนาการล่าช้า พิการแต่กำเนิด ซึ่งอาจนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนด หรือแท้งบุตรได้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ

คุณแม่ตั้งท้องควรพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อผ่อนคลายความเครียด ความวิตกกังวล และช่วยลดอาการเหนื่อยล้า โดยอาจปรับท่าทางการนอนเพื่อให้สบายตัว และนอนหลับได้สนิทยิ่งขึ้น โดยคุณหมออาจแนะนำให้นอนท่าตะแคงซ้าย เพื่อลดการกดทับหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนดี สำหรับคุณแม่ที่ต้องการนอนหงาย อาจจำเป็นต้องใช้หมอนรองหลัง ระหว่างขา และใต้ท้อง เพื่อลดแรงกดทับ

  • ดื่มน้ำมาก ๆ

คุณแม่ควรดื่มน้ำเปล่าให้มาก ๆ ในระหว่างการตั้งท้อง เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ และอาจช่วยบรรเทาอาการท้องผูก

  • ออกกำลังกาย 

คุณแม่ตั้งท้องควรออกกำลังกายในระดับเบาอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ เช่น ว่ายน้ำ เล่นโยคะ เดิน และควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย เพราะอาจได้รับแรงกระแทกที่ส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ และเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งบุตร

  • หยุดสูบบุหรี่

บุหรี่มีสารนิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ ทำให้ทารกได้รับออกซิเจนลดลง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาระบบทางเดินหายใจ พิการตั้งแต่กำเนิด รกลอกตัว แท้งบุตร พัฒนาการและการเจริญเติบโตล่าช้า

  • ตรวจสุขภาพ

คุณแม่ตั้งท้องควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตามที่คุณหมอกำหนด เพื่อตรวจคัดกรองโรค ตรวจสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคโลหิตจาง โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ความดันโลหิตสูง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทารกพิการแต่กำเนิด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

The First Trimester. https://www.hopkinsmedicine.org/health/wellness-and-prevention/the-first-trimester Accessed May 13, 2022  

The Second Trimester. https://www.hopkinsmedicine.org/health/wellness-and-prevention/the-second-trimester Accessed May 13, 2022  

The Third Trimester. https://www.hopkinsmedicine.org/health/wellness-and-prevention/the-third-trimester Accessed May 13, 2022  

Early Pregnancy Symptoms. https://www.webmd.com/baby/guide/pregnancy-am-i-pregnant Accessed May 13, 2022  

Fetal development: The 1st trimester. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/pregnancy-week-by-week/in-depth/prenatal-care/art-20045302 Accessed May 13, 2022  

Fetal development: The 2st trimester. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/pregnancy-week-by-week/in-depth/fetal-development/art-20046151 Accessed May 13, 2022  

Fetal development: The 3st trimester. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/pregnancy-week-by-week/in-depth/fetal-development/art-20045997 Accessed May 13, 2022  

Prenatal testing: Is it right for you?. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/pregnancy-week-by-week/in-depth/prenatal-testing/art-20045177 Accessed May 13, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/06/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ตั้งครรภ์ แฝด วิธีดูแลตัวเอง และภาวะแทรกซ้อนที่ควรรู้

การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ความเสี่ยงสุขภาพที่อาจพบได้ และวิธีรับมือ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 28/06/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา