อีสุกอีใสขณะตั้งครรภ์ คือการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งในขณะที่กำลังตั้งครรภ์ ซึ่งทำให้หญิงตั้งครรภ์มีไข้ มีตุ่มน้ำที่ทำให้เกิดอาการคัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นอีสุกอีใสในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ อาจทำให้ทารกเมื่อคลอดออกมาเสี่ยงเป็นกลุ่มอาการอีสุกอีใสแต่กำเนิด ซึ่งจะมีอาการตัวลีบ ศีรษะเล็ก ปัญญาอ่อน ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์จำเป็นที่จะต้องหาทางป้องกันและระวังตัวเองให้ปลอดภัยจากโรคอันตรายนี้ หากมีอาการเข้าข่ายโรคอีสุกอีใสขณะตั้งครรภ์ควรรีบไปหาคุณหมอทันที
[embed-health-tool-due-date]
อีสุกอีใส ขณะ ตั้งครรภ์ อันตรายอย่างไร
โรคอีสุกอีใสขณะตั้งครรภ์ เป็นภาวะสุขภาพที่ค่อนข้างอันตราย โดยเฉพาะในช่วงระหว่างสัปดาห์ที่ 8 จนถึงสัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์ โดยปกติ หลังจากที่ร่างกายสัมผัสกับเชื้อโรค หรือรับเชื้อโรคผ่านคนที่มีเชื้อ อาจจะเริ่มมีอาการในช่วงระหว่าง 10 ถึง 21 วัน เริ่มแรก โดยมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น เป็นไข้ หลังจากนั้น จะมีผดผื่นคัน ผดผื่นนี้จะเริ่มปรากฏที่ใบหน้าและหน้าอก แล้วค่อย ๆ แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นในร่างกาย ผดผื่นนี้จะขยายใหญ่ขึ้น และแห้งตกสะเก็ดไป
อย่างไรก็ตาม โรคอีสุกอีใสขณะตั้งครรภ์อาจส่งผลให้ทารกมีโอกาสที่จะเกิดความผิดปกติแต่กำเนิดที่รุนแรง เช่น โรคอีสุกอีใสแต่กำเนิด (congenital varicella syndrome) โดยจะมีอาการแขนขาผิดรูป เป็นแผลเป็นที่ผิวหนัง มีศีรษะเล็กผิดปกติ ติดเชื้อที่ดวงตา มีปัญหาการมองเห็น แขนและขาลีบเล็ก และมีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้
หากเป็นโรคอีสุกอีใสก่อนคลอดบุตรหรือหลังจากคลอดบุตร 2 วัน ทารกอาจจะได้รับเชื้อไวรัส แต่ไม่ได้รับแอนติบอดีจากร่างกายผ่านทางสายรก จึงอาจทำให้เป็นโรคอีสุกอีใสในทารกแรกเกิด ซึ่งเป็นโรคที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
วิธีป้องกันการติดเชื้อ อีสุกอีใสขณะตั้งครรภ์
หากหญิงตั้งครรภ์มีภูมิต้านทานของโรค เช่น เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน หรือได้รับวัคซีนป้องกัน โอกาสเป็นอีสุกอีใสขณะตั้งครรภ์ค่อนข้างต่ำ แต่หากไม่แน่ใจว่าตนเองมีภูมิต้านทานหรือไม่ ควรติดต่อคุณหมอเพื่อขอรับคำแนะนำ โดยปกติคุณหมอมักตรวจเลือดในหญิงตั้งครรภ์ และหากพบว่า ร่างกายไม่มีแอนติบอดี คุณหมอจะแนะนำให้ฉีดสารภูมิต้านทาน (immune globulin) ซึ่งประกอบด้วยแอนติบอดี เพื่อป้องกันโรคอีสุกอีใส หรือลดความรุนแรงของโรค แต่การฉีดยานี้อาจไม่สามารถช่วยปกป้องทารกลูกในครรภ์ได้