backup og meta

ขิง ช่วยลดอาการแพ้ท้องได้จริงหรือ

ขิง ช่วยลดอาการแพ้ท้องได้จริงหรือ

ขิง เป็นเครื่องเทศที่ใช้ในการปรุงอาหารและใช้ทำยา มักนำมาใช้ในการรักษาปัญหากระเพาะอาหารประเภทต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงอาการเมารถ อาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาการเบื่ออาหาร นอกจากนั้น น้ำมันที่ทำจากขิงบางครั้งถูกนำไปใช้กับผิวหนังเพื่อบรรเทาอาการปวด ป้องกันแมลงกัดต่อย นอกจากนั้น ไดแอริลเฮปทานอยด์ (Diarylheptanoids) ซึ่งเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งในขิง ยังใช้เป็นส่วนผสมในยาระบาย ยาลดกรด และยาลดกรดได้อีกด้วย

ต้านอาการคลื่นไส้ด้วยขิง

ขิง เป็นสมุนไพรสารพัดประโยชน์ เพราะทุกส่วนของขิงหนึ่งต้น สามารถช่วยแก้อาการป่วยได้แตกต่างกัน หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ขิงมีประโยชน์ตั้งแต่ต้นยันราก นอกจากนี้ ขิงยังมีรสชาติหวานเผ็ดร้อน ซึ่งเป็นรสชาติที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการความอบอุ่นอีกด้วย  โดยส่วนของขิงที่เรานำมาใช้กัน ทั้งในการประกอบอาหาร และในฐานะของสมุนไพรรักษาโรค ก็คือส่วนที่เรียกว่า เหง้า หรือรากของขิงนั่นเอง และหนึ่งในสรรพคุณสำคัญของขิง คือ แก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน เนื่องจากขิงมีสารสำคัญที่ชื่อว่า ไดแอริลเฮปทานอยด์ (Diarylheptanoids) ซึ่งเป็นสารชีวเคมี ที่มีงานวิจัยพิสูจน์แล้วว่า ช่วยต้านอาการคลื่นไส้อาเจียนอย่างได้ผล

ขิงกับผู้หญิงตั้งครรภ์

จากฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีพบว่า เหง้าขิงช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียนจากอาการแพ้ท้องในหญิงตั้งครรภ์ช่วง 3 เดือนแรกได้จริง โดยจากการศึกษาของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก จำนวน 27 ราย ซึ่งได้รับขิงผงในขนาด 1 กรัมต่อวัน แบ่งให้วันละ 4 ครั้ง รับประทานติดต่อกัน 4 วัน ให้ผลบรรเทาอาการคลื่นไส้ได้ดีกว่ายาหลอก นอกจากนี้ยังมีการศึกษาโดยให้หญิงตั้งครรภ์ไม่เกิน 20 สัปดาห์ จำนวน 120 คน รับประทานสารสกัดขิงขนาด 125 มิลลิกรัม (เทียบเท่าขิงแห้ง 1.5 กรัม) วันละ 4 ครั้ง นาน 4 วัน พบว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัดขิงมีอาการคลื่นไส้ และ retching (การขย้อน) น้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก ส่วนการศึกษาประสิทธิผลของยาน้ำเชื่อมขิง (Ginger Syrup) 1 ช้อนโต๊ะ ผสมในน้ำร้อนหรือน้ำเย็น 4-8 ออนซ์ วันละ 4 ครั้ง พบว่า 67% (8 ใน 12 ราย) ของกลุ่มที่รับประทานยาน้ำเชื่อมขิงหยุดอาเจียนในวันที่ 6 เทียบกับ 20% (2 ใน 10 ราย) ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก

ใช้ได้กับอาการแพ้ท้องในระดับไหน

โดยปกติแล้วอาการแพ้ท้องมี 3 ระดับ คือ น้อย ปานกลาง และมาก ดังนั้น อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ขิงเป็นสมุนไพรใช้รักษาอาการเบื้องต้น จึงสามารถใช้ระงับอาการแพ้ท้องได้ในระดับที่ไม่รุนแรง ไปจนถึงระดับการแพ้ท้องขั้นปานกลาง ส่วนคุณแม่ตั้งครรภ์ที่แพ้ท้องหนักถึงขั้นไม่สามารถรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำได้ ทางออกที่ดีที่สุดคือไปหาหมอและรับการรักษาอาการอย่างถูกวิธี

วิธีใช้ขิงแก้แพ้ท้อง

1. น้ำขิง

  • ใช้เหง้าขิงสด 15 กรัม (จำนวน 5 แง่ง) น้ำเชื่อม 15 กรัม (1 ช้อนโต๊ะ) น้ำเปล่า 240 กรัม (16 ช้อนโต๊ะ)
  • นำขิง ที่เตรียมไว้มาล้างน้ำให้สะอาดแล้วหั่นเป็นแว่น
  • นำขิง ที่หั่นไว้และน้ำเปล่าใส่หม้อตั้งไฟต้มจนเดือดสักครู่
  • ยกลงแล้วกรองเอาขิงออก ใส่น้ำเชื่อมพอประมาณชิมรสตามชอบแล้วจิบได้เรื่อย ๆ เมื่อเริ่มมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน

2. รับประทานสด

สำหรับคุณแม่ที่ไม่ชอบรสชาติเผ็ดร้อนของขิง และไม่สามารถรับประทานขิงสดหรือน้ำขิงได้ สามารถนำขิงมาประกอบเป็นเมนูอาหารคาวอย่างอื่นได้ เช่น หมูผัดขิง หรือสามารถนำมารับประทานเป็นเครื่องเคียงกับโจ๊กร้อน ๆ ได้เช่นกัน

ผลข้างเคียงของขิง

เมื่อใช้ในปริมาณต่ำ ขิงจะมีผลข้างเคียงน้อยมาก แต่หากใช้ในปริมาณสูง หรือมากกว่า 5 กรัม/วัน จะมีโอกาสทำให้เกิดผลข้างเคียงมากขึ้น

  • การรับประทานขิงในปริมาณสูงมาก ๆ อาจเกิดอาการหัวใจเต้นไม่ปกติ เนื่องจากมีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง
  • ขิงยับยั้งการสังเคราะห์ทรอมบอกเซน (Thromboxane) ที่สำคัญในกระบวนการห้ามเลือด จึงควรระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีปัญหาการตกเลือด มีรายงานพบว่าการใช้ขิงในระดับสูง อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการจับตัวของเกล็ดเลือด แต่จะหายไปหลังจากหยุดรับประทานไป 1 อาทิตย์ ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการจับตัวของเกล็ดเลือดควรระมัดระวังในการใช้ขิง
  • ขิงอาจมีปฏิกิริยาต่อยาอย่างเช่น ยาละลายลิ่มเลือด และสำหรับโรคเบาหวาน รวมไปถึงโรคความดันโลหิตสูง ควรปรึกษาหมอก่อนที่จะเริ่มต้นกินขิงเป็นอาหารเสริม
  • ขิงอาจทำให้เกิดการแพ้ได้ มีรายงานว่าน้ำคั้นจากขิงอาจทำให้เกิดอาการผื่นแพ้ได้ และอาจทำให้เกิดพิษที่ผิวหนังเนื่องจากแสง (Phototoxicity) แต่ไม่รุนแรงมากนัก
  • ไม่ควรใช้ในผู้มีปัญหานิ่วในถุงน้ำดี เนื่องจากขิงมีฤทธิ์ขับน้ำดี ในกรณีผู้ป่วยที่มีปัญหาถุงน้ำดี จึงควรระมัดระวังในการใช้และอยู่ในความดูแลของหมอ

[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ขิง. http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=39. Accessed on June 18, 2018

ขิงแก้อาเจียน. http://medplant.mahidol.ac.th/publish/newsletter/arc/201-04.pdf.  Accessed on June 18, 2018

กินขิง…แก้แพ้ท้อง. http://www.songkhlahealth.org/paper/401. Accessed on June 18, 2018

Ginger: Possible Health Benefits and Side Effects. https://www.webmd.com/vitamins-and-supplements/ginger-uses-and-risks#1.

The Benefits of Ginger: Separating Fact From Fiction. https://www.goodrx.com/well-being/supplements-herbs/is-ginger-good-for-health. Accessed December 02, 2021

GINGER. https://www.rxlist.com/ginger/supplements.htm. Accessed December 02, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

23/12/2022

เขียนโดย ชมพูนุช ทรงถาวรทวี

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาการแพ้ท้อง ที่เกิดจากสาเหตุอื่นไม่ใช่เพราะการตั้งครรภ์

แพ้ท้องหนักมาก เกิดขึ้นได้อย่างไร และวิธีรักษาอาการแพ้ท้อง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ชมพูนุช ทรงถาวรทวี · แก้ไขล่าสุด 23/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา