backup og meta

ท้องนอกมดลูก อาการ สาเหตุ การรักษา

ท้องนอกมดลูก อาการ สาเหตุ การรักษา

ท้องนอกมดลูก เป็นภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ โดยตัวอ่อนฝังตัวในเนื้อเยื่อนอกมดลูกบริเวณท่อนำไข่ หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น รังไข่ ช่องท้อง ปากมดลูกซึ่งเชื่อมต่อกับช่องคลอด ทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถพัฒนาเป็นทารกได้ ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่มีภาวะท้องนอกมดลูกมักจะแสดงอาการปวดท้องน้อย หรือมีเลือดออกทางช่องคลอด ในระหว่างสัปดาห์ที่ 4 ถึงสัปดาห์ที่ 12 ของการตั้งครรภ์

[embed-health-tool-due-date]

คำจำกัดความ

ท้องนอกมดลูก คืออะไร

ท้องนอกมดลูก หรือ การรตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic Pregnancy) คือ การที่ ตัวอ่อนฝังตัวอยู่ในเนื้อเยื่อนอกมดลูก รวมถึงเจริญเติบโตนอกมดลูก ส่วนใหญ่อาจพบได้ในท่อนำไข่ ซึ่งเรียกว่า การตั้งครรภ์ที่ท่อนำไข่ ในบางครั้งภาวะท้องนอกมดลูกอาจเกิดขึ้นที่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น รังไข่ ช่องท้อง ปากมดลูกซึ่งเชื่อมต่อกับช่องคลอด ส่งผลให้ตัวอ่อนไม่สามารถพัฒนาเป็นทารกได้ เนื่องจากท่อนำไข่มีขนาดที่ไม่ใหญ่พอและตำแหน่งไม่เหมาะสมที่จะรองรับตัวอ่อนที่จะมีการเจริญเติบโตได้ 

ภาวะท้องนอกมดลูกอาจไม่แสดงอาการใด ๆ ที่สังเกตได้ในระยะเริ่มต้น แต่ผู้หญิงบางรายอาจมีอาการปวดท้อง เลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นในระหว่างสัปดาห์ที่ 4 ถึงสัปดาห์ที่ 12 ของการตั้งครรภ์ โดยปกติแล้วหากตรวจพบว่าท้องนอกมดลูก อาจต้องนำตัวอ่อนออกทันทีด้วยการใช้ยาหรือการผ่าตัด เพราะหากปล่อยไว้อาจส่งผลให้หญิงตั้งครรภ์มีเลือดออกมากจนถึงขั้นเสียชีวิต

หลังการรักษา อาจมีโอกาสในการตั้งครรภ์ลดลง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดภาวะท้องนอกมดลูกและประวัติสุขภาพด้วย  

อาการ

อาการท้องนอกมดลูก

อาการของภาวะท้องนอกมดลูก อาจไม่สามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงแรก ผู้หญิงบางรายที่ท้องนอกมดลูก อาจมีอาการของการตั้งครรภ์ในระยะเริ่มต้นตามปกติ เช่น ประจำเดือนขาด เจ็บเต้านม คลื่นไส้ ดังนั้น อาจเข้ารับการทดสอบการตั้งครรภ์ได้ที่โรงพยาบาล หากผลออกมาว่ามีภาวะท้องนอกมดลูก การตั้งครรภ์อาจต้องยุติลง ภาวะท้องนอกมดลูกอาจแสดงอาการ ดังนี้

การเตือนล่วงหน้าของการท้องนอกมดลูก

สัญญาณเตือนแรกที่อาจพบได้บ่อยของภาวะท้องนอกมดลูก คือ 

  • มีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อย มีสีแดงสดหรือแดงเข้ม คล้ายประจำเดือน
  • ปวดท้องน้อยข้างเดียว หรืออาจปวดท้องน้อยทั้งสองข้าง แต่ปวดมากข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งจะมีอาการปวดตลอดและรุนแรงขึ้น จะอาจจะมีอาการปวดร้าวไปที่ทวารหนัก หรือไหล่ได้
  • ท้องเสีย อาเจียนในกรณีที่มีเลือดออกภายในช่องท้อง

อาการที่เกิดขึ้นอาจขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่มีเลือดสะสม จึงทำให้อาการของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป

อาการฉุกเฉิน

หากไข่ยังเจริญเติบโตอยู่ในท่อนำไข่ อาจส่งผลทำให้ท่อนำไข่แตก และอาจทำให้มีเลือดออกมากในช่องท้อง ซึ่งอาการอาจที่เกิดขึ้น ได้แก่ หน้ามืด เป็นลม ช็อก จนถึงขั้นเสียชีวิต

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

ผู้หญิงที่รู้สึกว่าตนเองอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะท้องนอกมดลูก ควรไปพบคุณหมอทันทีเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์  หากมีข้อกังวลต่าง ๆ เกี่ยวกับภาวะท้องนอกมดลูก ควรปรึกษาคุณหมอ สิ่งสำคัญ คือ ควรตรวจภาวะท้องนอกมดลูกให้พบตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งคุณหมอจะทำการตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด เพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ในมดลูก ซึ่งถ้าหากไม่พบถุงการตั้งครรภ์หรือตัวอ่อนในมดลูก อาจต้องมีการส่งตรวจฮอร์โมนการตั้งครรภ์เพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติม  

หากในระหว่างตั้งครรภ์มีเลือดออก ปวดท้อง หรือมีอาการอื่น ๆ ที่อาจสงสัยว่าเป็นอาการของภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก ควรเข้าพบคุณหมอทันที

สาเหตุ

สาเหตุของท้องนอกมดลูก

ตำแหน่งของการเกิดภาวะท้องนอกมดลูกที่อาจพบได้บ่อย คือ การตั้งครรภ์ที่ท่อนำไข่ นอกจากนั้น  ซึ่งเกิดจากการที่ท่อนำไข่มีปัญหา เช่น ท่อนำไข่แคบ อุดตัน ผิดรูป ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทำให้มีพังผืดบริเวณท่อนำไข่ มีแผลหรือพังผืดจากการผ่าตัด เกิดจากการใช้ยาและฮอร์โมน รวมถึงความไม่สมดุลของฮอร์โมนในกระบวนการตั้งครรภ์ หรือการเจริบเติบโตที่ผิดปกติของตัวอ่อน 

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงท้องนอกมดลูก

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดภาวะท้องนอกมดลูก อาจมีดังนี้

  • สูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ก่อนตั้งครรภ์ อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะท้องนอกมดลูก
  • อายุที่เพิ่มขึ้น ภาวะท้องนอกมดลูกอาจเกิดขึ้นในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ในช่วงอายุ 35-40 ปี
  • เคยผ่าตัดท่อนำไข่ เช่น การผ่าตัดทำหมันหญิงไม่สำเร็จ
  • เคยตั้งครรภ์ท้องนอกมดลูกมาก่อน ซึ่งอาจทำให้การตั้งครรภ์ครั้งนี้เกิดความเสี่ยงในการเกิดภาวะท้องมดลูกประมาณ 10
  • ตั้งครรภ์ในขณะที่ใช้ห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine Device หรือ IUD) หรือห่วงอนามัย (Intrauterine System หรือ IUS) เพื่อการคุมกำเนิด อาจมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะท้องนอกมดลูกในบริเวณที่ใช้ห่วงคุมกำเนิดหรือห่วงอนามัย นอกจากนั้น การทำหมันที่ท่อนำไข่ ซึ่งเป็นวิธีคุมกำเนิดแบบถาวรที่รู้จักกันทั่วไปว่า การผูกท่อ ก็เพิ่มความเสี่ยงได้เช่นกัน หากตั้งครรภ์หลังจากการผูกท่อ
  • ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease หรือ PID) ซึ่งภาวะนี้อาจเกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (STI) หรือเกิดจากการอักเสบของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง
  • การรักษาภาวะมีบุตรยาก (Fertility Treatment) เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว การใช้ยากระตุ้นการตกไข่ อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะท้องนอกมดลูกได้

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยท้องนอกมดลูก

คุณหมออาจการวินิจฉัยภาวะท้องนอกมดลูกด้วยวิธีต่าง ๆ เหล่านี้

  • ตรวจภายใน ประเมินอาการและช่วยในการวินิจฉัยโรค เพื่อหาจุดกดเจ็บ หรือก้อนเนื้อในช่องท้อง
  • การวัดระดับฮอร์โมน HCG (Human Chorionic Gonadotropin) หรือที่เรียกว่า ฮอร์โมนตั้งครรภ์ ด้วยการเจาะเลือดสองรอบ ห่างกัน 48 ชั่วโมง หากระดับฮอร์โมน HCG ที่เพิ่มขึ้นต่ำกว่า 66% อาจเกิดภาวะตั้งครรภ์ผิดปกติ หรืออาจเกิดภาวะท้องนอกมดลูกได้
  • อัลตราซาวด์ เพื่อตรวจว่าภายในโพรงมดลูกมีถุงการตั้งครรภ์หรือทารกในครรภ์ที่กำลังเจริญเติบโตหรือไม่ 
  • การทำ Culdocentesis เป็นการเจาะตรวจเลือดที่ออกภายในช่องท้องทางช่องคลอด ถ้าดูดแล้วได้เลือดอาจบ่งชี้ได้ว่ามีเลือดออกจากท่อนำไข่ที่แตก

การรักษาท้องนอกมดลูก

เนื่องจากตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตนอกมดลูกได้ คุณหมอจึงต้องเอาตัวอ่อนออกเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งคุณหมออาจเลือกใช้วิธีรักษาดังนี้

การใช้ยา

ภาวะท้องนอกมดลูกในระยะแรกโดยที่ยังไม่มีเลือดออก คุณหมออาจรักษาด้วยการฉีดยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) เพื่อหยุดการเจริญเติบโตของตัวอ่อนและทำลายตัวอ่อนที่มีอยู่ ซึ่งการรักษาโดยการใช้ยานี้จะต้องได้รับการวินิจฉัยที่ชัดเจนแล้วว่ามีภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก หลังจากการฉีดยาเมโธเทรกเซท คุณหมอจะให้ทำการวัดระดับฮอร์โมน HCG อีกครั้ง เพื่อพิจารณาว่าการรักษาด้วยวิธีนี้ได้ผลดีหรือไม่ บางครั้งคุณหมออาจให้ยา 2 ครั้ง และอาจจำเป็นต้องผ่าตัดหากวิธีการรักษานี้ไม่ได้ผล 

การรักษาด้วยการฉีดยาเมโธเทรกเซท อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ท่อนำไข่แตกหลังการรักษา ดังนั้น  คุณหมออาจแนะนำให้คุมกำเนิดอย่างน้อยเป็นเวลา 3 เดือน ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยถุงยาอนามัย รวมถึงหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจาก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทันทีหลังจากฉีดยาเมโธเทรกเซทอาจทำลายตับ นอกจากนั้น ยาเมโธเทรกเซทอาจมีผลข้างเคียงอื่น ๆ ดังนี้

  • รู้สึกไม่สบาย
  • วิงเวียนศีรษะ
  • ท้องเสีย
  • ปวดท้อง ซึ่งอาการมักไม่รุนแรงและอาจหายเป็นปกติภายใน 1-2 วัน

การผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic Surgery)

หากภาวะท้องนอกมดลูกเกิดขึ้นที่ท่อนำไข่ คุณหมออาจรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดที่อาจพบได้มากที่สุด คือ การผ่าตัดผ่านกล้อง เพื่อดูบริเวณท่อน้ำไข่ แล้วผ่าตัดเอาตัวอ่อนที่อยู่นอกมดลูกออกก่อนที่จะมีขนาดใหญ่เกินไป โดยการรักษาด้วยวิธีนี้อาจมีขั้นตอนดังนี้

  • คุณหมอวิสัญญีจะใส่ท่อช่วยหายใจและให้ยาสลบ เพื่อทำให้ผู้ป่วยหลับขณะทำการผ่าตัด
  • กรีดหน้าท้องบริเวณช่วงล่างและสะดือ เพื่อให้เกิดแผลเล็ก ๆ ขนาดประมาณ 0.5 – 1 เซนติเมตร
  • สอดท่อส่องกล้อง (Laparoscope) และเครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็กเข้าไปในแผล
  • การผ่าตัดท่อนำไข่ หากท่อนำไข่บริเวณอื่นยังแข็งแรง คุณหมออาจทำการผ่าตัดเอาเฉพาะตัวอ่อนที่ฝังอยู่ออก โดยไม่ต้องผ่าตัดเอาท่อนำไข่ทั้งหมดออก แต่ถ้าท่อนำไข่ดูไม่ปกติ จะทำการผ่าตัดท่อนำไข่ด้านที่มีการฝังตัวของตัวอ่อนผิดปกติออก

การผ่าตัดเอาท่อนำไข่ข้างที่มีตัวอ่อนฝังอยู่ออกเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ก่อนที่จะทำการผ่าตัดเอาท่อนำไข่ออกทั้งหมด คุณหมอจะปรึกษากับผู้ป่วยเพื่ออธิบายขั้นตอนการรักษาและถามความยินยอมเสียก่อน ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่รักษาด้วยวิธีนี้ อาจออกจากโรงพยาบาลได้ภายใน 2-3 วัน แต่อาจต้องใช้เวลา 4-6 สัปดาห์ในการฟื้นตัวเต็มที่ การรักษาด้วยวิธีนี้จะขึ้นอยู่กับปริมาณเลือดที่ออกและความเสียหายของท่อนำไข่  

การผ่าตัดฉุกเฉิน

หากภาวะท้องนอกมดลูกทำให้เลือดออกมาก หรือเกิดภาวะท่อนำไข่แตก คุณหมออาจต้องทำการผ่าตัดฉุกเฉิน โดยคุณหมอจะทำการกรีดหน้าท้องให้ใหญ่ขึ้น (Laparotomy) เพื่อพยายามหยุดเลือดที่ไหล และพยายามซ่อมแซมท่อนำไข่ ในบางกรณีอาจรักษาท่อนำไข่ได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วอาจต้องตัดเอาท่อนำไข่ที่แตกออก

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองที่ช่วยรับมือท้องนอกมดลูก

ยังไม่มีวิธีป้องกันภาวะท้องนอกมดลูก แต่อาจลดความเสี่ยงได้ด้วยวิธีเหล่านี้

  • จำกัดจำนวนคู่นอน
  • สวมถุงยางอนามัยระหว่างมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ และอาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคช่องอุ้งเชิงกรานอักเสบ
  • งดสูบบุหรี่ก่อนมีการตั้งครรภ์

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Ectopic (Extrauterine) Pregnancy. https://www.webmd.com/baby/pregnancy-ectopic-pregnancy#1. Accessed May 11, 2022.

Ectopic pregnancy. https://www.pregnancybirthbaby.org.au/ectopic-pregnancy. Accessed May 11, 2022.

Ectopic Pregnancy. https://kidshealth.org/en/parents/ectopic.html. Accessed May 11, 2022.

Ectopic Pregnancy. https://americanpregnancy.org/healthy-pregnancy/pregnancy-complications/ectopic-pregnancy/. Accessed May 11, 2022.

Ectopic pregnancy. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/ectopic-pregnancy/symptoms-causes/syc-20372088. Accessed May 11, 2022.

Ectopic pregnancy. https://medlineplus.gov/ency/article/000895.htm. Accessed May 11, 2022.

Ectopic pregnancy. https://www.nhs.uk/conditions/ectopic-pregnancy/. Accessed May 11, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2022

เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ท้องนอกมดลูก ปัจจัยเสี่ยง อาการ และการรักษา

เลือดออกขณะตั้งครรภ์ อาการ สาเหตุ การดูแลตัวเอง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 11/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา